เด็กทารกเล่นน้ำลาย คุณแม่ควรห้ามไหม มีผลต่อพัฒนาการอย่างไร
คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมว่าทำไมลูกถึงชอบเล่นน้ำลาย เด็กเล่นน้ำลาย พฤติกรรมนี้มีความหมายอะไรบ้าง การที่ทารกเล่นน้ำลายนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กทารก และที่สำคัญกว่านั้น คือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงพัฒนาการที่สำคัญของลูก บทความนี้จะพาไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นน้ำลายของลูก สาเหตุและสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกกำลังเล่นน้ำลาย และสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูก
สรุป
- เด็กเล่นน้ำลายเป็นพัฒนาการที่ปกติของเด็กวัยทารกอายุระหว่าง 4 ถึง 7 เดือน ทารกเล่นน้ำลายเป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาทักษะด้านภาษา เตรียมพร้อมสำหรับการพูดในอนาคต
- เมื่อเด็กเริ่มเล่นน้ำลาย แสดงว่า เด็กเรียนรู้ที่จะเลียนแบบ และพยายามสื่อสาร คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรห้าม แต่ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม
- ชวนลูกคุยบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ จะช่วยให้ลูกพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า ขากรรไกร ฝึกควบคุมริมฝีปากและลิ้น ให้พร้อมสำหรับการพูด และการกินอาหาร
- หากสังเกตว่าลูกน้อยมีน้ำลายมากผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุและหาแนวทางแก้ไข
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เด็กเล่นน้ำลาย เกิดจากอะไร
- เด็กเล่นน้ำลาย สัญญาณที่บอกว่าลูกมีพัฒนาการที่ดี
- ทารกเล่นน้ำลาย จะมีอาการแบบไหน
- เด็กเล่นน้ำลาย แบบไหนอันตราย
- เด็กเล่นน้ำลาย คุณแม่ควรห้ามลูกไหม
เด็กเล่นน้ำลาย เกิดจากอะไร
เด็กเล่นน้ำลาย หรือการเป่าฟองน้ำลายของลูกน้อย ไม่ใช่แค่การเล่นสนุกอย่างเดียว แต่ยังเป็นการฝึกฝนทักษะสำคัญ ที่จะนำไปสู่พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกอีกด้วย ทารกจะเริ่มเล่นน้ำลาย เมื่ออายุระหว่าง 4-7 เดือน แต่เด็กบางคนอาจเริ่มมีพฤติกรรมนี้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนถือว่าปกติ ซึ่งทารกเล่นน้ำลายเป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาทักษะด้านภาษา เตรียมพร้อมสำหรับการพูดในอนาคต และยังช่วยให้ทารกเตรียมพร้อมสำหรับฟันซี่แรกของลูก ที่กำลังจะขึ้นอีกด้วย
เด็กเล่นน้ำลาย สัญญาณที่บอกว่าลูกมีพัฒนาการที่ดี
เมื่อลูกน้อยอายุประมาณ 4 เดือน คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มสนใจเสียงพูดของพ่อแม่มากขึ้น ลูกจะหันหน้ามาหาและเลียนเสียงพ่อแม่อ้อแอ้ตาม แสดงว่าลูกน้อยกำลังเริ่มต้นการเรียนรู้ภาษา
การที่ลูกน้อยเล่นน้ำลายบ่อย หรือเด็กเล่นน้ำลาย เป็นเรื่องปกติมาก ๆ และเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกว่าพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของลูกน้อยกำลังก้าวหน้าไปอย่างดี เพราะการเล่นน้ำลายเป็นการฝึกกล้ามเนื้อปากและลิ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพูดในอนาคต มาดูกันว่าสัญญาณที่บอกว่าลูกมีพัฒนาการด้านภาษาและการพูด มีอะไรบ้าง
1. พยายามสื่อสาร พยายามพูดและเปล่งเสียง
ลูกน้อยเริ่มเข้าใจว่า เราสามารถนำริมฝีปากมารวมกันเพื่อเปล่งเสียงได้ จึงพยายามสื่อสาร ลองพูด และเปล่งเสียง การเล่นน้ำลายจึงเป็นการฝึกฝนกล้ามเนื้อปากและลิ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพูด
2. คันเหงือก เพราะฟันกำลังจะขึ้น
เมื่อฟันซี่แรกกำลังจะโผล่ขึ้นมา เหงือกของลูกน้อยจะคันและอักเสบ การเล่นน้ำลายจะช่วยลดอาการคันและช่วยให้เหงือกนิ่มขึ้น
3. พยายามเลียนแบบเสียงต่าง ๆ
ในวัยนี้ ทารกจะเริ่มเข้าใจและแสดงน้ำเสียง โดยรับรู้และตอบสนองต่อเสียงที่เปล่งออกมา
4. กำลังโต้ตอบกับพ่อแม่
ทารกเริ่มสื่อสารโดยเรียนรู้ที่จะเล่นกับการขยับใบหน้าและปาก การเล่นน้ำลายจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ลูกน้อยใช้ในการดึงดูดความสนใจและสร้างปฏิสัมพันธ์ ให้ผู้ดูแลและผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ตอบสนอง
5. ทำให้ขากรรไกรแข็งแรง
ทารกเล่นน้ำลายเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่จำเป็น ทำให้ขากรรไกรแข็งแรง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพูด การกิน และการดูดนม
6. เป็นการควบคุมริมฝีปาก เพื่อป้องกันน้ำออกจากปาก
การที่ทารกเล่นน้ำลาย ช่วยให้ลูกน้อยฝึกควบคุมการเคลื่อนไหวของปากและลิ้นได้ดีขึ้น ป้องกันน้ำและอาหารออกจากปาก และการควบควมริมฝีปาก ยังเป็นส่วนประกอบพื้นฐานสำหรับการส่งเสียงอ้อแอ้ การพูด และการกินอีกด้วย
ทารกเล่นน้ำลาย จะมีอาการแบบไหน
เมื่อลูกน้อยเริ่มเล่นน้ำลาย คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นพฤติกรรมเหล่านี้
- มีน้ำลายไหลออกจากปาก คุณพ่อคุณแม่จะเห็นน้ำลายไหลออกมาจากปากของลูกน้อยบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกน้อยกำลังอ้อแอ้หรือส่งเสียงต่าง ๆ
- ชอบดูดนิ้วมือ ลูกน้อยจะดูดนิ้วมือหรือเด็กอมมือ หรือนำวัตถุอื่น ๆ เข้าปากบ่อยขึ้น เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาอาการคันเหงือกจากการที่ฟันกำลังจะขึ้น
- เป่าปาก หรือพยายามพ่นฟองน้ำลาย คุณพ่อคุณแม่จะเห็นลูกน้อยพยายามเป่าปากหรือพ่นฟองน้ำลายออกมา ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและการพูด
- มีเสียงเปล่งออกด้วย การเล่นน้ำลายยังช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาและการพูดของทารก เสียงอ้อแอ้ของลูกน้อยจะเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น และอาจฟังดูเหมือนเสียงพยัญชนะบางตัว เช่น ม ด อ
เด็กเล่นน้ำลาย แบบไหนอันตราย
เด็กเล่นน้ำลาย เป็นพัฒนาการปกติไม่น่ากังวล แต่หากพบว่าลูกน้อยมีน้ำลายมากผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุและหาแนวทางแก้ไข
1. ลิ้นมีฝ้าขาว หรือมีแผลในช่องปาก
ลิ้นลูกเป็นฝ้าขาว หรือการติดเชื้อภายในช่องปาก การติดเชื้อจะทำให้ลูกรู้สึกเจ็บเวลากลืน ทำให้กลืนน้ำลายน้อยลง ส่งผลให้น้ำลายไหลออกมามากขึ้น
2. มีผื่นแดง ๆ รอบปาก
เด็กที่ฟันกำลังจะขึ้น จะมีน้ำลายมาก จึงมักมีผื่นขึ้นใต้หรือรอบปาก สาเหตุมาจากความเปียกชื้นบนผิวหนังจากการที่น้ำลายไหลทำให้เกิดการระคายเคือง
3. มีน้ำลายไหลออกมามากผิดปกติ
หากลูกน้อยมีอาการน้ำลายไหลมากเกินไป แม้ขณะหลับ อาจเกิดจาก มีปัญหาในการเก็บน้ำลายไว้ในปาก การผลิตน้ำลายมากเกินไป หรือมีปัญหาในการกลืน
4. หายใจทางจมูกไม่สะดวก ต้องอ้าปากเพื่อหายใจด้วย
เด็กเป็นภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือปัญหาทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวก ต้องอ้าปากเพื่อช่วยหายใจ ส่งผลให้น้ำลายไหล
5. หุบปากไม่สนิท เพราะติดจุกหลอก
การใช้จุกหลอกเป็นเวลานาน อาจทำให้ฟันผิดรูป ส่งผลต่อการปิดปาก และทำให้น้ำลายไหล
6. การสบฟันของลูกผิดปกติ
หากมีฟันสบกันไม่สนิท จะทำให้น้ำลายไหลออกมาได้ง่าย
เด็กเล่นน้ำลาย คุณแม่ควรห้ามลูกไหม
การที่ลูกน้อยเริ่มเล่นน้ำลาย เป่าปาก หรือส่งเสียงอ้อแอ้นั้น เป็นสัญญาณที่ดีที่บอกว่าลูกน้อยกำลังมีพัฒนาการด้านภาษาและการพูด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรห้าม แต่ควรใช้ช่วงเวลานี้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยมีความผูกพันกันมากขึ้น และส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อย ด้วยวิธีสนุก ๆ ดังนี้
1. เลียนแบบเสียงของลูก
เมื่อลูกน้อยส่งเสียงอะไรออกมา ลองเลียนแบบเสียงนั้นกลับไป เพื่อให้ลูกน้อยรู้ว่าพ่อแม่กำลังฟังและเข้าใจเขาอยู่ การสื่อสารโต้ตอบกันเช่นนี้จะเป็นพื้นฐานการพูดและช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย
2. ร้องเพลง
การร้องเพลงให้ลูกฟังเป็นประจำ จะช่วยให้ลูกน้อยได้ยินเสียงต่าง ๆ และเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ เช่น การร้องตามเพลงที่คุ้นเคยและให้ลูกน้อยมองดูริมฝีปากของคุณขณะที่เคลื่อนไหว
3. พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ
พูดคุยกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ลูกฟัง หรืออธิบายสิ่งที่กำลังทำอยู่ ช่วยให้ลูกอยากมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น
4. เล่นเกมที่ต้องใช้เสียง
เช่น การปรบมือ การเปล่งเสียงสัตว์ หรือการนับเลข ก็มีประโยชน์เช่นกัน แสดงให้ลูกน้อยเห็นว่าพ่อแม่ตื่นเต้นที่จะได้ยินเขาพูด ทำให้ลูกน้อยตอบสนองต่อการเสริมแรงเชิงบวกโดยการพยายามเปล่งเสียงออกมา
5. ฝึกทักษะการมองเห็นและการฟัง
ชี้ไปที่วัตถุต่าง ๆ และบอกชื่อของวัตถุนั้น ๆ หรือทำท่าทางต่าง ๆ ให้ลูกน้อยเลียนแบบ
เด็กเล่นน้ำลาย นอกจากจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมของลูกน้อย การโต้ตอบกับผู้อื่นจะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้วิธีการสื่อสารและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นอีกด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้ความรัก ความอบอุ่น และการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตเป็นเด็กที่มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรม Baby Development เช็คพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัย
- ลูกหัวโน หัวปูด อันตรายแค่ไหน อาการลูกหัวโนแบบไหนอันตราย
- วิธีการเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี ให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุข
- เด็กคว่ำกี่เดือน เด็กนอนคว่ำได้ตอนไหน พร้อมวิธีฝึกเด็กนอนคว่ำ
- เด็กนั่งได้กี่เดือน ทารกนั่งได้ตอนกี่เดือน แบบไหนคือพัฒนาการล่าช้า
- เด็กตั้งไข่กี่เดือน ฝึกลูกตั้งไข่ตอนไหน ลูกตั้งไข่แล้วล้มผิดปกติไหม
- เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าเด็กเริ่มคลานได้แล้ว
- เด็กเดินได้กี่เดือน ลูกเดินช้า มีผลต่อพัฒนาการสมองไหม
- ทฤษฎีของเพียเจต์ คืออะไร ช่วยเสริมพัฒนาการของลูกได้จริงไหม
- วิธีทำสไลม์ สูตรทำสไลม์สำหรับเด็ก พร้อมส่วนผสมที่ปลอดภัยกับผิวลูก
อ้างอิง:
- Why Does a Baby Blow Raspberries?, WebMD
- Why Is Your Baby Blowing Raspberries?, Healthline
- Baby Blowing Raspberries – Developmental Milestone, Firstcry Parenting
- Managing Your Baby's Drool Rash, Verywellhealth
- Why Am I Drooling? 4 Causes of Excessive Drooling, Penn Medicine
- จุกหลอก ดีต่อลูกน้อยหรือไม่, Pobpad
อ้างอิง ณ วันที่ 15 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง