
ก้างปลาติดคอลูกทําไงดี พร้อมวิธีเอาก้างปลาออกจากคอลูกให้ปลอดภัย
พูดถึงเรื่อง “ก้างปลาติดคอ” อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ใครๆ ก็มีประสบการณ์นี้ก็จริง แต่หากเกิดกับลูกน้อย เรื่องเล็กนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน อีกทั้งความเชื่อหลากหลายที่ฟังต่อๆ กันมา เช่น ให้รีบกลืนข้าวคำโตๆ หรือขนมปังเป็นก้อนๆ ไปไล่ก้างปลาที่ติดคอนั้น จะได้ผลหรือไม่ รวมถึงการดื่มน้ำมะนาวเยอะๆ จะช่วยให้ก้างปลาอ่อนตัวจริงหรือเปล่า? แล้วเรามีวิธีป้องกันก้างปลาติดคอลูกได้อย่างไรบ้าง เรามีคำตอบในบทความนี้
สรุป
- เมื่อลูกก้างปลาติดคอ ให้ลูกดื่มน้ำ กลั้วคอเยอะๆ เพราะหากเป็นก้างเล็ก จะหลุดออกมาเองได้ แต่หากไม่หาย ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยทันที
- หากเป็นก้างปลาใหญ่ติดคอ กลั้วน้ำแล้วไม่ออก ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน
- ห้ามกลืนก้อนข้าวเหนียว ขนมปังหรือกล้วย อาจจะทำให้ก้างปลาติดลึกกว่าเดิม และห้ามดื่มน้ำมะนาว เพราะก้างปลาไม่สามารถนิ่มลงได้
อ่านตามหัวข้อ
- ลูกน้อยก้างปลาติดคอทำไงดี ปล่อยให้หายเองได้หรือเปล่า
- อาการก้างปลาติดคอ ลูกจะรู้สึกยังไง
- เอาก้างปลาออกจากคอลูก
- จะรู้ได้ไงว่าก้างปลาหลุดจากคอลูกแล้ว
- ก้างปลาติดคอลูก ห้ามทำแบบนี้
- ก้างปลาติดคอหายเองได้ไหม
- หากปล่อยให้ก้างปลาติดคอลูกนานไปจะอันตรายไหม
- 4 วิธีป้องกันก้างปลาติดคอลูก
ลูกน้อยก้างปลาติดคอทำไงดี ปล่อยให้หายเองได้หรือเปล่า
เมื่อลูกก้างปลาติดคอ สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งสติก่อนเลย จากนั้นให้ลูกดื่มน้ำ กลั้วคอเยอะๆ เพราะหากเป็นก้างเล็ก จะหลุดออกมาเองได้ แต่หากไม่หายห้ามปล่อยไว้เด็ดขาด ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยทันที โดยห้ามเด็ดขาดคือการนวดบริเวณลำคอที่จะทำให้เกิดแผลอักเสบได้ รวมถึงห้ามกลืนข้าว ขนมปัง หรือมาร์ชแมลโลว์ เพื่อให้ก้างหลุดลงไปเด็ดขาด เพราะอาจจะยิ่งทำให้ก้างยิ่งติดลึกลงไปอีก
อาการก้างปลาติดคอ ลูกจะรู้สึกยังไง
หากลูกมีอาการก้างปลาติดคอ เด็กๆ จะมีอาการตามนี้
- ไอ สำลัก หายใจไม่สะดวก หายใจเร็วผิดปกติ
- เจ็บคอ น้ำลายไหลมาก น้ำลายมีเลือดปน
- เจ็บหน้าอก ปวดท้อง หรือรู้สึกว่ามีบางอย่างติดอยู่ในคอ
- หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด
- ลูกอาเจียนหรือถ่ายมีเลือดปน
- กลืนลำบาก หรือ แสดงอาการเจ็บเมื่อกลืน
- ในเด็กเล็ก จะไม่ยอมกินอาหาร และร้องไห้ไม่หยุดหลังกินปลา
หากมีอาการเหล่านี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรีบมาโรงพยาบาลในทันที
เอาก้างปลาออกจากคอลูก
หากเป็นก้างขนาดเล็ก ให้ดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรงๆ วิธีนี้อาจช่วยให้ก้างหลุดออกมาได้ หากไม่หลุดควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อนำก้างปลาออก
จะรู้ได้ไงว่าก้างปลาหลุดจากคอลูกแล้ว
หากเป็นก้างเล็กๆ อาจจะสังเกตจากที่ลูกอาการดีขึ้นหลังดื่มน้ำกลั้วคอ อย่างไรก็ตามแม้ก้างปลาจะหลุดจากคอแล้วก็ควรไปพบแพทย์ เพราะก้างอาจจะไปติดอยู่ในตำแหน่งอื่นๆ ของทางเดินอาหารได้ เช่น หูรูดหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุ หรืออาจทำให้หลอดอาหารทะลุได้ ซึ่งอันตรายมาก
ก้างปลาติดคอลูก ห้ามทำแบบนี้
มีความเชื่อเรื่องการแก้ก้างปลาติดคอหลากหลายมาก ซึ่งบางวิธีไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ที่นอกจากจะไม่ช่วยให้ก้างปลาหลุดแล้ว ยังทำให้ลูกเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเพิ่มอีกด้วย ข้อห้ามมีดังนี้
- ห้ามกลืนก้อนข้าวเหนียว ขนมปังหรือกล้วย วิธีนี้ไม่ได้การันตีว่าจะช่วยให้ก้างปลาหลุดออกมาได้ อาจจะทำให้ก้างปลาติดลึกกว่าเดิม
- ห้ามเอานิ้วล้วงเอาก้างปลาออก วิธีนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้ก้างปลาหลุดแล้ว การเขี่ยไปมาอาจทำให้เกิดแผล และหากนิ้วมือสกปรกก็อาจทำให้ติดเชื้อได้
- ห้ามดื่มน้ำมะนาว ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้ก้างปลาอ่อนนุ่มลง นี่คือการเข้าใจผิดเพราะก้างปลาไม่สามารถนิ่มลงได้ อีกทั้งหากดื่มมากๆ ก็จะระคายเคืองกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
- ห้ามนวดหรือบีบคอด้านนอก เพราะอาจจะยิ่งทำให้เกิดแผลได้
- ห้ามปล่อยให้ก้างปลาติดคอนานเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดแผลในอวัยวะภายในได้
ก้างปลาติดคอหายเองได้ไหม
คุณพ่อคุณแม่อาจจะมองว่าเรื่องก้างปลาติดคอเป็นเรื่องเล็ก เดี๋ยวก็คงหายไปเอง จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับขนาดของก้างปลา อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าถ้าเป็นก้างขนาดเล็ก แล้วใช้วิธีให้ดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรงๆ ก้างก็อาจจะหลุดออกมาได้ แต่หากใช้วิธีนี้แล้วไม่หาย การพาลูกไปพบแพทย์ย่อมดีกว่าการรอให้หายเองแน่นอน
หากปล่อยให้ก้างปลาติดคอลูกนานไปจะอันตรายไหม
นอกจากจะทำให้ลูกเจ็บคอและไม่ยอมกินข้าวแล้ว หากปล่อยให้ก้างปลาติดคอเป็นระยะเวลานานนั้นอันตรายแน่นอน เพราะก้างปลาอาจทำให้เกิดแผลใน เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล ผนังคอหอย โคนลิ้น ฝาปิดกล่องเสียง โดยหากปล่อยให้ก้างปลาติดคอเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะทำให้เจ็บ และเป็นแผลแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นหนองในลำคอ จนลุกลามไปสู่ช่องอกได้
4 วิธีป้องกันก้างปลาติดคอลูก
เรามีวิธีง่ายๆ ให้คุณแม่ได้ใช้ป้องกันก้างปลาติดคอลูกได้มาฝากกัน
- ควรระมัดระวังมากขึ้น เมื่อต้องทานปลาหรืออาหารที่มีปลาเป็นส่วนประกอบ
- ตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ และง่ายต่อการนำก้างออก
- ควรสอนให้ลูกเคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน
- ไม่ควรให้ลูกกินอาหารขณะวิ่ง เดิน หรือพูดคุย
ปลาเป็นเมนูอร่อยที่มีประโยชน์สำหรับทุกคนในครอบครัวก็จริง แต่การรับประทานปลาของเด็กๆ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าเมนูอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดก้างปลาติดคอ แต่เมื่อเกิดเหตุก้างปลาติดคอแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติและให้ลูกดื่มน้ำมากๆ หากไม่ดีขึ้น ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน ไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน เพราะอาจจะก่อให้เกิดแผลในอวัยวะภายในและอาจติดเชื้อตามมาได้ เพราะฉะนั้นกันไว้ด้วยความระมัดระวังในทุกมื้อของลูกดีกว่าตามแก้แน่นอน
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรม Baby Development เช็คพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัย
- เด็กตาแฉะ มีขี้ตาเยอะ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรักษาตาแฉะในทารก
- สะดือทารกมีเลือดออกอันตรายไหม สะดือเด็กทารกเลือดออกทำยังไงดี
- ลูกเป็นไข้ตอนกลางคืนกลางวันปกติ พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกมีไข้ตอนกลางคืน
- ลูกป่วยบ่อยมาก ทำไงดี พร้อมวิธีเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรง
- อาการไข้ในเด็ก ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ เช็ดตัวยังไงให้ไข้ลด
- ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่รับมืออย่างไรดี
- ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้
- เด็กก้าวร้าว ลูกอารมณ์ร้าย ทำตัวไม่น่ารัก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
- ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม
อ้างอิง:
- เมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ก้างปลาติดคอ, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- RAMA Square - ก้างปลาติดคอ เอาออกอย่างไรให้ปลอดภัย ? 11/08/63 l RAMA CHANNEL, โรงพยาบาลรามา
- หยุดความเชื่อผิดๆ เมื่อก้างปลาติดคอ, โรงพยาบาลบางปะกอก
- เตรียมพร้อมรับมือ 24 ชม. เมื่อลูก “อาหารติดคอ”, โรงพยาบาลเปาโล
- ลูก 1 ขวบได้กลืนก้างปลาลงไป จะเป็นอะไรไหม", POBPAD
- พบหมอรามาฯ – ก้างปลาติดคอจะทำอย่างไร? , กินผักสุกหรือผักสดเลือกอย่างไร 1/1/64 l RAMA CHANNEL, โรงพยาบาลรามา
อ้างอิงเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 67