คนท้องฉี่กระปิดกระปอยตั้งครรภ์ คนท้องฉี่ไม่สุดขณะตั้งครรภ์

คนท้องฉี่กระปิดกระปอยตั้งครรภ์ คนท้องฉี่ไม่สุดขณะตั้งครรภ์

คู่มือคุณแม่มือใหม่
บทความ
เม.ย. 23, 2025
4นาที

ปัญหาเรื่องฉี่ เป็นอีกปัญหาที่คุณแม่ท้องหลายคนต้องเผชิญ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเจ้าตัวเล็กที่เติบโตขึ้นในท้องคุณแม่ จนไปเบียดบังอวัยวะอื่น ๆ กระเพาะปัสสาวะก็เช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาอย่าง ฉี่บ่อย ฉี่กะปริบกะปรอย บางครั้งก็ฉี่ไม่สุด แล้วอาการฉี่แบบนี้จะเป็นปัญหาไหม หรือเป็นเรื่องปกติของคนท้องกันนะ ในบทความนี้เราหาคำตอบมาให้คุณแล้ว

คนท้องฉี่กระปิดกระปอยตั้งครรภ์ คนท้องฉี่ไม่สุดขณะตั้งครรภ์

สรุป

  • ภาวะปัสสาวะบ่อยมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สามมากกว่าในช่วงไตรมาสที่สองที่มดลูกเคลื่อนตัวสูงขึ้น จึงไม่กดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่มีปัญหาเรื่องปัสสาวะ ที่อาจจะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้
  • หากมีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย เหมือนปัสสาวะไม่สุดร่วมด้วยก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่นั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • แต่หากคุณแม่ปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ก็อาจเกิดการติดเชื้อที่ไต หรือมีภาวะกรวยไตอักเสบได้ ซึ่งโรคนี้ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดหรือทำให้เจ้าตัวเล็กมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คนท้องฉี่ไม่สุด เกิดจากอะไร

เมื่ออายุครรภ์เพิ่ม เจ้าตัวเล็กในท้องก็โตตามไปด้วย และหัวของลูกก็อาจจะไปกดกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดการคั่งค้างและทำให้ฉี่ี่ไม่หมด อีกทั้งฉี่ในช่วงที่คุณแม่ท้องจะมีความเป็นกรดน้อยและเต็มไปด้วยกลูโคส ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบตามมาได้ง่าย

 

คนท้องฉี่ไม่สุด ฉี่กะปริบกะปรอย อันตรายไหม

อาการฉี่ไม่สุดจะว่าเป็นปกติของคนท้องก็ว่าใช่ เพราะไตรมาสแรก และไตรมาสที่สามเจ้าตัวเล็กจะตัวใหญ่ขึ้นจนไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่มีปัญหาเรื่องฉี่ ที่อาจจะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะได้ แต่ถ้ามีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ปวดปัสสาวะบ่อย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะสีขุ่น มีกลิ่นแรง หรือมีเลือดปน นั่นก็อาจจะเป็นสาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

 

คนท้องฉี่ไม่สุด จะมีอาการอย่างไร

คุณแม่กำลังเผชิญกับอาการฉี่ไม่สุดเหล่านี้อยู่หรือเปล่า

  1. อาการปวดฉี่ แต่ฉี่ได้ไม่สุด จำเป็นต้องเบ่ง โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  2. ฉี่บ่อย (มากกว่า 8 ครั้งต่อวัน)
  3. ปวดท้องน้อย หรือปวดหลังร่วมด้วย
  4. ตื่นมาฉี่ช่วงกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง

 

หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับแสบร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย เหมือนปัสสาวะไม่สุด ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่นั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเข้าแล้ว ต้องรีบไปพบแพทย์หรือปรึกษาแพทย์ตอนฝากครรภ์ด้วย

 

คนท้องกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อันตรายกับลูกในครรภ์ไหม

หากได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คุณแม่ก็สามารถหายเป็นปกติได้ภายในเวลาไม่นานนัก แต่หากคุณแม่ปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา ก็อาจเกิดอันตรายอย่างมากกับทั้งตัวคุณแม่เองและเจ้าตัวเล็กได้ เช่น การติดเชื้อที่ไตหรือมีภาวะกรวยไตอักเสบ ซึ่งโรคนี้ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด หรือทำให้เจ้าตัวเล็กมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ รวมถึงเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจส่งผลให้คุณแม่เกิดภาวะไตล้มเหลวได้

 

อาการของคนท้องฉี่ไม่สุด จากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • ปวดฉี่บ่อย ไม่สามารถกลั้นได้
  • ฉี่กะปริบกะปรอย เหมือนฉี่ไม่สุด
  • รู้สึกแสบขณะฉี่
  • ฉี่สีขุ่น มีกลิ่นแรง หรือมีเลือดปน
  • รู้สึกท้องแข็ง เจ็บท้องเหมือนใกล้คลอด ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ช่วงกำหนดคลอด
  • แสบท้องน้อย กดแล้วเจ็บ
  • มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดบั้นเอวด้านหลัง

 

วิธีสังเกตอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบในคนท้อง

ขอบอกคุณแม่ก่อนว่าอาการของโรคนี้จะสังเกตได้ยากหน่อย เพราะส่วนใหญ่เป็นอาการของคนท้องโดยทั่วไป เช่น รู้สึกหน่วงบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ฉี่บ่อย ปวดหลัง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่รู้สึกว่าอาหารเหล่านี้เป็นหนักขึ้นเรื่อย ๆ หรือเป็นนานติดต่อกันหลายวัน โดยไม่มีทีท่าว่าจะหาย และลักษณะของฉี่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ฉี่สีขุ่น มีกลิ่นแรง หรือมีเลือดปน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไปพบแพทย์ค่ะ

 

วิธีป้องกันคนท้องกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  1. ห้ามกลั้นฉี่ ให้ฉี่ทุกครั้งเมื่อปวด และพยายามฉี่ให้สุด
  2. ทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้งเมื่อฉี่เสร็จ ใช้เพียงน้ำเปล่า หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีกรดหรือด่างสูง รวมถึงน้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นด้วย
  3. ห้ามสวนล้างช่องคลอด
  4. หลังถ่ายหนักควรเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียในอุจจาระ
  5. ไม่สวมกางเกงหรือกระโปรงที่รัดแน่นจนเกินไป

 

อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดูแลอย่างไร

คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรรับการฝากครรภ์เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อันรวมไปถึงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยปกติแล้วหากคุณหมอซักอาการแล้วเข้าข่าย คุณหมอจะให้คุณแม่เก็บตัวอย่างฉี่เพื่อไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย หากพบว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จ่ายยาปฏิชีวนะให้คุณแม่กินในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และเจ้าตัวเล็ก เมื่อได้รับยาจนครบระยะการรักษาแล้ว คุณหมอก็จะนัดตรวจอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งอาจให้ยาซ้ำหากยังมีการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะอยู่

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้นป้องกันได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่เราแนะนำไป และถึงแม้จะสังเกตอาการได้ยาก เพราะไม่ต่างจากอาการของคุณแม่ท้องทั่วไป คุณแม่ก็ห้ามประมาท เพราะโรคนี้หากไม่รักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจเกิดผลเสียกับเจ้าตัวเล็กตามมาได้ ดังนั้น กันไว้ย่อมดีกว่ามาตามแก้แน่นอน

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 


อ้างอิง:

  1. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ กลั้นบ่อยระวัง, โรงพยาบาลนครธน
  2. กระเพาะปัสสาวะอักเสบในสตรีมีครรภ์ การรักษาและป้องกัน, POPPAD
  3. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อันตรายต่อคนท้อง รู้ทันป้องกันได้, โรงพยาบาลสินแพทย์
  4. ปวดปัสสาวะไม่สุด, โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  5. ปวดปัสสาวะไม่สุด, โรงพยาบาลสินแพทย์

อ้างอิงเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567