
วัคซีนเด็ก 2567 ตารางวัคซีนสำหรับลูกน้อยตามช่วงวัย
ในวัยแรกเกิด ร่างกายของเด็กยังอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมได้ง่าย นอกจากนมแม่ที่เปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติที่ช่วยปกป้องลูกแล้ว การเสริมวัคซีนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค ลดโอกาสการเจ็บป่วย ลดความเสี่ยงต่อความพิการและการเสียชีวิต เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี และเติบโตได้อย่างสมวัย
สรุป
- วัคซีนเด็ก มีความสำคัญต่อสุขภาพของลูก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้ป้องกันโรคติดต่อร้ายแรง ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดไปสู่เด็กคนอื่นและลดผลกระทบที่ร้ายแรงของโรค
- ในปัจจุบันวัคซีนสำหรับเด็กมี 2 ประเภท ได้แก่ วัคซีนพื้นฐาน และ วัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม
- วัคซีนพื้นฐาน คือ วัคซีนที่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เด็กทุกคน ต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นขั้นพื้นฐานให้ครบถ้วน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก
- วัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม เป็นวัคซีนป้องกันโรคที่อยู่นอกเหนือแผนการเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกให้ลูกฉีดวัคซีนเสริมเพิ่มเติมนอกเหนือจากวัคซีนพื้นฐาน หรือไม่ฉีดก็ได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- วัคซีนเด็ก สำคัญกับลูกน้อยอย่างไร
- วัคซีนเด็ก มีกี่ประเภท
- ลูกน้อยไปรับวัคซีนเด็กได้ที่ไหน
- วัคซีนพื้นฐานที่ต้องได้รับตั้งแต่แรกเกิด - 1 ปี
- ตารางวัคซีน 2567
- ลูกได้รับวัคซีนไม่ครบ ต้องเริ่มฉีดนับ 1 ใหม่ไหม
- ผลข้างเคียงของวัคซีนเด็ก มีอะไรบ้าง
วัคซีนเด็ก สำคัญกับลูกน้อยอย่างไร
วัคซีนเด็กแรกเกิด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อในเด็ก วัคซีนเด็ก มีความสำคัญต่อสุขภาพของลูก เนื่องจากช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจำเพาะโรคให้กับร่างกาย ทำให้ป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงบางชนิด ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดและลดผลกระทบที่ร้ายแรงของโรค นอกจากนี้ เมื่อลูกได้รับวัคซีนในการป้องกันโรคแล้ว จะช่วยลดโอกาสที่โรคนั้นจะแพร่ไปสู่เด็กคนอื่น
วัคซีนเด็ก มีกี่ประเภท
การฉีดวัคซีนเด็ก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของลูก เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค วัคซีนอาจผลิตจากเชื้อโรคที่อ่อนฤทธิ์หรือตายแล้ว หรือส่วนประกอบของเชื้อ แล้วนำมาฉีดเพื่อให้ร่างกายของลูกสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบัน มีวัคซีนสำหรับเด็ก 2 ประเภท ได้แก่
วัคซีนพื้นฐาน
วัคซีนพื้นฐาน คือ วัคซีนที่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เด็กไทยทุกคน ต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน ซึ่งเด็กทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด และในทุกช่วงวัยตามที่กำหนดอย่างครบถ้วน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
วัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม
วัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม เช่น วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) เป็นวัคซีนป้องกันโรคที่อยู่นอกเหนือแผนการเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกพิจารณาให้ลูกฉีดวัคซีนเสริมเพิ่มเติมนอกเหนือจากวัคซีนพื้นฐาน หรือไม่ฉีดก็ได้ แต่หากเลือกฉีดวัคซีนเสริมจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และทำให้ลูกมีความเสี่ยงต่อโรคนั้น ๆ น้อยลง โดยสามารถปรึกษาแพทย์ก่อนการรับวัคซีน

ลูกน้อยไปรับวัคซีนเด็กได้ที่ไหน
คุณแม่สามารถพาลูกเข้ารับวัคซีนพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น โรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นอกจากนี้ยังสามารถรับวัคซีนพื้นฐานได้ที่โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิก ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายต่างกัน สำหรับวัคซีนเสริม สามารถรับบริการฉีดวัคซีนได้ทั้งในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง สามารถสอบถามค่าใช้จ่ายได้จากสถานพยาบาลนั้น ๆ
วัคซีนพื้นฐานที่ต้องได้รับตั้งแต่แรกเกิด - 1 ปี
วัคซีนเด็กแรกเกิด การให้วัคซีนพื้นฐานแก่เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปีเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กทุกคนควรได้รับตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกัน ช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคจำเพาะต่าง ๆ ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อ ลดโอกาสที่จะเกิดความพิการและการเสียชีวิต ส่งเสริมให้เด็กเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย และสุขภาพดี โดยเด็กจะได้รับวัคซีนพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด ดังนี้
1. วัคซีนบีซีจี (BCG : Bacillus Calmette Guerin)
วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ฉีดตั้งแต่แรกเกิด โดยภูมิคุ้มกันจะมีเต็มที่ประมาณ 2 เดือนหลังฉีด วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันวัณโรคระยะแรกในเด็ก โดยเฉพาะชนิดที่รุนแรงอย่างวัณโรคเยื่อหุ้มสมองและวัณโรคชนิดแพร่กระจาย สามารถป้องกันได้สูงถึง 52-100% นอกจากนี้ยังป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ประมาณ 53%
2. วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB)
วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี(HB) จะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เด็กจะได้รับวัคซีนจำนวน 3 ครั้งเมื่อตอนแรกเกิด อายุ 1-2 เดือน และอายุ 6 เดือนตามลำดับ
3. วัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อตาย (IPV)
วัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อตาย (IPV) ประกอบด้วยเชื้อโปลิโอ 3 สายพันธุ์ ปัจจุบันเป็นวัคซีนรวมเข็มกับวัคซีนชนิดไอกรนไร้เซลล์ DTaP
4. วัคซีนฮิบ (Hib)
วัคซีนฮิบ (Hib) เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ Haemophilus Influenzae Type b ที่ทำให้เกิดโรคในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และทำให้มีอาการรุนแรงเช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ วัคซีนฮิบนี้อยู่ในแบบรวมกับวัคซีน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน โปลิโอชนิดฉีด และวัคซีนตับอักเสบบี เริ่มฉีดวัคซีนที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน
5. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน
วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน แบ่งเป็นชนิดไอกรนทั้งเซลล์(DTwP) และชนิดไอกรนไร้เซลล์(DTaP)ซึ่งสามารถใช้แทนชนิดไอกรนทั้งเซลล์ (DTwP) ได้ และควรฉีดวัคซีนที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือนตามลำดับ
6. วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR)
วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ให้เริ่มรับเข็มแรกที่อายุ 9 เดือน - 1 ปี หากรับวัคซีนเร็วเกินไป ภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ยังคงอยู่ในร่างกายเด็กอาจขัดขวางการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน ทำให้วัคซีนไม่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเด็กได้เต็มที่
7. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live-JE)
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live-JE) วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อเป็นที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ ให้เริ่มฉีดเมื่อเด็กอายุ 9 เดือนถึง 1 ปี และให้เข็มที่สองเป็นการฉีดกระตุ้นในช่วง 1-2 ปีหลังจากเข็มแรกเนื่องจากการฉีดเข็มที่สองจะช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นและคงอยู่ได้นาน จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้จำนวน 2 เข็ม
8. วัคซีนโรต้า (Rota)
วัคซีนโรต้า (Rota) ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีที่มักมีอาการรุนแรง ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้ แต่มีวัคซีนป้องกันแบบรับประทาน ซึ่งเป็นชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ มีทั้งแบบหยอด 2 ครั้ง และ 3 ครั้ง

ตารางวัคซีน 2567
คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกเข้ารับวัคซีนตามแบบแผนในแต่ละช่วงอายุให้ครบถ้วน เพื่อเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเพื่อป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งสามารถพาลูกเข้ารับวัคซีนตามตารางวัคซีนเด็กไทยที่แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ดังนี้
ตารางวัคซีนพื้นฐาน หรือวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กไทยทุกคน
อายุ | วัคซีนพื้นฐาน |
วัยแรกเกิด | - ตับอักเสบบี (HB) ครั้งที่ 1 - วัณโรคบีซีจี (BCG) |
1 เดือน | - ตับอักเสบบี (HB) ครั้งที่ 2 |
2 เดือน | - วัคซีนรวม คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) วัคซีนตับอักเสบบี (HB) และฮิบ (Hib) ครั้งที่ 1 - โปลิโอชนิดฉีด (IPV) ครั้งที่ 1 - โรต้า (Rota) ครั้งที่ 1 |
4 เดือน | - วัคซีนรวม คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) วัคซีนตับอักเสบบี (HB) และฮิบ (Hib) ครั้งที่ 2 - โปลิโอชนิดฉีด (IPV) ครั้งที่ 2 - โรต้า (Rota) ครั้งที่ 2 |
6 เดือน | - วัคซีนรวม คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) วัคซีนตับอักเสบบี (HB) และฮิบ (Hib) ครั้งที่ 3 - โปลีโอชนิดกิน (OPV) - โรต้า (Rota) ครั้งที่ 3 - ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ปีละ 1 ครั้ง แต่หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ให้ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน - โควิด 19 (COVID-19) ฉีดตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย |
9 – 12 เดือน | - หัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ครั้งที่ 1 - ไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE) ครั้งที่ 1 |
18 เดือน | - คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ฉีดกระตุ้น ครั้งที่ 1 - โปลิโอชนิดกิน (OPV) กระตุ้น ครั้งที่ 1 - หัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ครั้งที่ 2 |
2 ปี – 2 ปีครึ่ง | - ไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE) ครั้งที่ 2 |
4 - 6 ปี | - คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ฉีดกระตุ้น ครั้งที่ 2 - โปลิโอชนิดกิน (OPV) กระตุ้น ครั้งที่ 2 |
11 - 12 ปี | - บาดทะยัก คอตีบ (Td) และกระตุ้นทุก 10 ปี - เอชพีวี (HPV) ให้สำหรับเด็กหญิงประถม 5 ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน |
ตารางวัคซีนอื่น ๆ วัคซีนที่อาจให้เสริมหรือทดแทน ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 15 ปี (8)
อายุ | วัคซีนเสริม |
2 เดือน | - วัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) หรือ ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) , ตับอักเสบบี (HB) , โปลิโอชนิดฉีด (IPV) , ฮิบ (Hib) ครั้งที่ 1 - นิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) ครั้งที่ 1 - โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ก่อนการสัมผัสโรค โดยฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 7 วัน หรือ 21 วัน |
4 เดือน | - วัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) หรือ ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP), ตับอักเสบบี (HB), โปลิโอชนิดฉีด (IPV), ฮิบ (Hib) ครั้งที่ 2 - นิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) ครั้งที่ 2 |
6 เดือน | - วัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) หรือ ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP), ตับอักเสบบี (HB) , โปลิโอชนิดฉีด (IPV) , ฮิบ (Hib) ครั้งที่ 3 - นิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) ครั้งที่ 3 - ไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ และ ไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) ครั้งที่ 3 อีก 1 ปี - อีวี 71 (EV71) 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน - ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ปีละ 1 ครั้ง การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ให้ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน |
12-15 เดือน | - นิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) ครั้งที่ 4 - ตับอักเสบเอ (HAV) ชนิดเชื้อไม่มีชีวิต 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน หรือ ชนิดเชื้อมีชีวิต ฉีดครั้งเดียว เมื่ออายุ 18 เดือนขึ้นไป -อีสุกอีใส (VZV) หรือ วัคซีนรวม หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีกใส (MMRV) ครั้งที่ 1 |
18 เดือน | - วัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) , โปลิโอชนิดฉีด (IPV) ฉีดกระตุ้นครั้งที่ 1 - ฮิบ (Hib) ครั้งที่ 4 - อีสุกอีใส (VZV) หรือ วัคซีนรวม หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีกใส (MMRV) ครั้งที่ 2 |
4 – 6 ปี | - วัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) , โปลีโอชนิดฉีด (IPV) หรือ วัคซีนรวม บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Tdap) , โปลีโอชนิดฉีด (IPV) ฉีดกระตุ้นครั้งที่ 2 หรือ บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (TdaP) - ไข้เลือดออก (DEN) เริ่มต้นที่อายุ 4 ปี โดยให้ 2 หรือ 3 เข็มขึ้นอยู่ชนิดวัคซีน 9 ปี -เอชพีวี (HPV) 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน |
11 - 12 ปี | - บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Tdap/TdaP) ต่อไป บาดทะยัก คอตีบ หรือ บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Tdap/TdaP) ทุก 10 ปี |
ลูกได้รับวัคซีนไม่ครบ ต้องเริ่มฉีดนับ 1 ใหม่ไหม
สำหรับวัคซีนที่ต้องให้มากกว่า 1 เข็ม หากลูกฉีดวัคซีนไม่ครบหรือล่าช้า ให้พาลูกไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนดโดยเร็ว โดยไม่ต้องเริ่มฉีดใหม่
ผลข้างเคียงของวัคซีนเด็ก มีอะไรบ้าง
หลังจากการรับวัคซีนแล้วลูกอาจมีผลข้างเคียงบางอย่างเกิดขึ้น เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นต่อวัคซีน คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการให้ดี ซึ่งผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนที่พ่อแม่ควรระวังมีดังนี้
1. อาการไข้ ตัวร้อน
มักเกิดหลังฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งฉีดในช่วงอายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 18 เดือน และ 4 ปี คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดตัวลูก บริเวณซอกคอและข้อพับต่าง ๆ เพื่อลดไข้ อาการไข้จะหายภายใน 2-3 วัน คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการไข้ของลูกให้ดี หากมีไข้สูงเกินไป อาจทำให้เด็กชักได้ ควรรีบพาไปพบแพทย์
2. อาการปวด บวมแดงที่บริเวณฉีดวัคซีน
เด็กมักมีอาการบวมแข็งบริเวณจุดฉีด คุณพ่อคุณแม่สามารถประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม หากอาการบวมเพิ่มขึ้นหรือยังไม่หายหลัง 2-3 วัน ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
3. ผื่นตามผิวหนัง
ผื่นแดงตามผิวหนังเด็ก อาจเกิดจากเชื้อในวัคซีนบางชนิด เช่น หัดเยอรมัน หรืออีสุกอีใส มักเกิดขึ้นหลังฉีด 7-10 วัน และจะหายไปเองใน 3-4 วัน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์
เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนพื้นฐานเพื่อสร้างเกราะป้องกันโรคภัยตั้งแต่แรกเกิด เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทาน ลดอาการเจ็บป่วย นอกจากวัคซีนจะมีความสำคัญต่อสุขภาพเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว โภชนาการก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการเสริมพัฒนาการสมองและพัฒนาการทางร่างกายของลูก องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือนเต็ม หลัง 6 เดือนให้กินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม แอลฟา-แล็คตัลบูมิน และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก
อ้างอิง:
- การฉีดวัคซีนคืออะไร, โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงราย
- วัคซีนในเด็กแต่ละช่วงวัย ต้องฉีดอะไรบ้าง?, โรงพยาบาลสินแพทย์
- ลูกน้อยแข็งแรง ด้วยการรับวัคซีนพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด - 1 ปี, โรงพยาบาลนครธน
- วัคซีนสำหรับเด็ก...จำเป็นจริงหรือ?, โรงพยาบาลนครธน
- วัคซีนเสริมสำคัญ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อง
- ความรู้สำหรับประชาชน วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
- คุณภาพวัคซีนของลูก รพ.รัฐ VS รพ.เอกชน ต่างกันมากไหม?, โรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงา
- ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2567, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
- กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุขปี 2567, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- เรื่องที่คุณแม่ควรรู้ เมื่อลูกต้องฉีดวัคซีน, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
- เรื่องที่แม่ต้องรู้ หลังลูกน้อยฉีดวัคซีน, โรงพยาบาลบางปะกอก สมุทรปราการ
- วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กแรกเกิด- 12 ปีที่พ่อแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลเปาโล
- ผู้ปกครองควรรู้ ! วัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย, โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
- “น้ำนมแม่” ประโยชน์แท้จากธรรมชาติ, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
อ้างอิง ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567