
เด็กมีกลิ่นปาก ลูกมีกลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็น แก้ยังไงดี
ลูกมีกลิ่นปากสามารถพบได้เป็นปกติในช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน แต่หากอาการนี้ยังไม่หายไปหลังจากแปรงฟัน และลูกมีกลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็นผิดปกติไม่หาย เป็นไปได้ว่าลูกน้อยอาจมีปัญหาสุขภาพช่องปากหรือความผิดปกติอื่น ๆ พ่อและแม่ควรต้องช่วยเหลือและพาไปปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด
สรุป
- เมื่อลูกมีกลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็น คุณพ่อคุณแม่สามารถลองตรวจสอบกลิ่นปากให้ลูกที่บ้านเองได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ผ้าก๊อซถูในช่องปาก หรือลองให้ลูกเลียบนฝ่ามือแล้วดมกลิ่น เพื่อเช็กว่าลูกเริ่มมีปัญหากลิ่นปากหรือไม่
- สาเหตุที่ทำให้ลูกมีกลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็นนั้นพบได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากอาหารที่กิน ลูกมีภาวะปากแห้ง ผลข้างเคียงจากยา และโรคอื่น ๆ ที่ทำให้มีกลิ่นปากเหม็นได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ปัญหาสุขภาพช่องปากในเด็ก
- การดูแลกลิ่นปากของลูกสามารถทำได้โดยการหาสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากก่อน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
- การป้องกันการเกิดกลิ่นปากที่ดีที่สุดให้ลูกน้อย คือ การสร้างนิสัยในการดูแลสุขภาพและความสะอาดช่องปากที่ดีให้กับลูกอยู่สม่ำเสมอ โดยพ่อแม่สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ลูกอายุแรกเกิด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เช็กกลิ่นปากของลูกเองที่บ้านได้อย่างไร
- เพราะอะไรลูกจึงมีกลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็น
- ดูแลอย่างไร หากลูกน้อยมีกลิ่นปาก
- สังเกตอาการอย่างไร เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบแพทย์
- ป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกมีกลิ่นปาก
เช็กกลิ่นปากของลูกเองที่บ้านได้อย่างไร
คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็กกลิ่นปากของลูกได้เองที่บ้านอย่างง่าย ด้วยการใช้สำลีหรือผ้าก๊อซสะอาดเช็ดที่พื้นผิวในช่องปากลูก หรือให้ลูกเลียสัมผัสลงที่บริเวณฝ่ามือ ทิ้งไว้ให้แห้ง ประมาณ 10 วินาที แล้วจึงลองดมกลิ่น ถ้าพบกลิ่นเหม็น ต้องเฝ้าระวังและรีบแก้ไขปัญหาให้ได้ตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรง
เพราะอะไรลูกจึงมีกลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็น
การเกิดปัญหากลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็นในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน
เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เช่น ลูกมีฟันผุ มีเศษอาหารติดตามซอกฟัน เหงือก หรือคราบขาวบนลิ้นหลังแปรงฟัน คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากการตรวจสอบว่าลูกแปรงฟันครบวันละ 2 ครั้งหรือไม่ และแปรงฟันถูกวิธีหรือเปล่า
2. อาหาร
การกินอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม หรืออาหารที่มีโปรตีนสูง อาจทำให้ลูกมีกลิ่นปากได้ รวมถึงการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะเศษน้ำตาลที่ติดอยู่ตามซอกฟันจะทำให้ฟันผุ และเศษอาหารจากการกินอาหารแห้งหรืออาหารแข็งก็อาจติดตามซอกฟัน กลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้กับแบคทีเรียในช่องปาก
3. ภาวะปากแห้งจากน้ำลายน้อย (Dry mouth หรือ Xerostomia)
คือ ภาวะที่ทำให้ลูกมีน้ำลายน้อยผิดปกติ โดยอาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อยหรือเกิดจากการหายใจทางปาก ซึ่งจะส่งผลให้ช่องปากมีปริมาณน้ำลายลดลง ทำให้ขาดน้ำลายที่จะช่วยชะล้างเศษอาหาร และทำลายแบคทีเรียในช่องปากไป
4. โรค หรือผลข้างเคียงจากยาและการดูแลโรคอื่น ๆ
เช่น อาการกรดไหลย้อน การติดเชื้อของโพรงไซนัสในจมูก ต่อมทอนซิลอักเสบ และการกินยาเพื่อดูแลโรคบางชนิดที่ทำให้การหลั่งน้ำลายลดลง และทำให้เกิดปัญหากลิ่นปาก เป็นต้น ทั้งนี้หากพ่อแม่สงสัยว่าสาเหตุของปัญหากลิ่นปากมาจากโรคหรือยาที่ลูกรับประทาน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
ดูแลอย่างไร หากลูกน้อยมีกลิ่นปาก
เมื่อลูกน้อยมีปัญหากลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็น ควรมีการดูแลให้ตรงกับสาเหตุของการเกิดปัญหากลิ่นปาก โดยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อให้มั่นใจว่าปัญหาที่พบไม่ได้เกิดจากปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ทั้งนี้ในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดปัญหากลิ่นปากให้ลูกน้อยได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- สอนและช่วยให้ลูกรู้จักดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตัวเอง จากการแปรงฟัน เหงือก และลิ้นอย่างถูกวิธี อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
- จำกัดการกินอาหารและขนมที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคฟันผุ และก่อให้เกิดแบคทีเรียในช่องปาก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้วต่อวัน เพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น และช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำลาย
- พาลูกไปพบทันตแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ โดยสมาคมทันตแพทย์อเมริกัน หรือ ADA แนะนำให้พ่อแม่เริ่มสามารถพาลูกไปพบทันตแพทย์ได้ตั้งแต่มีฟันซี่แรกขึ้น และควรหมั่นพาลูกน้อยไปตรวจสุขภาพฟันทุก ๆ 6 เดือน
สังเกตอาการอย่างไร เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบแพทย์
หากลูกมีกลิ่นปากร่วมกับอาการเหล่านี้ แนะนำให้พาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
- ลูกมีกลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็นอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน
- พบอาการปากแห้ง หรือ อาการของภาวะ Dry mouth
- ลูกมีปัญหาสุขภาพฟันและช่องปาก เช่น ฟันผุ ปวดฟัน เหงือกบวม เป็นต้น
- มีอาการกรดไหลย้อนบ่อย ๆ
- น้ำมูกข้น มีสี
- ต่อมทอนซิลบวม
- กินอาหารและดื่มน้ำลำบาก
- เด็กมีไข้ขึ้น
ป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกมีกลิ่นปาก
การมีสุขภาพช่องปากที่ดี จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการป้องกันปัญหาไม่ให้ลูกมีกลิ่นปากได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยดูแลและฝึกความคุ้นชินให้กับลูกน้อยได้ตั้งแต่อายุแรกเกิด ดังนี้

1. วัยทารก
สุขภาพช่องปากที่ดีของเด็กทารก เริ่มดูแลได้ตั้งแต่ก่อนฟันขึ้น ด้วยการทำให้ลูกคุ้นชินกับการถูและทำความสะอาดเหงือก โดยการใช้ผ้าสะอาดพันปลายนิ้วมือชุบน้ำต้มสุกที่เย็นเช็ดตามเหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และลิ้นวันละ 2 ครั้ง หลังลูกกินอาหารมื้อแรกตอนเช้า และก่อนนอน
2. วัยเด็ก
- อายุ 6 เดือน – 3 ขวบ เป็นช่วงที่เริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรก การแปรงฟันควรใช้แปรงสีฟันเด็กขนนุ่ม ควบคู่กับยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ วางขนแปรงตั้งฉากกับตัวฟันถูแปรงไปมาเบา ๆ และใช้ผ้านุ่มสะอาดเช็ดยาสีฟันออก โดยไม่ต้องบ้วนน้ำออก
- อายุ 3 – 6 ขวบ ช่วงที่ฟันน้ำนมขึ้นครบ 20 ซี่ พ่อแม่ควรเริ่มฝึกให้ลูกแปรงฟันด้วยตัวเอง และแปรงซ้ำให้ลูกทุกครั้งจนถึงอายุ 7 - 8 ขวบ
- อายุ 6 - 12 ขวบ เป็นช่วงที่เริ่มมีฟันผสมทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ ลูกอาจเกิดความไม่สบายช่องปาก ไม่ควรงดแปรงฟัน เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเลือดออกที่เหงือกและมีกลิ่นปากได้ และเมื่ออายุ 8 - 9 ขวบ ลูกควรสามารถแปรงฟันได้เองแล้ว โดยมีพ่อและแม่ดูแลสอนวิธีการแปรงที่ถูกวิธีอย่างใกล้ชิด
จะเห็นได้ว่าปัญหาลูกมีกลิ่นปากแรงลมหายใจเหม็นเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีความสำคัญ เพราะถ้าปล่อยไว้ไม่แก้ไข อาจทำให้ลูกเสียความมั่นใจเวลาไปพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนได้ การสร้างนิสัยให้ลูกสนุกกับการดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเอง ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกต้องพบกับปัญหากลิ่นปากในอนาคตได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
- นิทานเด็กทารกสำคัญกับลูกไหม คุณแม่ควรอ่านเรื่องอะไรให้ลูกน้อยฟังดี
อ้างอิง:
- กลิ่นปากในเด็กและวัยรุ่นกับข้อมูลที่ควรรู้, POBPAD
- Why Would a Toddler Have Bad Breath, WebMD
- Causes of and cures for bad breath in kids, Sprout pediatric dentistry and orthodontics
- Causes of bad breath in children, MedicalNewsToday
- การดูแลสุขภาพช่องปากทุกช่วงวัย, ศูนย์ทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ กรมอนามัย เชียงใหม่
อ้างอิง ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567