ลูกมีเสลดในคอทําไงดี พร้อมวิธีเคาะปอดเมื่อลูกมีเสมหะ
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมักเกิดความกังวล เมื่อลูกไอและมีเสลดในคอทำไงดี ? เสมหะ หรือเสลด เป็นอาการระคายเคืองในลำคอ ที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่ไปกระตุ้นทำให้เกิดการหลั่งเสมหะออกมาในลำคอ เสลดที่เหนียวและข้นนอกจากจะก่อให้เกิดความไม่สบายตัวให้กับลูกแล้ว ก็ยังสามารถบ่งบอกการเกิดโรคได้ด้วย
สรุป
- ลูกมีเสลดในคอทำไงดี เสมหะหรือเสลดที่ตรงบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่าง มีหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นภายในลำคอ และช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาภายในลำคอ หากพบว่าลูกมีเสลดในคอมาก สามารถบรรเทาเสลดในลำคอได้ด้วยการดูดออก และการเคาะปอดอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์
- ลูกมีเสลดในคอ อาจเกิดขึ้นได้จากการเจ็บป่วยไม่สบาย หรือภาวะผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคหวัด โรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ การแพ้นมวัว การระคายเคืองในลำคอ ฯลฯ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกมีเสลดในคอ เกิดจากอะไร
- ลูกมีเสลดในคอ จะรู้ได้อย่างไร
- ลูกมีเสลดในคอ อันตรายไหม
- ลูกมีเสลดในคอทําไงดี ช่วยลูกได้ยังไงบ้าง
- วิธีเคาะปอด ช่วยระบายเสมหะให้ลูกได้จริงไหม
- วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อลูกมีเสมหะ
ลูกมีเสลดในคอ เกิดจากอะไร
ลูกมีเสลดในคอ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านกังวลใจ เพราะอาจส่งผลต่อการกินนม อาหาร การนอน และการหายใจของลูกได้ หากลูกมีอาการเสลดในคอบ่อย ๆ ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและวิธีการดูแลที่เหมาะสม สำหรับเสมหะ หรือเสลดในคอ (chronic secretion in the throat) เป็นสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากต่อมที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ ซึ่งการมีเสลดอาจมีสาเหตุมาจากโรค หรือภาวะผิดปกติบางอย่างของร่างกาย ได้แก่
1. โรคหวัด
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งก่อให้เกิดอาการจาม ไอ ลูกน้อยคัดจมูกน้ำมูกไหล และมีไข้ หากเชื้อหวัดลามลงไปในคอ จะทำให้คออักเสบและเจ็บคอ
2. โรคจมูกอักแสบภูมิแพ้
เกิดจากเยื่อบุในโพรงจมูกสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ทำให้จมูกส่วนหน้ามีน้ำมูกไหลออกมามาก จนน้ำมูกไหลลงคอกลายเป็นเสลดในคอ
3. กรดไหลย้อน
เกิดจากกรดไหลย้อนออกมานอกหลอดอาหารไหลไปที่เยื่อบุจมูกทางด้านบน ไปกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกขึ้นในโพรงจมูก หรือมีเสมหะไหลลงคอ
4. การระคายเคืองในลำคอ
อากาศ หรืออุณหภูมิห้องที่เย็น การไอ รวมถึงสิ่งสกปรก มลพิษที่ปะปนมากับอากาศ ฯลฯ สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองในลำคอ ซึ่งการะคายเคืองในลำคอจะไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะให้ผลิตเสมหะมากกว่าปกติ
5. โรคไซนัสอักเสบ
การอักเสบของไซนัสจะไปกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก เมื่อน้ำมูกไหลผ่านรูเปิดของไซนัสลงคอ ทำให้เกิดเป็นเสมหะในลำคอ
6. ติดเชื้อที่คอ
หากลำคอมีการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค ฯลฯ จะทำให้เยื่อบุลำคอเกิดการอักเสบ ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอ ทำให้มีเสลดในลำคอ
7. แพ้นมวัว
ในเด็กแพ้นมวัว จะมีอาการต่าง ๆ ที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง น้ำมูกไหล และมีเสลดในลำคอ เป็นต้น
ลูกมีเสลดในคอ จะรู้ได้อย่างไร
ลูกมีเสลดในคอทําไงดี หากลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกมีเสลดในคอ ได้แก่
- กระแอม: กระแอมหลายครั้งใน 1 ชั่วโมง การกระแอมเป็นสัญญาณที่ร่างกายพยายามที่จะกำจัดเอาเสมหะออกจากลำคอ
- ไอมีเสมหะ: ร่างกายจะมีการขับสารคัดหลั่งออกมา ทำให้เวลาไอจะมีเสมหะออกมาด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัด ปอดอักเสบ เป็นต้น
ลูกมีเสลดในคอ อันตรายไหม
บริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีเสมหะหรือเสลดอยู่ ซึ่งมีหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นภายในลำคอ และช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาภายในลำคอ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลเวลาที่ลูกมีเสลดในคอ ว่าจะเป็นอันตรายอะไรต่อสุขภาพหรือไม่นั้น สามารถให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยจากสีของเสลดได้ ดังนี้
- เสมหะสีใส: โรคปอดบวม โรคภูมิแพ้ในเด็ก และโรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้น
- เสมหะสีขาว: โรคกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
- เสมหะสีเขียวและเหลือง: โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ โรคปอดบวม เป็นต้น
ลูกมีเสลดในคอทําไงดี ช่วยลูกได้ยังไงบ้าง
หากลูกน้อยมีเสลดในคอ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเบื้องต้นเพื่อช่วยให้เสลดในคอหลุดออก หรือบรรเทาอาการลง ลูกน้อยจะได้รู้สึกสบายตัว ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์เรื่องการกินยา: แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมกับเด็กแต่ละคน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรซื้อยาให้ลูกกินเองเด็ดขาด
- ดูดออก: หากสังเกตดูว่าลูกมีปริมาณเสมหะมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถดูดออกได้ โดยให้ดูดเอาเสมหะที่อยู่ในจมูกและปากออก ซึ่งการดูดเสมหะออกเพื่อไม่ให้เกิดการอาเจียนหรือสำลัก แนะนำให้ดูดเสมหะให้ลูกก่อนมื้ออาหารหรือหลังมื้ออาหารประมาณ 1.30 ชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมง
- เคาะปอด: การเคาะปอดจะช่วยระบายเสมหะที่ติดอยู่ในหลอดลมหลุดออกมา
วิธีเคาะปอด ช่วยระบายเสมหะให้ลูกได้จริงไหม
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยทำให้เสลดหรือเสมหะของลูกหลุดออกได้ด้วยการเคาะปอด สำหรับการเคาะปอด (Chest Percussion) เป็นการระบายเสมหะ ที่เกิดจากการเคาะเพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนผ่านผนังทรวงอกลงไปถึงแขนงหลอดลม ลมที่เกิดจากการเคาะจะไปกระทบผนังทรวงอก ทำให้เสมหะที่เกาะอยู่ที่ทางเดินหายใจส่วนล่างค่อยหลุดออกมา
ซึ่งท่าเคาะปอดสามารถทำได้ถึง 3 ท่า และทั้ง 3 ท่านี้จะต้องทำมือให้มีลักษณะเป็นอุ้งขึ้นมา ด้วยการให้นิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย ชิดกัน ซึ่งต้องทำอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์
1. ท่าอุ้มพาดบ่า
- เด็กเล็ก: ให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกหันหน้าเข้าหาอก โดยจัดให้ศีรษะของลูกพาดอยู่บนไหล่หรือแนบกับลำตัว
- เด็กโต: จัดให้ลูกนั่งหันหน้าออกใช้หมอนหนุนไว้ที่หน้าอกและให้ลูกโน้มตัวไปข้างหน้า จากนั้นให้เคาะด้านหลังส่วนบนเหนือกระดูกสะบักขึ้นไป
2. ท่านอนหงาย
จัดให้ลูกอยู่ในท่านอนหงาย ศีรษะหนุนหมอน ใช้ผ้าบาง ๆ รองบริเวณหน้าอก แล้วเคาะบริเวณระดับไหปลาร้าถึงใต้ราวนมของลูก
3. ท่านอนตะแคง
ให้ลูกนอนตะแคง ยกแขนลูกขึ้นเล็กน้อยไปข้างหน้า แล้วเคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้าง ต่ำจากรักแร้ลงมา
วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อลูกมีเสมหะ
เคล็ดลับเพิ่มเติม หากลูกน้อยเกิดอาการไอมีเสมหะ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้ดังนี้
1. ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ
ให้ลูกดื่มน้ำอุ่น นมอุ่น ๆ และซุปอุ่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และลดความข้นเหนียวของเสมหะ เพื่อให้ร่างกายกำจัดเสมหะออกได้ง่ายขึ้น
2. ให้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
หากลูกมีเสลดในคอ ไม่สบาย คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกนอนหลับพักพอให้เพียงพอ จัดห้องนอนลูกให้อากาศถ่ายเทสะดวก มีลมธรรมชาติ อาจเปิดพัดลมให้ส่ายไปมา และหลีกเลี่ยงอากาศที่เย็นเกินไป อาจงดการเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงที่ลูกไม่สบาย
3. ล้างจมูกให้ลูกด้วยน้ำเกลือ
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือด้วยวิธีที่ถูกต้องเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดอาการคัดจมูก ชะล้างสิ่งสกปรกและสารก่อภูมิแพ้ และช่วยบรรเทาลูกไอมีเสมหะได้
ลูกมีเสลดในคอคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเบื้องต้นที่บ้านได้ เช่น การให้ดื่มน้ำอุ่น การเคาะปอด การดูดเสมหะ และการล้างจมูก สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตามหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก ลูกหายใจมีเสียงหวีด ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
- นิทานเด็กทารกสำคัญกับลูกไหม คุณแม่ควรอ่านเรื่องอะไรให้ลูกน้อยฟังดี
อ้างอิง:
- เสมหะในคอสามารถบอกโรคอะไรได้บ้าง, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ว้า! มีเสมหะในคอตลอดเลย...น่ารำคาญจัง, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- “หวัดลงคอ” โรคนี้มีด้วยหรือ อาการเป็นอย่างไร?, โรงพยาบาลศิครินทร์
- อาการแพ้นมวัวในเด็ก ที่พ่อแม่ควรระวังในการดูแลลูกน้อย, โรงพยาบาลบางปะกอก
- อะแฮ่ม...กระแอมเรื่อยเลย...ทำอย่างไรดี, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ลักษณะอาการไอ บอกอะไรเราได้บ้าง แบบไหนเรียกว่าอันตราย, โรงพยาบาลนวเวช
- ไอมีเสมหะ สัญญาณบอกโรคและวิธีรักษา, Pobpad
- ช่วยเด็กเพื่อไอเอาเสมหะออกเองได้อย่างไร, โรงพยาบาลวิภาวดี
- การเคาะปอดจัดท่าระบายเสมหะในเด็ก, โรงพยาบาลบางปะกอก 9
- 3 ท่าเคาะปอดเมื่อลูกมีเสมหะ, โรงพยาบาลวัฒนแพทย์
- ลูกไอมีเสมหะ กับวิธีดูแลที่พ่อแม่ควรรู้, Pobpad
- เมื่อลูกเป็นหวัด มีไข้ ดูแลอย่างไรให้หายดี?, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 15 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง