ทารกชอบแลบลิ้น เพราะอะไร ทารกแลบลิ้นบ่อย ผิดปกติไหม
ทารกชอบแลบลิ้นออกมาบ่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจรู้สึกกังวลว่าลูกน้อยมีพัฒนาการที่ผิดปกติหรือไม่? พฤติกรรมการแลบลิ้นจะพบได้บ่อยในช่วงวัยทารก แต่ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้ทารกชอบแลบลิ้น และวิธีสังเกตว่าพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติหรือไม่ พร้อมทั้งคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการดูแลลูกน้อยอย่างเหมาะสม
สรุป
- ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ชอบแลบลิ้น มาจากปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ ที่เรียกว่า Tongue thrust reflex เป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นตรงริมฝีปาก เช่น การดูดนมแม่
- ทารกชอบแลบลิ้น จะเกิดขึ้นไปจนทารกอายุได้ 4-6 เดือน และจะหายไปในที่สุด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ทารกแลบลิ้น เกิดจากอะไร
- ทารกชอบแลบลิ้น ผิดปกติไหม
- ทารกแลบลิ้น เกิดจากกรรมพันธุ์ได้ไหม
- ทารกชอบแลบลิ้น จะดีขึ้นเมื่อไหร่
- ทารกแลบลิ้น อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น
- อาการร่วมทารกแลบลิ้น ที่ควรปรึกษาแพทย์
ทารกแลบลิ้น เกิดจากอะไร
ทารกแลบลิ้น ในทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ เนื่องจากทารกแลบลิ้นออกมาโดยสัญชาตญาณ ในขณะที่เด็กทารกที่อายุมากกว่านี้อาจแลบลิ้นออกมาโดยตั้งใจ สำหรับทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน เหตุผลที่พบบ่อยทำให้ทารกชอบแลบลิ้น มาจากปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ ที่เรียกว่า Tongue thrust reflex เป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นตรงริมฝีปาก เช่น การดูดนมแม่
ทารกชอบแลบลิ้น ผิดปกติไหม
ทารกชอบแลบลิ้นออกมา เป็นเรื่องปกติที่พบได้ในเด็กวัยทารก คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไป การที่ทารกชอบแลบลิ้นนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น
1. เคยชินกับการดูดนมแม่
ทารกแลบลิ้นก่อนดูดนมแม่ เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณเมื่อมีบางสิ่งมากระตุ้นที่ริมฝีปาก ระบบประสาทจะตอบรับแบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า Tongue thrust reflex ทารกจะอ้าปากและเอาลิ้นออกมาเพื่อช่วยในการดูดนม
2. ผายลม
ในเด็กทารกที่ชอบแลบลิ้น อาจมาจากการผายลมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหารตามปกติ เมื่อมีอาการปวดท้องหรือผายลม ทารกมักจะตอบสนองต่อความรู้สึกนั้นด้วยการแสดงสีหน้า เช่น ร้องไห้ ยิ้ม และแลบลิ้นออกมา
3. แสดงให้รู้ว่ากำลังหิวหรืออิ่มแล้ว
ทารกแลบลิ้นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่กำลังบอกว่า “หิว” และ “อิ่ม” เวลาทารกหิวมักจะกำมือแน่นและเอามือเข้าปาก หันหน้าไปทางเต้านมคุณแม่ และเลียริมฝีปาก ถ้าอิ่มแล้วส่วนใหญ่จะหันหน้าออก แลบลิ้นปฏิเสธที่จะดูดนม
4. แสดงให้รู้ว่าไม่ชอบอาหารที่กิน
เมื่อทารกอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป กุมารแพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ป้อนอาหารเสริมให้ลูก ซึ่งในบางครั้งรสของอาหาร หรือเนื้อสัมผัสของอาหารอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ชอบอาหารเมนูนั้น ๆ ก็จะแสดงออกด้วยการแลบลิ้นยื่นลิ้นออกมาเพื่อคายออกจากปากปฏิเสธอาหารที่รับประทาน
5. พฤติกรรมเลียนแบบ
เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 8 เดือน จะเริ่มมีพัฒนาการทางภาษาที่มากขึ้น การแลบลิ้นของทารกเป็นการแลบลิ้นที่ตามใจตัวเอง และจะมีการเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการแลบลิ้นออกมาเพื่อเลียนแบบการพูด หรือการจูบ
6. กำลังหายใจทางปาก
โดยปกติแล้วการหายใจจะหายใจผ่านจมูก แต่ถ้าหากทารกมีอาการคัดจมูกหรือมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ขนาดใหญ่ ทารกอาจหายใจผ่านทางปากแทน ซึ่งอาจทำให้มีการแลบลิ้นออกมาได้
ทารกแลบลิ้น เกิดจากกรรมพันธุ์ได้ไหม
ภาวะลิ้นยื่น ทารกแลบลิ้นออกมาจากปาก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดและอาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม เช่น โรค ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) และโรคเบ็กวิท-วีเดอร์แมน ซินโดรม (Beckwith-Wedemann Syndrome) เป็นโรคที่ลิ้นมีขนาดใหญ่จนคับปาก จนทำให้ลิ้นยื่นออกมากจากปาก
ทารกชอบแลบลิ้น จะดีขึ้นเมื่อไหร่
ทารกชอบแลบลิ้น เป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติของทารก ที่ยื่นลิ้นออกมาเมื่อมีสิ่งใดมาสัมผัสริมฝีปาก ปฏิกิริยานี้ช่วยให้ทารกกินนมจากเต้าหรือขวดได้ง่ายขึ้น และจะเกิดขึ้นจนถึง 4-6 เดือน และจะหายไปในที่สุด ในระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรป้อนอาหารเสริมอื่นใดให้ลูกนอกจากการกินนมแม่
ทารกแลบลิ้น อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น
ทารกแลบลิ้น อาจไม่ใช่แค่ปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติของทารกตามปกติ เพราะในเด็กทารกบางคนที่มีอาการแลบลิ้นอาจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของร่างกายที่บ่งบอกถึงโรคที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เช่น
1. กล้ามเนื้ออ่อนแรง
เนื่องจากลิ้นเป็นกล้ามเนื้อและถูกควบคุมโดยกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ในช่องปาก กล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจทำให้ลิ้นยื่นออกมามากกว่าปกติ และมีหลายสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) ดิจอร์จซินโดรม (DiGeorge syndrome) และสมองพิการ
2. มีก้อนเนื้อในช่องปาก
ทารกแลบลิ้นบางคนอาจมีเนื้องอกหรือต่อมน้ำลายบวมในปาก และในบางกรณีอาจเป็นมะเร็งช่องปาก แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อที่ทำให้เกิดถุงน้ำในต่อมน้ำลาย หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกแลบลิ้นออกมาบ่อยกว่าปกติ มีน้ำลายไหล งอแง และไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือสังเกตเห็นก้อนในปากลูก แนะนำให้พาลูกไปโรงพยาบาลพบแพทย์ในทันที
3. มีปากเล็ก
เด็กบางคนอาจมีปากเล็กกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาการหรือภาวะต่าง ๆ เช่น ไมโครกนาเธีย (micrognathia) คือขากรรไกรเล็ก ที่เกิดจากพันธุกรรม หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาการของโรคอื่น ๆ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่
อาการร่วมทารกแลบลิ้น ที่ควรปรึกษาแพทย์
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบว่าลูกวัยทารกหรืออาจโตขึ้นกว่านี้ ยังมีอาการแลบลิ้นพร้อมกับมีอาการร่วมเหล่านี้ แนะนำให้พาลูกไปโรงพยาบาลให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการทันที เพื่อจะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม
- แสดงอาการเจ็บปวด
- ลูกมีพังผืดที่ใต้ลิ้น
- ต่อมอดีนอยด์โต
- กรณีนี้เฉพาะเด็กโต มีการกลืนที่ผิดปกติ
ทารกชอบแลบลิ้น ส่วนหนึ่งเป็นตามปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมการแลบลิ้นผิดปกติ เช่น เด็กแลบลิ้นบ่อยมากผิดปกติ มีปัญหาในการกิน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำในการดูแลลูกน้อยอย่างเหมาะสม และที่สำคัญมาก ๆ อีกอย่างหนึ่งเพื่อช่วยให้ลูกมีความสมบูรณ์แข็งแรง แนะนำให้นมแม่กับลูกน้อยเพียงอย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิด เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด ช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านร่างกายและพัฒนาการสมองการเรียนรู้ที่สมวัย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
- นิทานเด็กทารกสำคัญกับลูกไหม คุณแม่ควรอ่านเรื่องอะไรให้ลูกน้อยฟังดี
อ้างอิง:
- Why do babies stick their tongues out?, MedicalNewsToday
- 10 Reasons Your Baby May Be Sticking Their Tongue Out, Healthline
- ทำไมเด็กชอบแลบลิ้น, แพทย์หญิงศิริวรรณ คลินิกหมอศิริวรรณ
อ้างอิง ณ วันที่ 12 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง