ตุ่มขาวในปากทารก คืออะไร ลูกมีตุ่มขาวในปาก ดูแลทารกยังไงดี
ตุ่มขาวในปากทารก เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยแรกเกิดไม่น้อย จริง ๆ แล้ว ตุ่มขาวเหล่านี้อาจเป็นซีสต์ขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในปากของทารก และมักจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจถึง สาเหตุ และการดูแลเมื่อมีตุ่มขาวในปากทารก รวมถึงการสังเกตอาการผิดปกติแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
สรุป
- ตุ่มขาวในปากทารก สามารถพบได้บ่อยถึง 60-85 เปอร์เซ็นต์ ของทารกแรกเกิด ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวคล้ายสิว หัวขาวบริเวณเพดานอ่อนและเพดานแข็งในช่องปาก ซึ่งเกิดขึ้นเองตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ไม่สามารถป้องกันได้
- ตุ่มขาวในปากทารกที่พบ อาจไม่เป็นอันตราย และไม่ทำให้ลูกน้อยมีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด โดยตุ่มขาวในปากมักจะค่อย ๆ หายไปเองตามธรรมชาติ ส่วนมากจะหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์
- การเสียดสีภายในปากจากการดูดนมแม่ ดูดนมขวด หรือดูดจุกหลอก อาจช่วยให้ตุ่มขาวในปากทารกหายเร็วขึ้นได้
- ไม่ควรบีบ เจาะ หรือกวาดคอ เพื่อรักษาตุ่มขาวในปากทารก เพราะอาจทำให้เกิดแผล ติดเชื้อ และอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ตุ่มขาวในปากทารก เกิดจากอะไร
- ตุ่มขาวในปากทารก ทำให้ลูกน้อยเจ็บปากไหม
- ตุ่มขาวในปากทารก หายเองได้ใน 2 สัปดาห์
- จุกหลอก ช่วยให้ตุ่มขาวยุบเร็วขึ้นจริงไหม
- ตุ่มขาวในปากทารก จะมีอาการแบบไหน
- วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อเกิดตุ่มขาวในปากทารก
ตุ่มขาวในปากทารก เกิดจากอะไร
ตุ่มขาวในปากทารก (Epstein pearls) เกิดจากการสะสมของเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับที่พบในผมและเล็บของเรา ทำให้เกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวคล้ายสิวหัวขาวบริเวณเพดานอ่อนและเพดานแข็งในช่องปาก ตุ่มขาวในปากทารกนั้นพบได้บ่อยมากและไม่เป็นอันตราย โดยเกิดขึ้นประมาณ 60-85 เปอร์เซ็นต์ ของทารกแรกเกิด และจะหายไปเอง โดยไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ ทั้งสิ้น สาเหตุของการเกิดตุ่มขาวในปากทารก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของฟัน ต่อมน้ำลาย หรืออาจเกิดจากการเชื่อมต่อของเนื้อเยื่อในปากในช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์ และพบได้บ่อยในเด็กทารกที่มีปัจจัยเหล่านี้
- คลอดก่อนกำหนด: ทารกคลอดก่อนกำหนด อาจมีการพัฒนายังไม่สมบูรณ์
- คุณแม่มีอายุมาก: อายุของแม่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาของทารกในครรภ์
- น้ำหนักแรกคลอดสูง: ทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดสูงอาจมีความผิดปกติบางอย่างได้
ตุ่มขาวในปากทารก ทำให้ลูกน้อยเจ็บปากไหม
ตุ่มขาวในปากทารก อาจมีลักษณะคล้ายสิวเล็ก ๆ หรือคล้ายฟันน้ำนมที่ยังไม่ขึ้นอยู่ในช่องปากของลูกน้อย ซึ่งมีขนาดเพียงไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น โดยอาจปรากฏเป็นตุ่มเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการอื่นใดที่น่ากังวล หากคุณแม่กังวลว่าตุ่มขาวในปากทารก จะทำให้ลูกเจ็บหรือไม่ ความจริงแล้ว ตุ่มขาวในปากทารกมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่สบายตัว หรือรบกวนการกินนมของทารกเลย ดังนั้น คุณแม่ไม่ต้องกังวล ไม่นานตุ่มขาวก็จะยุบลงและหายไปเอง
ตุ่มขาวในปากทารก หายเองได้ในไม่กี่สัปดาห์
ตุ่มขาวในปากทารกเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย และมักจะหายไปเองได้ภายในเวลาไม่นาน โดยปกติตุ่มขาวเหล่านี้จะหายไปเองภายในไม่กี่ สัปดาห์หลังคลอด การให้ลูกน้อยดูดนม หรือใช้จุกหลอกเด็กจะช่วยให้ตุ่มขาวเหล่านี้ยุบตัวลงและหายไปได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ตุ่มขาวในปากทารกยังคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือนหลังคลอด ซึ่งถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก ควรไปพบแพทย์
จุกหลอก ช่วยให้ตุ่มขาวยุบเร็วขึ้นจริงไหม
มีข้อมูลว่า การเสียดสีจากการให้ลูกดูดนมจากอก การดูดนมจากขวด การใช้ยางกัด หรือการดูดจุกนมหลอก อาจช่วยให้ก้อนยุบและสลายได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้จุกหลอกในระยะยาว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของขากรรไกรและฟัน การให้นมแม่ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในหูชั้นกลางของทารก และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ที่เหมาะสม
ตุ่มขาวในปากทารก จะมีอาการแบบไหน
ตุ่มขาวในปากทารก มักจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด แต่หากคุณแม่ยังคงสังเกตเห็นตุ่มหลังจากผ่านไปหลาย ๆสัปดาห์ แถมยังมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมมาด้วย อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น
1. หลายสัปดาห์หลังคลอด ตุ่มขาวยังไม่ยุบลงเลย
แม้ว่าตุ่มขาวส่วนใหญ่จะหายไปเองได้ แต่หากยังอยู่เป็นเวลานาน อาจมีสาเหตุอื่นที่ซ่อนอยู่ เช่น การติดเชื้อ หรือปัญหาทางช่องปากอื่น ๆ
2. ลูกมีอาการเจ็บหรือปวด
อาการเจ็บปวดบ่งบอกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นภายในช่องปากของลูกน้อย อาจเป็นการติดเชื้อ หรือมีแผลที่รุนแรงกว่าตุ่มขาวธรรมดา
3. มีอาการซึม ไม่ยอมกินนม
ลูกไม่ยอมกินนม อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่า เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรืออาการป่วยอื่น ๆ
4. มีตุ่มขาวขึ้นเยอะกว่าเดิม
การที่ตุ่มขาวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรง
วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อเกิดตุ่มขาวในปากทารก
ตุ่มขาวในปากทารก ส่วนใหญ่จะหายไปเองตามธรรมชาติ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องพยายามเร่งให้หายเร็วขึ้น เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้เพื่อดูแลลูกน้อยมีดังนี้
1. ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำช่วยทำความสะอาดช่องปากให้ลูก
หลังจากให้นมลูกเสร็จ ให้ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดเหงือก กระพุ้งแก้ม และลิ้นของลูกเบา ๆ เพื่อรักษาความสะอาดในช่องปาก
2. อย่าบีบหรือเจาะตุ่มขาวเด็ดขาด
การพยายามเอาตุ่มออกด้วยตัวเอง โดยการบีบหรือเจาะตุ่มอาจทำให้เกิดแผล ติดเชื้อ และอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้
3. อย่ากวาดคอให้ลูก
การกวาดคอลูกน้อยตามความเชื่อโบราณ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
คุณแม่ได้ทราบแล้วว่า ตุ่มขาวในปากทารกนั้นไม่เจ็บปวด และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ใด ๆ สามารถปล่อยไว้ได้ ตุ่มจะสลายไปเองตามธรรมชาติและหายไปในที่สุด แต่ถ้าตุ่มขาวในปากไม่หายไป และลูกน้อยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยตามที่กล่าวไปข้างต้น ถือว่าไม่ปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างทันท่วงที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรม Baby Development เช็คพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัย
- เด็กตาแฉะ มีขี้ตาเยอะ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรักษาตาแฉะในทารก
- สะดือทารกมีเลือดออกอันตรายไหม สะดือเด็กทารกเลือดออกทำยังไงดี
- ลูกเป็นไข้ตอนกลางคืนกลางวันปกติ พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกมีไข้ตอนกลางคืน
- ลูกป่วยบ่อยมาก ทำไงดี พร้อมวิธีเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรง
- อาการไข้ในเด็ก ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ เช็ดตัวยังไงให้ไข้ลด
- ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่รับมืออย่างไรดี
- ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้
- เด็กก้าวร้าว ลูกอารมณ์ร้าย ทำตัวไม่น่ารัก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
- ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม
อ้างอิง:
- Epstein pearls: Treatment, causes, and symptoms, MedicalNewsToday
- What Are Epstein Pearls?, WebMD
- What Parents Should Know About Epstein Pearls in Babies, Parents
- Epstein pearls, Babycenter
- Epstein Pearls, Healthline
- เคล็ดไม่ลับ..กับการดูแลช่องปากและฟันให้ลูกน้อย, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
- จุกหลอก ดีต่อลูกน้อยหรือไม่, Pobpad
- ภาวะปกติ ที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลศิครินทร์
อ้างอิง ณ วันที่ 22 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง