ทารกท้องเสีย ทารกถ่ายเหลว การขับถ่ายของทารกแรกเกิด
ทารกท้องเสีย จากน้ำนมแม่ ทารกถ่ายเหลว จนก้นแดง เป็นสิบครั้ง ทั้งที่กินนมแม่อย่างเดียว ผิดปกติหรือเปล่า กับอาการของลูกรัก กินนมแม่ทีปู๊ดป๊าด ท้องเสียตลอด ลูกถ่ายจนก้นแดงไปหมดแล้ว แม่นี้สงสาร แม่ต้องทำยังไง
ทารกท้องเสีย ทารกถ่ายบ่อย ทารกถ่ายเหลว
ทารกถ่ายเหลว ทารกถ่ายบ่อยทุกครั้งหลังกินนมแม่ หรืออาการที่คล้ายกับทารกท้องเสีย เป็นสิ่งที่แม่มือใหม่กังวลอย่างมาก เพราะไม่รู้เลยว่า ลูกเป็นอะไรหรือเปล่า นี่คืออาการปกติของทารกหรือไม่ ลูกถ่ายบ่อย หรือทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่
พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล อธิบายถึงอาการถ่ายบ่อย ๆ ของทารกที่กินนมแม่ว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวแล้วถ่ายบ่อย ๆ เป็นเรื่องปกติ นั่นก็เพราะนมแม่ย่อยง่าย โดยเฉพาะทารก 1 เดือนแรกนั้น กินนมแม่ไปถ่ายไปเลยทีเดียว แต่น้ำหนักทารกก็ยังขึ้นได้ดี สำหรับทารกที่ถ่ายจนก้นแดงมีสาเหตุมาจาก
- แม่มีน้ำนมแม่มาก ทารกกินแล้วได้น้ำนมส่วนหน้าไปมากจนเต็มท้องก่อนจะถึงน้ำนมส่วนหลัง
- การที่ทารกกินนมแม่จากเต้าแรกไม่นาน แล้วเปลี่ยนไปกินอีกข้างหนึ่ง เปลียนไปมาบ่อย ๆ ในมื้อเดียวกันทั้งสองการณีนี้ จะทำให้ทารกได้น้ำนมส่วนหน้าเข้าไปมาก น้ำนมส่วนนี้จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่าน้ำนมส่วนหลัง จึงทำให้ผ่านลงไปสู่ลำไส้เร็วกว่า และแลคโต๊สจำนวนมากที่ลงสู่ลำไส้ ลำไส้จะรับมือไม่ไหว ไม่สามารถดูดซึมได้หมด จึงเสมือนมีแลคโต๊สมาก และไปทำให้มีน้ำออกมาจากผนังลำไส้เพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ถ่ายมีน้ำและลมปู๊ดป๊าดมาก ทั้งนี้ แลคโต๊สในนมแม่นั้นทารกย่อยได้อยู่แล้ว เพียงแต่ปริมาณที่ลงสู่ลำไส้จะมากกว่าที่ควร เพราะผ่านลงไปเร็ว ลำไส้ย่อยไม่ทัน
วิธีแก้ปัญหาทารกถ่ายเหลว บ่อยจนก้นแดง
- หากแม่มีน้ำนมแม่มาก ให้แม่บีบน้ำนมส่วนหน้าที่มาก ๆ เอาแช่แข็งไว้ก่อน ไว้สักครึ่งเต้า แล้วค่อยเอาลูกมาดูด ทำอย่างนี้ทั้สองข้างสักพักจนลูกถ่ายดีขึ้น
- หากทารกกินนมแม่จากเต้าแรกไม่นาน แล้วเปลี่ยนไปกินอีกข้าง ให้แก้ปัญหาด้วยการให้ลูกดูดนมแม่จนเกลี้ยงเต้าเป็นข้าง ๆ ไป ให้ได้น้ำนมส่วนท้ายทีมีไขมันมาก นมจะได้อยู่ท้อง และไม่ลงไปทำให้มีน้ำมากในลำไส้

นมแม่ทำให้ถ่ายง่าย จึงทำให้ ทารกถ่ายเหลว ทารกจึงถ่ายบ่อย
ในนมแม่ มีส่วนประกอบที่ทำให้ถ่ายง่ายอยู่หลายอย่าง เช่น มีเวย์โปรตีนที่ย่อยง่าย มีน้ำตาลแลคโตส (lactose) และโอลิโกแซคคาไรด์ (oligosaccharide) ซึ่งช่วยเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดี เช่น เชื้อแลคโตเบซิลัส (lactobacillus) เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งช่วยให้ลำไส้เคลื่อนตัวเร็ว เหล่านี้เป็นเหตุที่ช่วยให้ ทารกถ่ายเหลว และทำให้อุจจาระนิ่มมากขึ้น
รู้ได้อย่างไรว่า ทารกถ่ายเหลว เพราะไม่สบาย
แม่ต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ประกอบกับอาการทารกท้องเสีย จะได้รู้ว่า ลูกกำลังไม่สบาย ต้องพาไปหาหมอทันที ซึ่งแม่ต้องดูอาการผิดปกติอื่น ๆ ดังนี้
ลูกงอแงผิดปกติ
- มีอาการซึม
- เป็นไข้ มีไข้สูงให้ระวังอาการชัก
- ลูกอาเจียนบ่อย ๆ
- หายใจไม่สะดวก หายใจหอบ
- เบื่อหน่ายอาหาร ไม่อยากกินนม
อุจจาระทารกแรกเกิดปกติ ต้องสีแบบไหน
สีอุจจาระทารกเป็นสิ่งสำคัญที่แม่ ๆ ต้องหัดสังเกตให้ดี โดยพญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล บอกเล่า ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่ว่า ลักษณะของอุจจาระทารก และสีของอุจจาระทารก จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบอายุของทารกและอาหารที่แม่รับประทานเข้าไป
อุจจาระทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว
ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจะค่อนข้างเหลว บางครั้งทารกก็ถ่ายเป็นน้ำ ทำให้แม่คิดว่าทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่ แต่จริง ๆ แล้ว สีและลักษณะอุจจาระของทารก มีสิ่งที่สำคัญที่แม่ต้องหัดสังเกต ตั้งแต่วัยทารกแรกเกิดหรือเพิ่งคลอด โดยสีอุจจาระของทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจออกมาเป็นน้ำสีเขียว ๆ ปนเม็ดมะเขือ เป็นน้ำสีเหลือง หรือน้ำสีเขียวจำนวนไม่มากติดออกมากับผ้าอ้อม บางคนมีมูกเขียว ๆ ปนออกมาด้วย กลิ่นของอุจจาระจะยังคงเป็นกลิ่นหอมอ่อน ๆ ต่างจากกลิ่นเหม็นเน่าหรือเหม็นเปรี้ยวของอุจจาระทารกที่ท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
การเปลี่ยนแปลงของอุจจาระทารกที่กินนมแม่
• อุจจาระทารกแรกเกิด 1-2 วันแรก ทารกจะถ่ายไม่บ่อย เพียงวันละ 1 - 2 ครั้ง ในช่วง 1-2 วันแรก ส่วนลักษณะของอุจจาระทารกแรกเกิด จะเหนียว สีของอุจจาระทารกแรกเกิดจะออกสีเขียวเข้มถึงดำคล้ายน้ำมันดิน เรียกกันว่า ขี้เทา
• อุจจาระทารกแรกเกิด วันที่ 2 ในวันที่ 2 จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สีของอุจจาระทารกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวจาง ๆ ลง ลักษณะของอุจจาระทารกเริ่มมีน้ำปนมากขึ้น ทารกบางคนมีสีน้ำตาลปนเม็ด ๆ ในอุจจาระ อย่างไรก็ตาม ทารกที่ขับถ่ายขี้เทาได้ดีในวันแรก ๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ทารกได้รับพลังงานจากน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ ข้อดีอีกอย่างคือ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดตัวเหลือง หลังคลอด
• อุจจาระทารกแรกเกิด วันที่ 3-4 สีอุจจาระจะค่อย ๆ จางลงจากเขียวเข้มเป็นสีเขียวปนเหลือง เพราะทารกได้ดูดนมแม่บ่อยขึ้น ลักษณะของอุจจาระทารกจะเหนียวน้อยลงและมีน้ำปนมากขึ้น และทารกจะเริ่มขับถ่ายบ่อยขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 3 - 4 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว
• อุจจาระทารกแรกเกิด วันที่ 4 เป็นต้นไป เมื่อถึงวันที่ 4 ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจถ่ายท้องคล้ายกับอาการท้องเสีย สีอุจจาระทารกออกเป็นสีเหลืองทอง คล้ายโจ๊กใส่ฟักทอง ลักษณะอุจจาระทารกจะนิ่ม ๆ จนถึงขั้นเหลว เพราะมีน้ำปนอยู่มาก หากสังเกตผ้าอ้อมจะเห็นว่า เนื้ออุจจาระอยู่ตรงกลาง มีน้ำ ๆ อยู่รอบ ๆ ย้ำอีกครั้งนะคะว่านี่ไม่ใช่อาการท้องเสียของทารกที่กินนมแม่!
• อุจจาระทารกปกติ : ลูกอายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์ ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ จะถ่ายโดยมีเนื้ออุจจาระมากขึ้น และถ่ายท้องได้ 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อวัน ทารกบางคนถ่ายน้อย ๆ แต่ถ่ายบ่อย ๆ หลังจากดูดนมแม่ทุกครั้ง เป็นสัญญาณที่ดีว่าทารกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอ ลักษณะอุจจาระคล้ายเม็ดมะเขือปนอยู่ มีสีเหลืองทอง
• อุจจาระทารกปกติ : ลูกอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป การเปลี่ยนแปลงของอุจจาระทารกในช่วงนี้จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น ลักษณะอุจจาระจะมีเนื้อมากขึ้น จากที่เคยเละเป็นโจ๊ก จะคล้ายกับยาสีฟันเหนียว ๆ สีอุจจาระมีตั้งแต่สีเหลืองทองจนถึงสีออกเขียวปนเหลือง สีของอุจจาระทารกในช่วงนี้จะเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่รับประทาน ส่วนจำนวนครั้งก็จะลดลงเหลือ 1-2 ครั้ง
นอกจากนี้ อาการ ลูกท้องผูก หรือ ลูกถ่ายแข็ง ก็ยังเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย เช่นกรณี ทารกอายุ 1 เดือน ไม่ถ่ายอุจจาระมา 7 วัน ตรวจร่างกายทารกปกติดีไม่มีท้องอืด เมื่อกระตุ้นโดยการใช้นิ้วก้อยสอดเข้าในทวารหนัก ทารกถ่ายอุจจาระสีเหลืองทองจำนวนมากไม่พบลักษณะก้อนแข็ง เช่นนี้คืออุจจาระปกติของทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงเดือนที่สองเป็นต้นไป
แม่กินอะไร สีอุจจาระของลูกก็เปลี่ยนไปได้อย่างนั้น
อาหาร ผักบางชนิด น้ำผลไม้ หรือ วิตามินที่แม่รับประทานอาจจะทำให้สีอุจจาระของลูกเปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น จากปกติที่สีอุจจาระทารกเป็นสีเหลืองทอง แต่แม่ทานผักบุ้งจำนวนมาก ก็ทำให้สีอุจจาระลูกออกมาเป็นสีเขียวได้
สิ่งที่แม่ต้องสังเกตอุจจาระทารกท้องเสีย เมื่อทารกถ่ายเหลว
อุจจาระทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวไม่ควรพบเลือดสีแดง ๆ ปน ถ้าพบว่ามีเส้นสีแดง ๆ อยู่ในอุจจาระทารกท้องเสีย อาจเกิดจาก
- ทารกเพศหญิงในวันแรก ๆ หลังคลอดอาจมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดจากอิทธิพลของฮอร์โมนของแม่ เป็นภาวะปกติที่จะค่อย ๆ หายไป
- ปฏิกิริยาต่อนมวัว หรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่แม่รับประทาน และมีโปรตีนนมวัวเล็ดลอดออกมากับนมแม่
- รอยแผลที่บริเวณทวารหนัก หรือในลำไส้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ท้องผูกในเด็ก อุจจาระเด็กท้องผูกเป็นอย่างไร
อ้างอิง
บทความโดย
theAsianparent Thailnad
https://th.theasianparent.com/%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B…