อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 18 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
เดินทางเข้าสู่สัปดาห์ที่ 18 ของการตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่หลายท่านอาจจะเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้มากขึ้น และชัดเจนขึ้น รวมถึงคุณแม่บางท่านอาจพบเจออาการกวนใจระหว่างการตั้งครรภ์ที่ทำให้รู้สึกแปลกใหม่ไปบ้าง แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป เพราะเป็นเรื่องที่พบได้เป็นปกติในคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งนั้น วันนี้เราจะมาดูกันว่าในช่วงอายุครรภ์ 18 สัปดาห์นี้ คุณแม่จะพบเจออาการอะไรบ้าง และต้องดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อที่จะได้รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้อย่างเหมาะสมที่สุด
สรุป
- สัปดาห์ที่ 18 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และร่างกาย และพบเจออาการต่าง ๆ มากขึ้น เช่น อาการปวด มือเท้าบวม หิวและกระหายมากขึ้น เป็นตะคริว หัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักขึ้น คุณแม่จึงต้องทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีมากขึ้น
- ในสัปดาห์นี้ลูกน้อยในท้องพัฒนาขึ้นมาก มีขนาดเทียบเท่ามันหวาน และเป็นช่วงเวลาที่คุณหมอจะอัลตราซาวด์ดูพัฒนาการลูกน้อยด้วย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ หัวใจของคุณแม่ทำงานหนักขึ้น
- อาการคนท้อง 18 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 18 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 18 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 18 สัปดาห์
- สารอาหารที่คุณแม่ควรเลือกทานเพิ่มเป็นพิเศษ
ในช่วงสัปดาห์ที่ 18 ของการตั้งครรภ์นี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณหมอจะตรวจอัลตราซาวด์ให้กับคุณแม่ เพื่อตรวจสุขภาพและดูพัฒนาการของทารกน้อยในครรภ์ เช็กดูความผิดปกติและดูพัฒนาการรูปร่างของลูกน้อย ตรวจตำแหน่งรก หากพบความผิดปกติจึงจะได้รีบรักษาแต่เนิ่น ๆ
รวมถึงการตรวจคัดกรองความผิดปกติของการเจริญเติบโตที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนของทารก เช่น โรคหัวใจ ความผิดปกติของแขนขา คุณแม่จะได้เห็นภาพลูกน้อยน่ารัก ๆ ผ่านการอัลตราซาวด์ เช่น หัวใจเต้นตุ๊บ ๆ กระดูกสันหลังโค้งเป็นรูปสวย ใบหน้า และสังเกตการเติบโต น้ำหนัก ขนาดศีรษะ เป็นต้น
อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ หัวใจของคุณแม่ทำงานหนักขึ้น
การตั้งครรภ์ส่งผลต่อการทำงานหัวใจและหลอดเลือดของคุณแม่ให้หนักขึ้น เพราะระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่เพียงแต่ทำงานเพื่อตัวคุณแม่เองเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเลือดและสารอาหารไปเลี้ยงอีกหนึ่งชีวิตตัวน้อยในครรภ์อีกด้วย ทำให้หัวใจของคุณแม่อาจเต้นเร็วขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่จะค่อย ๆ ลดลงในช่วงไตรมาสที่ 2 และอาการเหล่านี้จะลดลงไปจนถึงหายไปหลังจากคลอดทารกน้อยแล้ว
อาการคนท้อง 18 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
ช่วงอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ทารกน้อยในครรภ์เริ่มมีการเจริญเติบโตขึ้นมาก และ อยู่ใน ช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงและพบเจออาการเหล่านี้ได้
1. รอยแตกลาย
คุณแม่อาจสังเกตเห็นรอยแตกลายเป็นเส้นสีชมพู แดง ม่วง หรือน้ำตาลปรากฏบนหน้าท้อง หน้าอก สะโพก และต้นขา หรือส่วนอื่น ๆ รอยแตกเหล่านี้เป็นรอยแตกลายที่พบได้ปกติในคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่เป็นอันตราย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนและผิวที่ขยายตัวรองรับลูกน้อยที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยทั่วไปรอยจะค่อย ๆ จางลงและมองเห็นได้น้อยลงหลังคลอดทารกน้อย
2. หิว และกระหายน้ำ
ร่างกายคุณแม่จะต้องการสารอาหารมากขึ้น เพื่อการเติบโตของทารกในครรภ์ และรู้สึกกระหายน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำเพื่อเสริมสร้างระบบไหลเวียนเลือดของลูกน้อย รักษาปริมาณน้ำคร่ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปรับตัวกับปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นของแม่ และอีกสาเหตุหนึ่งคือ ร่างกายคุณแม่อาจรู้สึกร้อนกว่าปกติ และเหงื่อออกมากขึ้น ทำให้ร่างกายต้องการน้ำเข้ามามากขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียไป
3. มือบวม เท้าบวม
ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว เมื่อพบเจออาการมือบวม และเท้าบวม เกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นกดทับหลอดเลือด ร่างกายผลิตฮอร์โมนมากขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อกักเก็บน้ำได้มากกว่าปกติ แนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ นอนตะแคง นวดเท้า ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ
4. ความวิตกกังวล
จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางร่างกายที่เกิดขึ้น และอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้ ทำให้คุณแม่หลายท่านรู้สึกวิตกกังวล ซึ่งอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจหาวิธีการผ่อนคลาย ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบให้จิตใจสงบได้ผ่อนคลายบ้าง
5. ตะคริว
คุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่านอาจพบเจออาการตะคริวที่ขาบริเวณกล้ามเนื้อน่อง ซึ่งมักเป็นบ่อยในช่วงกลางคืน แนะนำว่าให้คุณแม่ยืดผ่อนคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ อาจจะอาบน้ำอุ่นหรือนวดเบา ๆ ช่วยบรรเทาอาการตะคริวได้
6. นอนกรน
อาการนอนกรนอาจเกิดได้จากน้ำหนักตัวของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง การไหลเวียนของเลือด แนะคุณแม่ที่มีอาการปรับท่านอนเป็นนอนตะแคง ใช้หมอนหนุนให้สูงขึ้น
ท้อง 18 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
สรีระทางร่างกายที่แตกต่างกัน ทำให้ขนาดท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนมีขนาดที่แตกต่างกันออกไปด้วย บางคนอาจยังไม่ค่อยเห็นท้องที่ยื่นขยาย หรือบางคนอาจเริ่มเห็นสัดส่วนหน้าท้องขยายชัดเจนแล้ว ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ 18 นี้ มดลูกกำลังขยายขึ้นและขยับสูงเหนืออุ้งเชิงกราน ร่างกายมีการปรับจุดศูนย์ถ่วงทำให้ส่งผลต่อการทรงตัวของคุณแม่
ท้อง 18 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ จะมีขนาดตัวประมาณเทียบเท่ามันเทศ หรือจากหัวถึงเท้าความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร และหนักประมาณ 200 กรัม
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 18 สัปดาห์
- ทารกอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ อาจเริ่มได้ยินเสียงต่าง ๆ แล้ว
- ระบบย่อยอาหารของทารกเริ่มทำงานแล้ว
- หูของทารกเริ่มที่จะมองเห็นได้ชัดที่บริเวณด้านข้างของศีรษะทารก
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 18 สัปดาห์
1. โยคะสำหรับคนท้อง
การฝึกโยคะหรือพิลาทิส จะช่วยเสริมความแข็งแรงและยืดหยุ่นให้คุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดได้อย่างดี ทั้งนี้ครูผู้ฝึกควรเป็นผู้มีความรู้สำหรับดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์
2. ใช้หมอนหนุนเท้าขณะนอน
ใกล้เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 เมื่อคุณแม่บิดตัว ขยับตัว ก็อาจพบกับตะคริวที่คอยรบกวนการนอนหลับได้ เมื่อคุณแม่นอนตะแคง ควรใช้หมอนใบเล็กหนุนใต้ท้องด้านซ้ายหรือขวา วางหมอนใต้เข่า ขา หรือเท้า ก็จะช่วยให้หลับสบายมากขึ้น
3. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ธาตุเหล็ก โฟลิก และวิตามินซี
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงใส่ใจเรื่องการเลือกทานอาหารมากขึ้น เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ดีทั้งต่อร่างกายคุณแม่เองและเพื่อทารกน้อยในท้องด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการพลังงาน เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน โดยจะได้รับพลังงานรวม ประมาณ 2,000-2,300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
สารอาหารที่คุณแม่ควรเลือกทานเพิ่มเป็นพิเศษ
- แคลเซียม ช่วยสร้างกระดูกให้ทารกในครรภ์ แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น นม ปลา งา ผักใบเขียว โดยเฉพาะปลาเล็กปลาน้อยและอาหารทะเลต่าง ๆ
- ธาตุเหล็ก ช่วยในการบำรุงเลือด ป้องกันภาวะโลหิตจาง หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพออาจส่งผลต่อพัฒนาการสมองของทารกน้อยได้ อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น ตับ ไข่แดง เนื้อแดง อาหารทะเล เนื้อปลา ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักใบเขียวเข้ม เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ
- โฟลิก มีส่วนช่วยเรื่องพัฒนาการทารกน้อย ป้องกันและลดความเสี่ยงความผิดปกติของระบบประสาท ทั้งภาวะไม่มีเนื้อสมอง ภาวะไขสันหลังไม่ปิดจากการขาดโฟลิก นอกจากนี้ยังช่วยซ่อมแซมพันธุกรรมให้ทารกน้อยอีกด้วย อาหารที่เป็นแหล่งโฟลิก เช่น ผักใบเขียว บรอกโคลี ผลไม้รสเปรี้ยว
- วิตามินซี มีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กนำไปใช้ในร่างกาย แหล่งวิตามินซี เช่น ส้ม มะนาว กีวี ฝรั่ง และผักใบเขียวเข้ม
- โปรตีน ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อเยื่อ อาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ ถั่ว เต้าหู้ นม และผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
- ไอโอดีน ป้องกันโรคคอพอก และลดความเสี่ยงการมีสติปัญญาบกพร่องจากการขาดสารไอโอดีนในทารก แหล่งไอโอดีนพบมากในอาหารทะเล
การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่ทั้งคุณแม่และลูกน้อยต่างต้องการการดูแลเป็นพิเศษ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพของตนเองและลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เลือกทานอาหารสำหรับคนท้องให้ครบ 5 หมู่ ดูแลสุขภาพจิตใจให้สดใส เพื่อก้าวเข้าสู่การตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง คุณแม่และลูกน้อยจะได้พบเจอความพิเศษระหว่างกันมากขึ้นอีก
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 19 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 20 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 21 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 22 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 23 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- Week 18, nhs
- 18 weeks pregnant, Raisingchildren
- Pregnancy week by week, Mayo clinic
- Week 17, nhs
- Why You're So Thirsty During Pregnancy, Thebump
- 13 Home Remedies for Swollen Feet During Pregnancy, Healthline
- Leg cramps during pregnancy, Babycenter
- Why Do Pregnant Women Snore?, Sleep Foundation
- Pregnancy self-care calendar: second trimester, Babycenter
- เคล็ดลับการนอนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- ไตรมาสที่2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 14 - 28 สัปดาห์ ), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- “กรดโฟลิก” สิ่งจำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน!, โรงพยาบาลพญาไท
- ผิวแตกลาย รอยแตกตามร่างกาย, MedPark Hospital
- ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, Helloคุณหมอ
- โภชนาการหญิงตั้งครรภ์, มหาวิทยาลัยมหิดล
- Pregnancy week by week, Mayo Clinic
อ้างอิง ณ วันที่ 14 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง