อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 16 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 16 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

04.03.2020

อายุครรภ์ของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 16 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญและพิเศษ เพราะลูกน้อยที่อยู่ในท้องของคุณแม่กำลังเติบโตและมีพัฒนาการทางด้านร่างกายอย่างชัดเจน หากตรวจด้วยเครื่องฟังเสียงความถี่สูงอาจได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจ โดยทารกจะเริ่มมีเปลือกตา ขนตา ขนคิ้ว เส้นผม และเล็บเกิดขึ้นแล้ว การเตรียมตัวของคุณแม่ให้พร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 16 เป็นต้นไปจนถึงช่วงเวลาคลอด จะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างมาก การศึกษารับรู้ข้อมูลและหมั่นสังเกตตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่เพื่อพร้อมต้อนรับลูกน้อยที่จะเกิดมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยนั่นเอง

headphones

PLAYING: อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 16 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อ่าน 8 นาที

 

สรุป    

  • ช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ลูกน้อยจะมีโครงสร้างทางร่างกาย ทั้งภายนอกและภายในทำงานได้ ขนาดตัวของลูกน้อยจะเท่ากับผลอะโวคาโด คุณแม่จะเริ่มรับรู้การดิ้นของลูกน้อย อีกทั้งคุณแม่ยังสามารถรู้ถึงเพศของลูกน้อยได้แล้ว ซึ่งคุณแม่ก็จะได้เตรียมความพร้อมสำหรับการดูแลลูกน้อยให้ได้รับพัฒนาการที่ดีตั้งแต่การตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอด รวมไปถึงการวางแผนให้หนูน้อยได้รับนมแม่ที่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
  • คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและฮอร์โมนในร่างกายอย่างเห็นได้ชัดเจน อาจมีอาการที่แทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น ริดสีดวง เลือดกำเดาไหล ปวดเมื่อย ท้องผูก เส้นเลือดขอด หากมีอาการที่รุนแรง ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาหรือแก้ไขอาการเหล่านี้
  • ในสัปดาห์ที่ 16 คุณแม่ควรศึกษาวิธีปฏิบัติตนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อลูกน้อยในครรภ์ เช่น การทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ การออกกำลังกายเบา ๆ ฟังเพลง ทำอารมณ์ให้แจ่มใส โดยเฉพาะการเลือกทานอาหาร คุณแม่จะต้องคำนึงถึงสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองของลูกน้อย เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่ออวัยวะของลูกน้อยทำงานเต็มที่ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยมากขึ้น อาจทำให้รู้สึกเหมือนกล้ามเนื้อกระตุกในบางเวลาและเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น การเคลื่อนไหวของลูกน้อยก็จะชัดเจนขึ้นและรู้สึกได้ ทำให้คุณแม่รู้ว่าลูกน้อยมีพัฒนาการและกำลังจะเติบโตเป็นทารกที่แข็งแรง ในอายุครรภ์ช่วงนี้กล้ามเนื้อของลูกน้อยกำลังแข็งแรงขึ้น คิ้วและขนตาของลูกน้อยเริ่มยาวขึ้น มีการนอนและตื่นเป็นเวลา ในส่วนของการได้ยินจะเริ่มต้นได้ยินเสียงต่าง ๆ ทารกสามารถได้ยินเสียงเพลง หรือการพูดคุยจากคุณพ่อคุณแม่ได้

 

อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ อัลตราซาวด์เห็นเพศลูกได้ชัวร์หรือไม่

ช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ หรือเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ ลูกน้อยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายพร้อมกับการได้ยินเสียงของคุณแม่ได้แล้ว การตอบสนองของลูกน้อยเป็นไปอย่างนุ่มนวล และในช่วงสัปดาห์นี้เอง คุณแม่จะตื่นเต้นที่สุด เพราะอาจจะได้ทราบเพศของลูกน้อยแล้วว่าเป็นหญิง หรือชาย หากคุณหมอนัดตรวจครรภ์และทำการอัลตราซาวด์ เพื่อดูความสมบูรณ์แข็งแรงของลูกในครรภ์ ทั้งขนาดลำตัว ความยาว น้ำหนัก ระดับน้ำคร่ำ และการเคลื่อนไหวร่างกาย คุณหมอจะสามารถช่วยดูเพศให้ได้ว่าลูกน้อยเป็นเพศหญิง หรือเพศชาย แต่คุณแม่อาจจะต้องลุ้นด้วยว่าลูกน้อยจะอยู่ในท่าทางที่เหมาะสมหรือไม่

 

อาการคนท้อง 16 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป

 

อาการคนท้อง 16 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป

1. ริดสีดวง

คุณแม่ตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะเป็นริดสีดวงมากกว่าคนทั่วไป เพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มดลูกขยายไปกดทับหลอดเลือดดำในช่องท้อง จึงทำให้หลอดเลือดดำบริเวณก้นเกิดอาการเลือดคั่งเป็นกระจุก หากมีอาการท้องผูก ขับถ่ายที่แข็งหรือนั่งนานก็อาจจะทำให้เป็นแผลและเลือดออกและกลายเป็นริดสีดวงได้ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการเจ็บบริเวณภายในหรือขอบทวารหนัก หรือพบติ่งเนื้อที่บริเวณขอบทวารหนัก ทำให้เวลาขับถ่ายรู้สึกเจ็บ และมีเลือดออกอาจเป็นอาการของริดสีดวง จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกัน: คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ อย่านั่งยองหรือทิ้งน้ำหนักเป็นเวลานาน หากปวดท้องขับถ่ายให้เข้าห้องน้ำทันที อย่าเบ่งแรงหรือนั่งห้องน้ำที่นานเกินไป

 

2. เลือดกำเดาไหล

เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดในร่างกายขยายใหญ่ซึ่งในโพรงจมูกซึ่งมีเส้นเลือดฝอยที่เปราะบางและอาจแตกได้ง่าย จึงอาจทำให้มีเลือดออกบริเวณโพรงจมูก และรู้สึกเจ็บได้ ซึ่งถือเป็นอาการที่พบบ่อยของคุณแม่ตั้งครรภ์

วิธีป้องกัน: คุณแม่ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูกหรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงต่อเนื่องนาน ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีสภาพอากาศแห้ง

 

3. อาการปวดเมื่อย

เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 16 สภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนไป จึงเกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้

วิธีป้องกัน: คุณแม่อาจใช้วิธีอาบน้ำอุ่นเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย การประคบร้อนหรือประคบเย็นตามความเหมาะสม การจัดท่านอนให้อยู่ในท่าที่สบาย เช่น นอนตะแคง การออกกำลังกายเบา ๆ และกินอาหารสำหรับคนท้องที่มีประโยชน์ เป็นต้น

 

4. อาการท้องผูก

อาจเกิดจากการขยายใหญ่ขึ้นของมดลูกจนไปกดทับลำไส้ใหญ่ มีส่วนทำให้ระบบการขับถ่ายของคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์หรือผิดปกติไปจากเดิม ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกและเกิดปัญหาเรื่องการขับถ่าย ดังนั้นคุณแม่ต้องระวัง หากมีอาการท้องผูกเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เป็นริดสีดวงได้

วิธีป้องกัน: คุณแม่พยายามกินอาหารที่มีกากใยสูงเข้าไว้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายให้เหมาะสำหรับการตั้งครรภ์ ที่สำคัญคุณแม่จะต้องสร้างสุขลักษณะนิสัยการขับถ่ายที่ดีให้สม่ำเสมอ

 

5. เส้นเลือดขอด

ในช่วงอายุครรภ์นี้คุณแม่อาจพบอาการของเส้นเลือดขอดอย่างชัดเจน เนื่องจากมดลูกเกิดการขยายตัว ทำให้แรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้นและมีอาการบวมและปูดขึ้นมาเป็นเส้นสีเขียวหรือสีม่วงตามสภาพผิวของคุณแม่ได้ โดยจะพบเส้นเลือดขอดบริเวณส่วนที่รับน้ำหนักตัว เช่น บริเวณขาพับหรือต้นขา

วิธีป้องกัน: แม่ที่ตั้งครรภ์ควรป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอด โดยหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งห้อยเท้านาน ๆ เวลานอนคุณแม่ควรหาหมอนมาหนุนให้เท้าสูงขึ้นกว่าปกติ หากหลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนานไม่ได้ คุณแม่ควรใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดพันรอบจากเท้ามาถึงใต้หัวเข่าหรือ โคนขาจะช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดขอดเป็นมากขึ้น

 

อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ท้องของคุณแม่จะใหญ่ขึ้นขนาดไหน

ในสัปดาห์ที่ 16 ถือว่าคุณแม่เดินทางมาได้ราวครึ่งทางของการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ หรืออ่อนเพลียของคุณแม่จะลดลง ทำให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น เนื่องจากร่างกายเริ่มปรับตัวได้ดีมากขึ้น ขนาดของครรภ์เริ่มขยายใหญ่ขึ้นตามขนาดของลูกน้อย มดลูกยกสูงขึ้น คุณแม่อาจมีอาการเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ หรือเท้าบวมเมื่อนั่งห้อยขานาน และขนาดของเต้านมขยายใหญ่ขึ้น รวมไปถึงการขับถ่ายยากขึ้นจนถึงอาการท้องผูก ดังนั้นคุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยระบบขับถ่ายให้ดียิ่งขึ้น

 

ท้อง 16 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน

ทารกในครรภ์อายุ 16 สัปดาห์ จะมีพัฒนาการทางร่างกายเติบโตอย่างรวดเร็ว น้ำหนักตัวประมาณ 125 กรัม มีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มมีนิ้วมือ นิ้วเท้า พร้อมลายนิ้ว รวมไปถึงมีขนคิ้ว ขนตา เปลือกตา เส้นผมและเล็บเริ่มงอก ลูกน้อยจะเริ่มมีการดูดนิ้วมือ อาการหาว ได้ยินเสียงต่าง ๆ จากภายนอก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยหรืออ่านนิทานให้ลูกน้อยฟังได้ และลูกน้อยจะขยับอวัยวะได้มากขึ้น จนทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกดิ้น โดยเมื่อหากลูกอยู่ในท่าทางที่เหมาะสมหรือให้ความร่วมมือที่น่ารักกับคุณหมอ คุณแม่จะสามารถทราบเพศของลูกน้อยได้ด้วยนะคะ นับเป็นช่วงเวลาตั้งครรภ์ที่สำคัญช่วงเวลาหนึ่งเลยค่ะ

 

พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 16 สัปดาห์

  • เริ่มได้ยินเสียงของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงเพลง เสียงเต้นของหัวใจและเสียงจากอวัยวะภายในของคุณแม่
  • ไตและระบบกรองของเสียของลูกน้อยก็จะเริ่มทำงานอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก เริ่มมีการขับถ่ายปัสสาวะออกมาหมุนเวียนเป็นน้ำคร่ำ

 

เมื่ออายุครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ คุณแม่จะดูแลตัวเองอย่างไร

ช่วงเวลาแห่งการดูแลตัวเองในสัปดาห์ที่ 16 นี้มีความสำคัญมาก เพราะการดูแลเอาใจใส่ตัวเอง ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพคุณแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการดูแลสุขภาพของลูกน้อยผ่านคุณแม่โดยตรง และคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เช่น

  • ตกขาวผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีสีผิดปกติ อาจเกิดการติดเชื้อ
  • มีการอักเสบ บวมแดง หรือคันบริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจทำให้ลูกในครรภ์ติดเชื้อร่วมด้วย
  • อาการแสบลิ้นปี่ หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหาร เกิดได้จากการขยายตัวของมดลูกจนไปดันกระเพาะอาหาร รวมถึงหญิงตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงทำให้กล้ามเนื้อของหลอดอาหารขยายตัว น้ำย่อยเลยอาจไหลย้อนขึ้นไปได้ ซึ่งการนอนท่ายกสูงและดื่มน้ำให้เพียงพออาจช่วยทุเลาได้

 

การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 16 สัปดาห์

 

การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 16 สัปดาห์

  1. ปฏิบัติตามข้อแนะนำของคุณหมออย่างสม่ำเสมอไปจนถึงคลอด เพราะการปฏิบัติดูแลเอาใจใส่ทั้งร่างกายและจิตใจจะส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของลูกน้อย
  2. ให้คุณแม่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยการขับถ่ายง่าย ให้ระมัดระวังการกินอาหารที่มีรสหวานเกินไป หรือของหมักของดอง
  3. คุณแม่หาวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ดูซีรีย์สักเรื่อง ทำกิจกรรมหรือดูสื่อบันเทิงที่มีความชื่นชอบ
  4. คุณแม่อาจจะรู้สึกเหนื่อยง่าย เพราะมีการรับน้ำหนักหรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ ควรออกกำลังกายเบา ๆ บ้างหากมีเวลา เพื่อการไหลเวียนของเลือด คุณแม่จะได้ผ่อนคลาย

 

การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 16 นี้ ถือเป็นเกือบครึ่งทางของการตั้งครรภ์ทั้งหมดแล้ว คุณแม่มีความมั่นใจมากขึ้นในการดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์มาได้อย่างดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การทำจิตใจให้ผ่อนคลาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกกำลังกายเบา ๆ ดูหนังฟังเพลง พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้คุณแม่คลายความกังวลขึ้นได้มาก อย่าลืมว่าในสัปดาห์นี้คุณแม่อาจจะทราบแล้วว่าเจ้าตัวเล็กเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย คุณแม่อาจเริ่มเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ หรือสรรหาสิ่งของที่เหมาะสมกับลูกน้อยได้อย่างเต็มที่เลย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
  2. พัฒนาการของทารกในครรภ์, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. ริดสีดวงกับคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  4. เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม รับมืออย่างไร, PobPad
  5. ท้อง 4 เดือน คู่มือดูแลสุขภาพครรภ์และสิ่งที่คุณแม่ควรรู้, PobPad
  6. บทความวิชาการ เรื่อง “เส้นเลือดขอด (Varicose)”, แพทย์หญิงปิยนุช พูตระกูล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  7. ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 14 - 28 สัปดาห์ ), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  8. โรคจมูกและไซนัสในหญิงตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  9. คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 2 (อายุครรภ์ 4 - 6 เดือน), โรงพยาบาลเปาโล
  10. อาการไม่สบายตอนท้อง…..เป็นอันตรายไหม?, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง ณ วันที่ 12 มกราคม 2567
 

บทความแนะนำ

คุณแม่ปวดท้องข้างขวา บอกอะไรบ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ

คุณแม่ปวดท้องข้างขวา บอกอะไรบ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ

ว่าที่คุณแม่ปวดท้องข้างขวา มีอาการปวดท้องน้อยหน่วง ๆ เกิดจากอะไร อาการแบบนี้เกิดกับคุณแม่ท้องทุกคนหรือไม่ คุณแม่มีอาการปวดท้องข้างขวา ควรดูแลตัวเองยังไง ไปดูกัน

คนท้องกินยาพาราได้ไหม ทำไมก่อนกินยาคนท้องต้องปรึกษาหมอทุกครั้ง

คนท้องกินยาพาราได้ไหม ทำไมก่อนกินยาคนท้องต้องปรึกษาหมอทุกครั้ง

คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดหัว ปวดตัวและปวดหลังขณะตั้งครรภ์ อาการแบบนี้คนท้องกินยาพาราได้ไหม ทำไมก่อนกินยาแต่ละครั้งคนท้องต้องปรึกษาหมอทุกครั้งก่อนรับประทานยา

คุณแม่ปวดท้องข้างซ้าย บอกอะไรได้บ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ

คุณแม่ปวดท้องข้างซ้าย บอกอะไรได้บ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ

คุณแม่ปวดท้องข้างซ้าย มีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย อาการแบบนี้เกิดกับคุณแม่ท้องทุกคนหรือไม่ คุณแม่มีอาการปวดท้องข้างซ้าย ควรดูแลตัวเองยังไง ไปดูกัน

พาหะธาลัสซีเมีย อันตรายไหม ทำไมควรตรวจธาลัสซีเมียก่อนแต่งงาน

พาหะธาลัสซีเมีย อันตรายไหม ทำไมควรตรวจธาลัสซีเมียก่อนแต่งงาน

พาหะธาลัสซีเมีย คืออะไร โรคธาลัสซีเมีย อันตรายไหม ทำไมควรตรวจหาธาลัสซีเมียก่อนแต่งงานและก่อนวางแผนตั้งครรภ์ ไปดูอาการโรคธาลัสซีเมียและวิธีการตรวจเบื้องต้น

คนท้องกินกาแฟได้ไหม ตั้งครรภ์แต่ติดกาแฟอันตรายหรือไม่ ทำอย่างไรดี

คนท้องกินกาแฟได้ไหม ท้องอยู่แต่ติดกาแฟอันตรายกับลูกหรือเปล่า

คนท้องกินกาแฟได้ไหม คุณแม่ท้องติดกาแฟมาก กินกาแฟช่วงตั้งครรภ์ได้ไหม จะเป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า ควรกินเท่าไหร่ถึงไม่อันตรายกับลูกน้อย

เช็กน้ำหนักทารกในครรภ์ ลูกน้ำหนักตัวเท่าไหร่ คุณแม่ควรรู้อะไรบ้าง

ตารางน้ำหนักทารกในครรภ์ น้ำหนักลูกในครรภ์ที่แม่ควรรู้

ตารางน้ำหนักทารกในครรภ์ น้ำหนักลูกในครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ เพราะน้ำหนักทารกในครรภ์ ช่วยบอกถึงพัฒนาการตามวัยของลูกน้อยในท้องได้

ปากมดลูกเปิดมีอาการยังไง กระตุ้นปากมดลูกนานแค่ไหน กว่าจะคลอด

กระตุ้นปากมดลูก ปากมดลูกเปิดมีอาการยังไง นานแค่ไหนกว่าจะคลอด

เมื่อคุณแม่ใกล้คลอด ปากมดลูกจะเริ่มเปิดมากขึ้น อาการปากมดลูกเปิดเป็นยังไง คุณแม่ใกล้คลอดต้องกระตุ้นปากมดลูกไหม พร้อมอาการใกล้คลอดที่คุณแม่ควรรู้