
อาหารเป็นพิษกี่วันหาย อาการอาหารเป็นพิษในเด็กที่คุณแม่ต้องรู้
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิที่ทำให้เชื้อโรคเติบโตได้ดี จนทำให้อาจเกิดการติดเชื้อผ่านทางอาหารและน้ำได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก อาจทำให้เกิดอาหารเป็นพิษในเด็กซึ่งเป็นโรคที่มีความอันตรายต่อเด็กค่อนข้างมาก เพราะอาจทำให้เด็กมีอาการถ่ายเหลว รวมถึงอาเจียน มีไข้ และอาจมีภาวะขาดน้ำรุนแรงที่อาจอันตรายต่อชีวิต
สรุป
- อาหารเป็นพิษในเด็กค่อนข้างเป็นโรคที่อันตรายและเป็นสาเหตุหนึ่งในการเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจปนเปื้อนมาจากอาหารและน้ำ
- เด็กจะมีการถ่ายเหลวมากกว่า 2 ครั้ง หรืออาจถ่ายมีมูกเลือด 1 ครั้ง ซึ่งการถ่ายเหลวหลายครั้งใน 1 วัน ถือว่าเป็นภาวะท้องเสีย และบางครั้งอาจมีไข้ อาเจียนร่วมด้วย
- หากเด็กป่วยเป็นอาหารเป็นพิษ ควรงดการดื่มนม หรือรับประทานอาหารประเภทที่มีนมเป็นส่วนประกอบ รวมถึงอาหารรสจัด ผลไม้ อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมักดอง และพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้บ่อยขึ้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อาหารเป็นพิษในเด็ก คืออะไร
- เด็กอาหารเป็นพิษ เกิดจากอะไรบ้าง
- เด็กอาหารเป็นพิษ จะมีอาการอย่างไร
- ลูกป่วยอาหารเป็นพิษ กี่วันหาย
- วิธีดูแลเด็กอาหารเป็นพิษ
- วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษในเด็ก
- อาหารเป็นพิษในเด็กแบบไหน ควรไปพบแพทย์
อาหารเป็นพิษในเด็ก คืออะไร
โรคอาหารเป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่เมื่อพบอาการอาหารเป็นพิษในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเฝ้าระวังความรุนแรงของอาการ เนื่องจากค่อนข้างเป็นโรคที่อันตรายและเป็นสาเหตุหนึ่งในการเสียชีวิต ซึ่งอาการของอาหารเป็นพิษในเด็กจะมีการถ่ายเหลวมากกว่า 2 ครั้ง หรืออาจมีการถ่ายมีมูกเลือด 1 ครั้ง ซึ่งการถ่ายเหลวหลายครั้งใน 1 วัน ถือว่าเป็นภาวะท้องเสีย และบางครั้งอาจมีไข้ อาเจียนร่วมด้วย
เด็กอาหารเป็นพิษ เกิดจากอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่แล้วอาการอาหารเป็นพิษในเด็ก เกิดจากสาเหตุการติดเชื้อจากระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำ โดยเฉพาะอาหารที่มีลักษณะกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารค้างคืน รวมถึงไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เกิดการเจริญเติบโต ดังนี้
- แบคทีเรีย หรือสารพิษของแบคทีเรีย (Toxin) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียมักจะเติบโตได้ดีในอากาศร้อน
- ไวรัส เช่น เชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง และยังแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและอยู่ได้นานในสภาพอากาศที่เย็น, โนโรไวรัส ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร ส่วนมากเกิดการระบาดในช่วงหน้าหนาว
- สารพิษจากเชื้อรา มักพบปนเปื้อนมาจากอาหาร รวมถึงผลผลิตการเกษตรต่าง ๆ เช่น อาหารอบแห้ง เมล็ดกาแฟ เมล็ดโกโก้ เมล็ดธัญพืช เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้รับสารพิษจากเชื้อราไปสะสมในร่างกาย สามารถทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง เป็นไข้
- ปรสิต เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องเสีย สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน หรือปนเปื้อนผ่านอาหารและน้ำ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาจมีการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
- สารเคมี หรือการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นอาการที่ค่อนข้างเฉียบพลัน
- อาหารที่เก็บรักษาไม่เหมาะสม อาหารแต่ละชนิดต้องมีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี อาหารต้องปรุงสุกและผ่านความร้อนให้เพียงพอเพื่อฆ่าเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบเพื่อลดการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ

เด็กอาหารเป็นพิษ จะมีอาการอย่างไร
หากพบว่าลูกมีอาการถ่ายเหลว มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ร่วมด้วย ซึม อ่อนเพลีย ในเด็กเล็กอาจมีอาการงอแง ปากแห้ง ตาโหล ไม่มีแรง และมือเท้าเย็น ซึ่งหากอาการค่อนข้างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีและป้องกันภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงในเด็ก
ลูกป่วยอาหารเป็นพิษ กี่วันหาย
อาการอาหารเป็นพิษ โดยทั่วไปจะสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำสะอาดทดแทนน้ำที่เสียไปอย่างเหมาะสม แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือพบว่ามีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
วิธีดูแลเด็กอาหารเป็นพิษ
หากเด็กป่วยอาหารเป็นพิษ ควรงดการดื่มนม หรือรับประทานอาหารประเภทที่มีนมเป็นส่วนประกอบ รวมถึงอาหารรสจัด ผลไม้ อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมักดอง และพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อน ดื่มน้ำสะอาดให้บ่อยขึ้น งดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ร่างกายหนัก หรือการออกกำลังกาย ควรรอให้อาการหายดีขึ้นก่อน
วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษในเด็ก
ทางที่ดีที่สุด คือ การรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อผ่านทางปากเข้าสู่ร่างกาย ก่อนรับประทานอาหารเด็กจึงควรหมั่นล้างมือทุกครั้ง รวมทั้งการดูแลความสะอาดของขวดนม หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเตรียมอาหารให้เด็ก และควรทำการฆ่าเชื้อให้ถูกวิธี ในส่วนของอาหารควรรับประทานอาหารที่มีการปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืน และใส่ใจความสะอาดของภาชนะที่บรรจุอาหารด้วย
อาหารเป็นพิษในเด็กแบบไหน ควรไปพบแพทย์
เมื่อลูกมีอาการอาหารเป็นพิษในเด็ก หากลักษณะของอาการไม่ดีขึ้น และยังมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
- พบมูกเลือดหรือมูกขณะถ่ายอุจจาระ
- มีไข้สูง หรือมีอาการชัก
- อาเจียนรุนแรง
- ทารกท้องอืด
- หอบลึก
- ลูกถ่ายเหลว หลายครั้งใน 1 วัน
- ลูกดูเพลียหรือซึม ไม่รับประทานอาหาร

อาหารเป็นพิษในเด็ก สามารถหายเป็นปกติได้เอง แต่ในเด็กเล็กอาจมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง และมีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่พบอาการที่มีลักษณะถ่ายเหลว อาเจียน มีไข้ ดูอ่อนเพลีย ซึม ไม่ยอมรับประทานอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคและทำการรักษาโดยทันที และไม่ควรละเลยใส่ใจความสะอาดของอาหารการกินสำหรับเด็กให้มั่นใจว่าปลอดจากเชื้อโรคต่าง ๆ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
- วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ บีบนมอย่างไรให้ถูกวิธี ช่วยกระตุ้นน้ำนมคุณแม่
- 3 วิธีละลายนมแม่ พร้อมวิธีอุ่นนมแม่ที่ถูกต้อง ช่วยให้น้ำนมมีคุณภาพ
- 10 วิธีกระตุ้นน้ำนม เพิ่มน้ำนมคุณแม่ เมื่อน้ำนมไม่ไหล
- น้ำนมแม่เสริมภูมิต้านทาน พร้อมประโยนชน์ของนมแม่สู่ลูกน้อย
- วิธีกู้น้ำนม เมื่อคุณแม่น้ำนมไม่ไหล น้ำนมหด พร้อมวิธีเพิ่มน้ำนม
- วิธีเก็บนมแม่ที่ถูกต้อง พร้อมการเก็บนมแม่ให้ปลอดภัยและมีคุณภาพ
- วิธีให้นมลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่ การให้นมลูกหลังคลอดที่ถูกต้อง
- ทารกหิวนม ลูกดูดเต้าจะรู้ได้ไงว่าลูกอิ่ม สัญญาณที่คุณแม่สังเกตได้
- ทารกแหวะนม ทารกสำลักนมอันตรายไหม ปัญหากวนใจที่แม่รับมือได้
อ้างอิง:
- โรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษในเด็ก...หน้าร้อนแบบนี้ต้องระวัง!, โรงพยาบาลพญาไท
- โรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษในเด็ก, โรงพยาบาลเปาโล
- ไวรัสโรต้า สาเหตุของท้องเสีย, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
- "โนโรไวรัส" โรคระบาดในเด็ก, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- สารพิษจากเชื้อรา อันตรายที่มองไม่เห็น, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ท้องเสีย และสาเหตุสำคัญที่ควรระวัง, PobPad
- อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning), กรมควบคุมโรค
- อันตรายร้ายแรงของอาหารเป็นพิษ, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อ้างอิง ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567