อุ้มลูกบ่อย เด็กติดมือคุณแม่จริงไหม ลูกติดมือแก้ยังไง
เด็กติดมือเกิดจากอะไร ลูกติดมือแก้ยังไงดี ควร หรือไม่ควร ที่จะเข้าไปอุ้มลูก แท้จริงแล้วการร้องไห้ของทารกคือการสื่อสารที่จะบอกความต้องการของตนเอง เมื่อพ่อแม่อุ้ม ก็จะทำให้เสียงร้องไห้เงียบลง เพราะทารกอบอุ่น และปลอดภัยเมื่อได้อยู่ใกล้พ่อแม่ พ่อแม่ไม่ควรกลัว หรือกังวลจนเกินเหตุ เมื่อลูกปรับตัวได้แล้ว จะร้องไห้ให้อุ้มน้อยลง ซึ่งการอุ้มลูกนี้ไม่ทำให้เสียนิสัย หรือเอาแต่ใจแต่อย่างใด
สรุป
- เด็กติดมือ ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะเอาแต่ใจให้อุ้มตลอดเวลา แต่เป็นเพราะเด็กวัยทารกยังพูดไม่ได้ จึงร้องไห้เพื่อเป็นการสื่อสาร ส่งสัญญาณบอกความต้องการของตนเองกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง
- การอุ้มทารกในวัยแรกเกิด ถึง 6 เดือน เป็นเรื่องปกติ การอุ้มลูกยังเป็นการสร้างความไว้ใจ เชื่อใจ สร้างความผูกพันระหว่างทารกกับแม่ ทำให้ลูกรู้สึกว่าอบอุ่น ปลอดภัย ทำให้ทารกหายกังวล หายกลัว อารมณ์ดี มีสุขภาพจิตที่ดี
- เมื่อทารกร้องไห้แล้วแม่อุ้ม จะทำให้ทารกค่อย ๆ ปรับตัวได้ แล้วจะร้องไห้น้อยลงเรื่อย ๆ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีของคุณแม่กับทารก การอุ้มทารกในวัยนี้ไม่ได้เป็นการทำให้ติดมือ หรือทำให้ทารกเอาแต่ใจ หรือเสียนิสัยแต่อย่างใด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เด็กติดมือ เกิดจากอะไร
- เด็กติดมือ จะมีอาการอย่างไร
- เด็กติดมือ แบบนี้ปกติไหม
- เด็กติดมือ มีผลเสียอย่างไรบ้าง
- แก้อาการเด็กติดมือ เมื่อไหร่ดี
- ลูกติดมือแก้ยังไง รับมือแบบไหนให้ได้ผลดี
เด็กติดมือ เกิดจากอะไร
เด็กติดมือคือ เด็กวัยทารกร้องไห้ อยากให้คุณแม่อุ้ม อยากอยู่ใกล้แม่ตลอดเวลา อุ้มจนวางไม่ได้ จึงเรียกว่า “ติดมือ” แท้จริงแล้ว พฤติกรรมเด็กติดมือ ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะเอาแต่ใจให้อุ้มตลอดเวลา แต่เป็นเพราะเด็กวัยทารกยังพูดไม่ได้ จึงร้องไห้เพื่อเป็นการส่งสัญญาณบอกความต้องการของตนเอง
อีกทั้งเด็กทารกยังคุ้นชินกับการอยู่ในท้องคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ รู้สึกอบอุ่นได้ยินเสียงเต้นของหัวใจคุณแม่ตลอดเวลา พอคลอดออกมา ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างจากอยู่ในท้องอุ่น ๆ ของคุณแม่ จึงทำให้ร้องไห้ เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ยังไม่ได้ พอคุณแม่อุ้มก็หยุดร้องไห้ เงียบสงบ รู้สึกปลอดภัย เพราะคุ้นชินเสียงหัวใจของแม่ ทำให้ทารกค่อย ๆ ปรับตัวได้ แล้วจะร้องไห้น้อยลงเรื่อย ๆ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีของคุณแม่กับทารก การอุ้มทารกในวัยนี้ไม่ได้เป็นการทำให้ติดมือ หรือทำให้ทารกเสียนิสัย เอาแต่ใจ
เด็กติดมือ จะมีอาการอย่างไร
ทารกหลังคลอด อาจยังไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากในครรภ์แม่ จึงทำให้ร้องไห้ เพราะต้องการความอบอุ่น ปลอดภัย พอพ่อแม่เข้ามาอุ้มจึงเงียบ สงบลงได้ ซึ่งเมื่อโตแล้วจะค่อยๆ ปรับตัวได้ และหยุดร้องไปเอง หากลูกโตแล้วยังร้องไห้ ให้อุ้มบ่อยๆ จนวางมือไม่ได้ อาจเป็นอาการที่มักเรียกกันว่า เด็กติดมือ โดยจะมีอาการดังนี้
- ปล่อยไม่นานก็ร้องไห้งอแง อยากให้อุ้มบ่อย ๆ
- ต้องอุ้มจนหลับคาอกทุกครั้ง ลูกจะไม่เรียนรู้ที่จะนอนด้วยตัวเอง
- ร้องไห้หนักไม่ยอมเงียบ จนกว่าพ่อแม่จะอุ้ม การอุ้มทำให้เสียงร้องไห้เงียบลง
เด็กติดมือ แบบนี้ปกติไหม
เด็กติดมือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน มีผลวิจัยรายงานว่า ทารกวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน จะสื่อสารด้วยการร้องไห้เท่านั้น การที่ทารกอยากให้คุณแม่อุ้มอีกประการคือ การอุ้มลูกยังเป็นการสร้างความไว้ใจ เชื่อใจ สร้างความผูกพันระหว่างทารกกับแม่ ทำให้ลูกรู้สึกว่าปลอดภัย อบอุ่นใจว่ามีคนคอยดูแลเอาใจใส่ตนเอง ทำให้ทารกหายกังวล หายกลัว อารมณ์ดี มีสุขภาพจิตที่ดี การอุ้มทารกในวัยแรกเกิด ถึง 6 เดือน เป็นเรื่องปกติ ไม่ทำให้เกิดการติดมือแต่อย่างใด ต่างจากการอุ้มเด็กโต ที่จะร้องไห้ให้อุ้ม อาจเพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพิจารณาแยกแยะ
การดูแลลูกด้วยการอุ้มอย่างอ่อนโยน ช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ลดความกลัว เสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากการเอาใจใส่ด้านความอบอุ่นแล้ว การดูแลโภชนาการก็มีสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมพัฒนาการสมองและพัฒนาการทางร่างกาย องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือนเต็ม หลัง 6 เดือน ให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก
เด็กติดมือ มีผลเสียอย่างไรบ้าง
การอุ้มลูกแม้มีข้อดีช่วยทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย แต่การอุ้มลูกมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อตัวลูก ส่งผลเสียต่อตัวพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูได้ ซึ่งการอุ้มลูกต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียในด้านอื่นๆ ได้แก่
1. ทำให้ลูกชอบเรียกร้องความสนใจ
ในเด็กทารกบางคนที่โตขึ้น พูดคุยรู้เรื่องแล้ว จะเรียนรู้ว่าหากตนเองร้องไห้ให้อุ้มแล้วพ่อแม่จะตอบสนอง หรือทำบางอย่างให้ตนเองได้ ก็จะร้องไห้เพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจ
2. ส่งผลเสียต่อสุขภาพของพ่อแม่
คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องอุ้มลูกต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ปวดข้อมือ หรืออาจทำให้มีอาการปวดมากขึ้นจนเป็นปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ
3. ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูก
การอุ้มลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกลดการขยับตัว ขยับกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายน้อยลง มีการพัฒนาการกล้ามเนื้อได้น้อยลง
แก้อาการเด็กติดมือ เมื่อไหร่ดี
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มแก้ไขอาการเด็กติดมือ เมื่อถึงวัยที่ลูกเริ่มเดิน ควรค่อย ๆ พูดคุย ช่วยสร้างความเข้าใจ เมื่อลูกพร้อม และรู้สึกว่าตนเองได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่ เมื่อรู้สึกว่าตนเองปลอดภัย ลูกจะค่อย ๆ ปรับตัวและควบคุมตนเองได้
ลูกติดมือแก้ยังไง รับมือแบบไหนให้ได้ผลดี
แม้ว่าการอุ้มลูกมีผลดี แต่การอุ้มลูกมากเกินไปอาจทำให้ส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายของลูกได้ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกร้องไห้เพื่อเรียนรู้ที่จะรอคอย ซึ่งวิธีรับมือแก้ไขลูกติดมือง่าย ๆ ที่ได้ผลดี คือ
- ใช้ผ้าห่อตัวลูก: วิธีห่อตัวลูก เพื่อให้ลูกได้รับความอบอุ่น รู้สึกปลอดภัย
- ให้ลูกเข้านอนเป็นเวลา: จะช่วยให้ลูกรู้จัก และเรียนรู้ว่าเวลานี้เป็นเวลาของการนอน และรู้จักควบคุมตัวเองได้
- จัดที่นอนให้ลูกรู้สึกปลอดภัย: ให้ลูกนอนหงายในเปล จัดสภาพแวดล้อม ให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงภาวะไหลตายในทารก (SIDS) เพื่อความปลอดภัยขณะที่คุณแม่ต้องทำธุระส่วนตัว เช่น เข้าห้องน้ำ
- อย่าปล่อยให้ลูกหลับคาอก: การให้ลูกนอนหลับคาอกตลอด ลูกจะไม่เรียนรู้ที่จะนอนด้วยตัวเอง
- อย่ารีบอุ้มทันทีที่ร้อง: ให้ตบก้นหรือลูบหลังเบา ๆ ก่อน เพราะในที่สุด ลูกจะเริ่มเรียนรู้ที่จะปลอบใจตัวเองได้
การอุ้มลูก ตอบสนองความต้องการของลูกเมื่อลูกร้องไห้ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถอุ้มลูกได้ตามที่ต้องการ เมื่อลูกโตขึ้นและพร้อม รู้สึกว่าตนเองได้รับความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ รู้สึกว่าตนเองปลอดภัย หายกังวล หายกลัว ลูกจะปรับตัวและควบคุมตนเองได้ และจะร้องไห้ลดลง ไม่เรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่มากเกินไป เด็กติดมือจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน เมื่อทารกเติบโตขึ้นจะค่อยๆ ปรับตัวได้ตามพัฒนาการของวัย หากคุณแม่ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่นี่
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
- นิทานเด็กทารกสำคัญกับลูกไหม คุณแม่ควรอ่านเรื่องอะไรให้ลูกน้อยฟังดี
อ้างอิง:
- อุ้มลูกบ่อยๆ… จะทำให้ติดมือจริงหรือ?, โรงพยาบาลเปาโล
- ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- กระบวนการพัฒนาการของเด็ก, มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
- ปลอกหุ้มข้อมืออักเสบ จากการอุ้มลูก, Premiere Home Health Care โรงพยาบาลธนบุรี
- What Do I Do When My Baby Wants to Be Held All the Time?, Parents
- My baby always wants to be held, BabyCenter
- Know When to Hold 'Em, webmd
- Science Proves You Can't Hold Your Baby Too Much, Parents
- การอุ้มทารกแรกเกิดอย่างอ่อนโยน ไม่เขย่าตัว ช่วยทำให้ทารกรู้สึกมั่นคงปลอดภัย, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
อ้างอิง ณ วันที่ 18 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง