พัฒนาการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 18
พัฒนาการการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ พัฒนาการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 18
พัฒนาการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 18
สำหรับคุณแม่ครรภ์แรก จะเริ่มรู้สึกลูกดิ้นที่อายุครรภ์นี้ โดยจะรู้สึกคล้ายลักษณะตอดๆ และอาจจะยังไม่รู้สึกทุกวัน สัก 1-2 สัปดาห์ คุณแม่ก็จะจับสังเกตได้ชัดเจน และสังเกตลูกดิ้นได้ดีขึ้นค่ะ นอกจากรู้สึกลูกดิ้นแล้ว หน้าท้องจะยืดขยายอย่างรวดเร็ว
หากคุณแม่ไม่ทาครีมหรือน้ำมันบำรุงผิวไวให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ จะเกิดผิวแตกลายได้มากและชัดเจน และนอกจากทาบริเวณหน้าท้องแล้ว คุณแม่ควรทาบริเวณ เต้านม ต้นขา และสะโพกด้วย เพราะเป็นจุดที่คุณแม่มักลืมและเกิดรอยลายทิ้งไว้เสมอ
อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ คุณหมอจะเริ่มตรวจคัดกรองความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์วัดความยาวของปากมดลูก โดยข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบันมีการศึกษามากมาย เพื่อหาวิธีการประเมินความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากปัญหาทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น มีทั้งอัตราการเสียชีวิต และปัญหาทางสุขภาพของลูกมากมาย
จากการศึกษาพบว่า หากตรวจอัลตร้าซาวด์พบความยาวปากมดลูกสั้นกว่าปกติ จัดว่ามีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งถ้าพบว่าความยาวสั้นกว่า 2 ซม. คุณหมอจะพิจารณาให้ยาฮอร์โมนเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดจนกว่าจะถึงอายุครรภ์ที่ครบกำหนดคลอด แต่ถ้าหากปากมดลูกมีความยาวสั้นกว่า 1.5 ซม. อาจต้องพิจารณาทำหัตถการเพิ่มเติม เช่น เย็บปากมดลูก หรือใส่ห่วงครอบปากมดลูก ขึ้นอยู่กับกรณี
พัฒนาการลูก
ลูกมีความยาว 21 ซม. ผนังหน้าท้องของลูกเริ่มปิดสมบูรณ์ ลูกเริ่มฝึกหายใจ และเริ่มดูดนิ้วมือได้แล้ว

Tips
คุณแม่ควรรับประทานอาหารเพื่อให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีน กรดอะมิโน และกรดไขมันคุณภาพ เช่น การทานปลา จัดเป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่าย ให้กรดอะมิโนสำคัญ Threonine, Lysine ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเสริมสร้างภูมิต้านทาน นอกจากนี้ ในปลาทะเลน้ำลึก เช่น แซลมอน ยังให้โอเมก้า 3 ซึ่งมีผลดีต่อพัฒนาการด้านระบบประสาทและสายตาของลูก
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า โอเมก้า 3 มีส่วนช่วยลดการคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งนอกจากพบในปลาแล้ว โอเมก้า 3 ยังพบในถั่วเหลือง เมล็ดอัลมอนด์ ฟักทอง และนมด้วย
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
พัฒนาการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 19
พัฒนาการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 17
อ้างอิง
บทความโดยแพทย์หญิง ธิศรา วีรสมัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน สูตินรีเวช เวชศาสตร์ครอบครัว
และเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1
บทความแนะนำ

ฤกษ์ผ่าคลอด 2565 ฤกษ์คลอด ฤกษ์มงคล เสริมดวงลูกรัก
ฤกษ์ดีผ่าคลอด ปี 2565 การกำหนด ฤกษ์ผ่าคลอด หรือ ฤกษ์คลอด ควรทำควบคู่ไปกับการขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ทำคลอดด้วย เพราะหากผู้ปกครองดื้อรั้นกำหนดวันคลอดเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากจะไม่ได้รับอนุญาตให้คลอดในวันดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ไปตลอดชีวิตอีกด้วย

อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณที่บอกว่ากำลังตั้งครรภ์
อาการคนท้อง เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ โดยอาการเริ่มแรกที่หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สัมผัสได้ คือ การขาดประจำเดือน แต่ความจริงแล้วในช่วงท้อง 1 สัปดาห์ - 2 สัปดาห์แรก ผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์อาจมีอาการเลือดออกเล็กน้อยคล้ายประจำเดือนที่เรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” ทำให้ว่าที่คุณแม่อาจไม่ทันได้สังเกตคิดว่าประจำเดือนมาปกติ ส่วนอาการอื่น ๆ อย่างอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และอารมณ์แปรปรวน จะตามมาทีหลัง รวมถึงมีสัญญาณการตั้งครรภ์อื่น ๆ ตามมา

อาหารที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดีของคุณแม่และทารกในครรภ์
โภชนาการหญิงตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ตลอดช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ คุณแม่จำเป็นต้องเลือกทานอาหารให้ได้พลังงานและสารอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย หากได้รับสารอาหารมากเกินไปหรือน้อยไปย่อมส่งผลไม่ดีต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์เอาได้ การเลือกอาหารสำหรับคนท้องจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรก แล้วแบบนี้คนท้องควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง

เทคนิคสำหรับแม่หลังผ่าคลอด ดูแลแผลผ่าคลอด ให้ยุบเร็ว หายไว ถูกวิธี
คุณแม่ที่ต้องผ่าคลอด มีหลายอย่างที่จะต้องเตรียมตัว รวมถึงการดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด โดยเฉพาะการดูแลแผลผ่าตัดคลอด เพราะร่องรอยผ่าคลอดที่อยู่บนร่างกาย หากไม่ดูแลให้ดีจะเสี่ยงแผลผ่าคลอดอักเสบ ติดเชื้อรุนแรงได้ มาอ่านวิธีดูแลแผลผ่าคลอด เพื่อให้แผลยุบเร็ว หายไว ถูกวิธี ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ กันได้ในบทความนี้