ทารกแหวะนมบ่อย อันตรายหรือไม่ ปัญหากวนใจที่คุณแม่รับมือได้

ทารกแหวะนมบ่อย อันตรายหรือไม่ ปัญหากวนใจที่คุณแม่รับมือได้

02.04.2024

อาการแหวะนมของทารก หรือทารกอาเจียนนมออกมา ทำให้คุณแม่มือใหม่อาจกังวลว่า เป็นสัญญาณความผิดปกติของร่างกายลูก อีกทั้งยังกลัวว่า ทารกจะได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอในแต่ละวัน โดยทั่วไปแล้ว อาการแหวะนม เพียงเล็กน้อยหลังดูดนม เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ

headphones

PLAYING: ทารกแหวะนมบ่อย อันตรายหรือไม่ ปัญหากวนใจที่คุณแม่รับมือได้

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • เมื่อทารกกินนมแล้วเกิดอาการแหวะนม อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเป็นกังวลได้ว่า ลูกมีความผิดปกติทางร่างกายหรือมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ แต่จริง ๆ แล้วการแหวะนมหรือสำรอกนมเพียงเล็กน้อย เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารก
  • ทารกแหวะนมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หูรูดกระเพาะอาหารทำงานได้ไม่ดี การให้นมลูกในปริมาณมากเกินไป ไม่ได้อุ้มลูกเรอหลังให้นม

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ทารกแหวะนม เกิดจากสาเหตุอะไร

1. หูรูดกระเพาะอาหารยังทำงานได้ไม่ดี

ร่างกายของทารกแรกเกิดยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ที่ทำหน้าที่เปิดปิดให้น้ำนมไหลสู่กระเพาะอาหาร ทำงานได้ไม่ดีนัก จนน้ำนมไหลย้อน เกิดอาการแหวะนมได้ อาการนี้จึงเกิดขึ้นหลังกินนมแล้ว

 

2. ให้ลูกกินนมมากเกินไปในแต่ละครั้ง

การให้ลูกกินนมมากเกินไปในแต่ละครั้ง ส่งผลให้แหวะนม หรืออาเจียนนมออกมาได้

 

3. ท่านอนและการกินนมของลูก

ทารกที่นอนหงายและงอท้องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการแหวะนมได้ เช่นเดียวกับการกินนมเร็วเกินไป รวมถึงท่าทางทารกหลังกินนมที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ลูกแหวะนมได้เช่นกัน

 

4. ไม่ได้จับลูกเรอหรือไล่ลม

หลังให้ลูกกินนมแล้ว หากไม่ได้จับลูกเรอหรือไล่ลม เวลาลูกนอนจะทำให้เกิดการแหวะนมได้ หลังมื้ออาหารของลูกจึงควรอุ้มลูกเรอหรือไล่ลมให้หมด แล้วให้นอนศีรษะสูง รวมถึงนอนในท่าตะแคงขวาหลังจากดูดนมแล้วเป็นเวลา 30 นาที ท่านอนทารกท่านี้จะทำให้หูรูดของกระเพาะอาหารอยู่สูง ทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อย ลดอาการแหวะนมได้

 

5. จัดท่าทางการให้นมลูกไม่เหมาะสม

ท่าให้นมลูกที่เหมาะสมควรให้ทารกกินนมในท่าที่หัวสูง นั่งตัวตรงขณะกินนม หลังจากให้กินนมแล้ว ควรให้ทารกนั่งพักประมาณ 30 นาทีก่อนจึงให้ทำกิจกรรมอื่น

 

ทารกแหวะนม อาการเป็นแบบไหน

อาการแหวะนมที่พบบ่อย ทารกจะขย้อนน้ำนมออกมาเล็กน้อยหลังกินนมเสร็จแล้ว ลักษณะน้ำนมที่ทารกแหวะนมออกมาจะคล้ายกับเต้าหู้ ออกมาเป็นลิ่ม ๆ เพราะน้ำนมผ่านการย่อยจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารแล้ว เมื่อเกิดการแหวะนมก็จะขย้อนออกมาเล็กน้อยออกมาทางจมูกหรือปากได้

 

แหวะนมแบบไหนผิดปกติและอาจเป็นอันตราย

อาการแหวะนมของทารกยังเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติบางอย่างได้ รวมถึงเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคต่าง ๆ ซึ่งคุณแม่ควรสังเกตอาการเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย เช่น

  • น้ำหนักของทารกลดลง หรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
  • แหวะนมหรืออาเจียนพุ่ง จนน้ำนมออกมาเยอะ
  • ทารกแหวะนมปนเลือดออกมา
  • มีอาการไอร่วมด้วย หรือไอต่อเนื่องนาน ๆ
  • ร้องไห้งอแง รู้สึกไม่สบายตัว
  • แหวะนมหรืออาเจียนออกมาเป็นสีเขียว สีดำ หรือสีเหลือง
  • เบื่ออาหาร ไม่อยากกินนม

 

ทารกสำลักนม หรือแหวะนม มักเกิดขึ้นกับทารกวัยไหน

ทารกมักจะมีอาการแหวะนมเป็นเรื่องปกติ มักจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงก่อน 3 เดือน แล้วอาการแหวะนมจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อลูกโตขึ้น สำหรับอาการแหวะนมนั้นแตกต่างจากอาการสำลักนม โดยทารกที่สำลักนมจะมีอาการ ดังนี้

  • ทารกไอเมื่อดื่มนม และไออย่างรุนแรง
  • การหายใจของทารกมีความผิดปกติ
  • ทารกจะสำลักนมได้แม้แต่ตอนนอน

 

จับลูกเรอป้องกันทารกแหวะนม

 

จับลูกเรอป้องกันการแหวะนม

หลังให้นมลูกแล้ว ไม่ควรให้ทารกนอนทันที แต่ควรจับนั่งหรืออุ้มพาดบ่าให้เรอ จะช่วยไล่ลมออกจากท้อง ทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกสบายท้อง ช่วยป้องกันการแหวะนมได้ โดยมี 2 ท่าอุ้มลูกเรอ ดังนี้

  1. อุ้มทารกให้นั่งหลังตรงบนตักของคุณแม่ โดยที่นิ้วโป้งกับนิ้วชี้รองอยู่บริเวณใต้คางของลูก ส่วนมืออีกข้าง นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ให้อยู่บริเวณใต้รักแร้ของลูก ค่อย ๆ ลูบหลังหรือตบหลังอย่างเบามือ เพื่อให้ทารกเรอออกมา
  2. อุ้มพาดบ่าให้ลูกอยู่ในท่านอนคว่ำ คางลูกจะเกยอยู่บนไหล่คุณแม่ ตบหลังเบา ๆ ให้เจ้าตัวน้อยเรอออกมา

 

เคล็ดลับช่วยคุณแม่รับมือทารกแหวะนม

1. ให้นมลูกในปริมาณที่เหมาะสม

หากคุณแม่ให้นมลูกมากเกินพอดี ลูกจะเกิดอาการแหวะนม นมไหลออกจากปากหรือจมูก และอาจสำลักนมได้ จึงควรลดปริมาณนมลงให้เหมาะสม

 

2. เว้นระยะการให้นมลูก

คุณแม่ควรเว้นระยะการให้นมลูกอย่างเหมาะสม เช่น

  • ทารกแรกเกิดถึง 3 วัน: มีระยะเวลาการให้นมลูกห่างกันประมาณ 3 ชั่วโมง โดยให้นมในปริมาณ 10 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้นมประมาณ 8 มื้อต่อวัน
  • อายุ 4 วันแรกถึง 1 เดือน: มีระยะเวลาการให้นมลูกห่างกันประมาณ 3-4 ชั่วโมง โดยให้นมในปริมาณ 4-5 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้นมประมาณ 6-8 มื้อต่อวัน
  • อายุ 1 เดือน: มีระยะเวลาการให้นมลูกห่างกันประมาณ 4 ชั่วโมง โดยให้นมในปริมาณ 4 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้นมประมาณ 6 มื้อต่อวัน

 

3. ควรให้นมลูกด้วยท่าให้นมที่ศีรษะอยู่สูง

หากให้นมลูกผิดท่า อาจทำให้เจ้าตัวน้อยเกิดการสำลักนมได้ ควรให้ลูกกินนมในท่าที่หัวอยู่สูง จะช่วยบรรเทาอาการแหวะนมได้

 

สำหรับลูกวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน คุณแม่ควรให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะในน้ำนมแม่มีสารอาหารสำคัญกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน เพื่อให้เจ้าตัวน้อยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เติบโตอย่างแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีสมวัย โดยคุณแม่ควรให้ลูกกินนมแม่ในปริมาณที่พอดี มีการจับลูกเรอหลังอิ่มท้องในแต่ละมื้อ จะช่วยขับลมให้สบายท้อง ลดอาการแหวะนมของเจ้าตัวน้อยได้ด้วยค่ะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

อ้างอิง:

  1. ลูกแหวะนมเกิดจากอะไร พ่อแม่มือใหม่รับมืออย่างไรดี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  2. แหวะนม พบได้บ่อยในทารก, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  3. พ่อแม่ไม่ต้องกังวล อาการเหล่านี้...เป็นภาวะปกติในทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลพญาไท
  4. ลูกกินนมแบบไหนเรียก Over breastfeeding, โรงพยาบาลสมิติเวช
  5. ภาวะปกติในทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลเปาโล
  6. เด็กทารกสำลักนม การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและวิธีป้องกัน, โรงพยาบาลศรีสวรรค์
  7. ให้นมแม่อย่างปลอดภัย สบายใจยิ่งขึ้น ด้วยหลัก “1 2 3”, โรงพยาบาลพญาไท

อ้างอิง ณ วันที่ 19 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

พรีไบโอติกส์ สำหรับเด็ก สารอาหารสำคัญ ดีต่อสุขภาพลูกน้อย

พรีไบโอติกส์ สำหรับเด็ก สารอาหารสำคัญ ดีต่อสุขภาพลูกน้อย

พรีไบโอติกส์ สำหรับเด็ก คือ ส่วนประกอบในอาหารที่สำคัญพรีไบโอติกส์เด็กมีอยู่ในอาหารหลายชนิด มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

ภาวะตัวเหลือง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลือง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลือง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ช่วงหลังคลอดและตอนที่ทารกกลับไปอยู่บ้าน คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตภาวะตัวเหลืองในทารกได้ พร้อมวิธีดูแลทารกตัวเหลือง

ล้างจมูกทารก แบบไหนปลอดภัย ล้างยังไงไม่ให้ลูกกลัว

ล้างจมูกทารก แบบไหนปลอดภัย ล้างยังไงไม่ให้ลูกกลัว

ล้างจมูกทารก ปลอดภัยสำหรับลูกแค่ไหน ล้างจมูกทารกได้ตั้งแต่กี่เดือน ทำไมคุณพ่อคุณแม่ควรรู้วิธีล้างจมูกทารกเมื่อลูกเป็นหวัด คัดจมูก หรือหายใจไม่ออก

6 ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ให้ลูกอิ่มสบาย พร้อมวิธีป้องกันอาการท้องอืด

6 ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ให้ลูกอิ่มสบาย พร้อมวิธีป้องกันอาการท้องอืด

รวม 6 ท่าให้นมลูกและท่านนอนให้นมที่ถูกต้อง สำหรับคุณแม่มือใหม่ ท่าให้นมลูกทำตามได้ง่าย ๆ ให้ลูกน้อยกินนมอิ่ม สบายตัวและป้องกันอาการท้องอืดได้อีกด้วย

รวมไอเดียทรงผมลูกชายดาราตามเทรนด์ ให้ลูกชายหล่อเท่ ไม่ตกเทรนด์

รวมไอเดียทรงผมลูกชายดาราตามเทรนด์ ให้ลูกชายหล่อเท่ ไม่ตกเทรนด์

ไอเดียทรงผมลูกชายดารา ทรงผมลูกชายเท่ ๆ แบบไม่ตกเทรนด์ ให้คุณพ่อคุณแม่เลือกทรงผมที่เหมาะกับลูกชายวัยกำลังโตมากที่สุด เสริมหล่อให้ลูกชายกันได้เลย

รวมแคปชั่นคนท้องตื่นเต้นอยากเจอลูกน้อย ให้คุณแม่เลือกไปโพสต์ได้เลย

รวมแคปชั่นคนท้องตื่นเต้นอยากเจอลูกน้อย ให้คุณแม่เลือกไปโพสต์ได้เลย

แคปชั่นคนท้อง คำคมคนท้องน่ารักสำหรับคุณแม่ที่ตื่นเต้นและเฝ้ารออยากจะเจอเจ้าตัวเล็ก มีทั้งแคปชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้คุณแม่มาเลือกไปโพสต์ลงโซเชียลได้เลย

รวมแคปชั่นลูกคือทุกอย่าง แคปชั่นรักลูก บอกรักลูกสุดซึ้ง

รวมแคปชั่นลูกคือทุกอย่าง แคปชั่นรักลูก บอกรักลูกสุดซึ้ง

แคปชั่นลูกคือทุกอย่าง แคปชั่นรักลูก สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ คิดชื่อแคปชั่นเกี่ยวกับลูกไม่ออก ลองมาเลือกในแคปชั่นลูกคือทุกอย่าง ที่เรารวบรวมเอาไว้ให้แล้วได้เลย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก