พัฒนาการเด็ก 10 เดือน เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการทารก 10 เดือน อย่างไรบ้าง

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการทารก 10 เดือน อย่างไรบ้าง

14.12.2023

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน คุณแม่จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เจ้าตัวน้อยเริ่มเติบโต ทำอะไรหลายอย่างได้มากขึ้นแล้ว ช่วงวัยนี้คุณแม่สามารถให้ลูกกินอาหารได้ครบ 3 มื้อต่อวัน สามารถให้ควบคู่กับนมแม่ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบครัน เพื่อพัฒนาการที่ดีทางร่างกาย ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมองและการเรียนรู้ให้กับลูก

headphones

PLAYING: พัฒนาการเด็ก 10 เดือน เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการทารก 10 เดือน อย่างไรบ้าง

อ่าน 11 นาที

 

สรุป

  • พัฒนาการเด็กทารก 10 เดือนตามเกณฑ์ สามารถยืนได้นาน 2 วินาที จีบนิ้วมือเพื่อหยิบของชิ้นเล็กได้ โบกมือหรือตบมือตามคำสั่ง สามารถทำท่าทางหรือเปล่งเสียงเพื่อแสดงความต้องการ
  • พัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน ที่อาจล่าช้า เช่น ไม่สามารถลุกยืนได้ ใช้นิ้วมือหยิบจับสิ่งของชิ้นเล็กไม่เป็น ไม่สามารถทำตามคำสั่งเบื้องต้นได้ ไม่สามารถแสดงความต้องการด้วยการทำท่าหรือส่งเสียงออกมา

 

พัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการทุกด้าน

เมื่อเด็กทารกอายุ 10 เดือน

ทารกวัย 10 เดือน อีกไม่นานก็จะครบ 1 ขวบแล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญ ที่พ่อแม่จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือน ให้เหมะสมตามวัย ในช่วงวัยนี้ เด็กจะเริ่มเข้าใจเมื่อถูกห้ามว่า “ไม่” สามารถใช้ท่าทางหรือบอกความต้องการ ส่งเสียงได้หลายพยางค์ สามารถเกาะเดินจนยืนได้นาน 2 วินาที และใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบของได้ จึงควรส่งเสริมพัฒนาการ ดังนี้

  • เล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง เล่นปรบมือกับลูก
  • ฝึกให้ลูกใช้นิ้วหยิบอาหารชิ้นเล็ก ๆ เข้าปาก
  • จัดพื้นที่ให้ทารกได้คลาน เกาะยืน อย่างปลอดภัย
  • ฝึกลูกพูด พูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล
  • ทำท่าต่าง ๆ และสอนให้ลูกแสดงท่าทาง

 

พัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน ด้านร่างกาย

  • น้ำหนักเด็กทารก 10 เดือน: เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 9 กิโลกรัม เด็กผู้หญิงที่จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 8.5 กิโลกรัม
  • ส่วนสูงเด็กทารก 10 เดือน: เด็กผู้ชายจะมีพัฒนาการส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 73 เซนติเมตร เด็กผู้หญิงที่จะมีพัฒนาการส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 71 เซนติเมตร

 

พัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน ด้านสติปัญญา

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา เด็กจะสามารถจีบนิ้วมือเพื่อหยิบขนมหรืออาหารที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้ การส่งเสริมพัฒนาการของลูกในวัยนี้ สามารถทำได้ด้วยการเตรียมขนมหรืออาหารขนาด 1 เซนติเมตร และจาน 1 ใบ โดยทำตามวิธีส่งเสริมพัฒนาการ ดังนี้

  • แบ่งขนมหรืออาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร ไว้ในจาน
  • ให้หยิบอาหารหรือขนมโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ โดยหยิบให้เด็กดู แล้วบอกให้ทำตาม
  • ถ้าเด็กยังทำไม่ได้ สามารถช่วยเหลือได้ด้วยการจับรวบนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย เข้าหาฝ่ามือ เพื่อให้เด็กได้ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้หยิบวัตถุ
  • เล่นเกมที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้แตะกันเป็นจังหวะ หรือเล่นร้องเพลงแมงมุมขยุ้มหลังคา ประกอบท่าทางจีบนิ้ว

 

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ

เมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะแสดงอารมณ์โกรธเมื่อไม่พอใจ หรือตอนที่ถูกขัดใจได้ พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ประสบการณ์นี้ แต่ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น เมื่อลูกหิวแล้วโกรธ จนร้องไห้ พ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกรอคอยในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะให้นมหรืออาหาร วิธีนี้จะช่วยให้ลูกหัดรอคอย ควบคุมอารมณ์ตัวเอง เด็กบางคนอาจหันไปสนใจของเล่น หรือดูดนิ้วเพื่อช่วยผ่อนคลาย

 

ทารกวัยนี้ยังพัฒนาอารมณ์ด้านอื่นด้วย เช่น เกิดความกลัวหรือความวิตกกังวล มักจะแสดงออกเมื่อได้ยินเสียงดัง หรือเจอกับคนแปลกหน้า และยังกลัวการพลัดพรากแยกจาก เมื่อลูกเกิดอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ควรเร่งลูกให้เผชิญกับความกลัว ไม่ควรขู่ลูก หรือแกล้งจากไป หากลูกเจอกับคนแปลกหน้า ควรให้ความมั่นใจแก่ลูกว่าปลอดภัย ไม่ควรให้อุ้มในทันที ค่อย ๆ ฝึกให้เด็กเผชิญหน้า เอาชนะความกลัว โดยมีพ่อแม่คอยชมเชยและให้กำลังใจลูก

 

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านโภชนาการ

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน สามารถฝึกการเคี้ยวและกลืนอาหารได้ดีขึ้น จึงสามารถหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ลูกได้ โดยจัดอาหารให้มีความหลากหลาย ลูกจะได้คุ้นเคยกับรสสัมผัสและรสชาติใหม่ ๆ รวมถึงได้สารอาหารอย่างเพียงพอ แต่ละมื้อควรมีเนื้อสัตว์และผักที่อ่อนนุ่ม กลิ่นไม่แรง

ตัวอย่างอาหารทารก 1 มื้อ ประกอบด้วย

  • ข้าวสวยหุงนิ่ม ๆ บดหยาบ 4 ช้อนกินข้าว 
  • เนื้อสัตว์หรือไข่ 1 ช้อนกินข้าวต่อมื้อ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 
  • ผักสุก 1 ช้อนครึ่ง หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 
  • ในแต่ละวันให้นำน้ำมันครึ่งช้อนชามาคลุกเคล้าผสมกับอาหาร เพียงวันละ 1 มื้อ 
  • ส่วนมื้อว่างเลือกผลไม้สุก เช่น ส้มหรือมะม่วงสุก หั่นชิ้นพอดีคำ วันละ 4 ชิ้น

 

พ่อแม่ควรให้ลูกกินอาหาร 3 มื้อ ควบคู่กับนมแม่ โดยให้กินไข่ไม่เกินวันละ 1 มื้อ ส่วนอีก 2 มื้อ เป็นเนื้อสัตว์ชนิดอื่น และควรให้ตับอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 1 มื้อ อาหารที่ให้เด็กกินไม่ควรปรุงแต่งรสชาติ ให้เด็กได้เรียนรู้รสอาหารตามธรรมชาติ

 

วิธีส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 10 เดือน

 

วิธีส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 10 เดือน

 

การส่งเสริมกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว

ด้านการเคลื่อนไหว พัฒนาการทารก 10 เดือน สามารถยืนได้นาน 2 วินาที และลูกจะสามารถหย่อนตัวลงนั่งจากท่ายืนโดยใช้มือเกาะเพื่อช่วยพยุง พ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการตามวัยได้โดยใช้อุปกรณ์อย่างกรุ๋งกริ๋ง ดังนี้

  • ให้เด็กอยู่ในท่ายืนเกาะเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ โดยที่คอยดูอยู่ด้านหลังในระยะห่างพอดีที่จะช่วยประคองได้ทันทีเมื่อลูกจะล้ม
  • หยิบของเล่นขึ้นมาเล่นในระดับสายตาของเด็ก จนเด็กสนใจของเล่น แล้วจึงวางของเล่นไว้ที่พื้น
  • ชักชวนให้เด็กหย่อนตัวลงมานั่งเล่นของเล่นที่พื้นด้วยกัน
  • หากลูกยังทรงตัวได้ไม่ดี สามารถช่วยพยุงตัวเด็กให้ลงนั่งที่พื้น แล้วค่อย ๆ ลดการช่วยเหลือลง จนกว่าเด็กจะหย่อนตัวลงนั่งที่พื้นได้เอง

 

การส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ ให้ลูกอารมณ์ดี

พ่อแม่สามารถสร้างความมั่นคงทางจิตใจ สร้างความรักความผูกพันให้กับลูกได้ด้วยการสัมผัสโอบกอด สื่อสารพูดคุยกับเจ้าตัวน้อยเป็นประจำ เล่านิทานให้ฟังหรือการทำกิจกรรมร่วมกันก็จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ความใกล้ชิดจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ ทำให้เด็กมั่นใจในตัวเอง อารมณ์ดี ที่สำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกในการควบคุมอารมณ์ ทำให้บรรยากาศอบอุ่นอยู่เสมอ

 

การส่งเสริมการสื่อสารให้ลูก

พัฒนาการทารก 10 เดือน จะสามารถโบกมือหรือตบมือตามคำสั่ง ขณะเดียวกันก็สามารถแสดงความต้องการ โดยทำท่าทางหรือเปล่งเสียงได้ พ่อแม่สามารถส่งเสริมการสื่อสารให้ลูกได้ ดังนี้

  • เล่นกับเด็กโดยใช้คําสั่งง่าย ๆ เช่น โบกมือ ตบมือ พร้อมกับทําท่าทางประกอบ อาจเปิดเพลงประกอบการเล่นตบมือหรือฝึกร่วมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น โบกมือทักทาย แล้วปรบมือให้ทุกครั้งที่ทำสำเร็จ และให้เด็กปรบมือให้กับตนเองด้วยเพื่อให้เข้าใจคำสั่งได้เร็วขึ้น
  • ถ้าเด็กไม่ทํา ให้จับมือทําก่อน แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นจับข้อมือ เปลี่ยนเป็นแตะข้อศอก เพื่อเป็นการลดความช่วยเหลือลง จนเหลือแค่การบอกให้ทำอย่างเดียว

 

ข้อควรระวัง พัฒนาการทารกและการเลี้ยงดูเด็กทารกวัย 10 เดือน

1. พัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน อาจล่าช้า

  • การเคลื่อนไหว: ไม่สามารถลุกยืนได้
  • การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา: ใช้นิ้วมือหยิบจับสิ่งของชิ้นเล็กไม่เป็น
  • การเข้าใจภาษา: ไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่นโบกมือหรือตบมือ
  • การใช้ภาษา: ไม่สามารถทำท่าหรือเปล่งเสียงเพื่อแสดงความต้องการของตัวเองได้
  • การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น: ยังเล่นของตามประโยชน์ไม่เป็น

 

แนะนำให้ปรึกษาบุคคลากรทางการแพทย์ หากคุณแม่สงสัยเรื่องพัฒนาการของลูก

 

2. ฝึกลูกเข้านอน

การนอนเป็นสิ่งสำคัญ เด็กควรนอนหลับให้เพียงพอและเหมาะสม จะส่งผลต่อการหลังโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต เพิ่มส่วนสูงและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย โดยทารก 4 เดือนถึง 1 ปี ควรนอน 12-16 ชั่วโมง

 

3. เลือกอาหารที่เหมาะสมตามวัย

แม่ควรคำนึงถึงโภชนาการทารก 10 เดือน โดยป้อนอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย ฝึกลูกให้ลองรสชาติใหม่ ๆ โดยไม่ปรุงแต่ง หากลูกไม่ยอมกินอาหาร ไม่ควรบังคับ แต่ควรหาวิธีจูงใจลูกให้ลองสัมผัสกับรสชาติใหม่ ๆ

 

4. ให้ลูกได้สำรวจ

เมื่อลูกสำรวจ ค้นหา หรือเล่นสิ่งใหม่ ๆ พ่อแม่ควรอยู่เคียงข้างลูก ยิ้มและพยักหน้าให้ลูกรู้สึกมั่นใจ และคอยอ้าแขนรับ โอบกอด ปลอบประโลม เมื่อลูกเจ็บหรือกลัว จะช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัย

 

5. ชวนเล่นสิ่งรอบตัว

เลือกเล่นสิ่งของง่าย ๆ รอบตัว เน้นความสนุกสนาน ระหว่างพ่อแม่ลูก ให้เด็กได้เรียนรู้ รวมถึงส่งเสริมให้ลูกคลานและเกาะยืน

 

6. เล่าเรื่องให้ลูกฟัง

เล่านิทานที่มีเสียงคล้องจอง และอ่านนิทานที่มีรูปวาดง่าย ๆ โดยที่มองหน้า คอยสัมผัสตัวลูกอย่างใกล้ชิดระหว่างที่กำลังเล่านิทาน

 

7. แปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ซี่แรก

แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยแตะปลายขนแปรงพอเปียก ถูไปมาสั้น ๆ ในแนวขวาง และใช้ผ้าสะอาดเช็ดฟองออก ทำทุกวัน เช้า ก่อนนอน หลังแปรงฟันตรวจความสะอาดโดยใช้หลอดพลาสติกเล็ก ๆ ปลายมด ขูดบนตัวฟัน ต้องไม่มีคราบจุลินทรีย์ออกมา และอย่าลืมพาลูกไปพบหมอฟันครั้งแรกก่อนอายุ 1 ปี

 

ข้อควรระวังลูกน้อยวัยซน

เจ้าตัวน้อยเริ่มคลานเก่ง เกาะยืนได้ อยู่ในวัยอยากเรียนรู้ จึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เช่น

  • หน้าต่างควรอยู่สูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ป้องกันการปีนป่าย
  • ซี่ราวบันไดและซี่กรงระเบียง ต้องมีช่องห่างไม่เกิน 9 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ลำตัวและศีรษะเด็กลอดเข้าไปได้
  • เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เช่น โต๊ะหรือทีวี หากไม่มั่นคงพอ ควรใช้อุปกรณ์ยึดไว้กับกำแพง ป้องกันการล้มคว่ำทับเด็ก เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มปีนป่าย
  • รถหัดเดินไม่มีความจำเป็น อาจทำให้เด็กเดินช้า พลิกคว่ำตกจากที่สูงได้ง่าย
  • ไม่ควรวางเด็กไว้ที่สูงโดยลำพัง เช่น เตียง โต๊ะ หรือโซฟา
  • อย่าให้เด็กเล่นสิ่งของชิ้นเล็กตามลำพัง เพราะเด็กอาจหยิบมาใส่ปากหรือจมูกได้ และไม่ควรให้เด็กเล่นสิ่งของที่มีสายยาว เพราะอาจรัดอวัยวะเด็กได้

 

คำแนะนำสำหรับคุณแม่

ปัจจุบันมีโรคติดต่อในเด็กเล็กที่ต้องระวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง หากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่ง 5 โรคที่พบบ่อย ได้แก่

  1. ไวรัส RSV
  2. ไข้เลือดออก
  3. โรคมือเท้าปาก
  4. ไข้หวัดใหญ่
  5. ท้องร่วง ท้องเสีย

 

พัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน ทารกในวัย 10 – 12 เดือน มีพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมที่เติบโตมากขึ้น ทำให้ลูกสนใจการเล่นมากขึ้น และอาจมีปัญหา ในการเลือกกินอาหาร คุณแม่จึงต้องใส่ใจในเรื่องโภชนาการของลูก โดยที่ไม่บังคับเขาให้กินข้าว และกระตุ้นพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูก ด้วยกิจกรรมพัฒนาสมองและวิธีที่แนะนำในข้างต้น

 

 

อ้างอิง:

  • สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  • การส่งเสริมพัฒนาการเด็กต้องทำด้วยความรักและ ความเอาใจใส่ และทำอย่างสม่ำเสมอ ควรดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
  • หลักสูตรการใช้คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและบุคลากรทางการศึกษา, สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
  • คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566

บทความแนะนำ

11 วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

11 วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

การเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน อาจดูเป็นเรื่องยากสำหรับคุณแม่ ไปดูวิธีการดูแลทารกแรกเกิดและวิธีเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่ช่วยให้การเลี้ยงลูกง่ายขึ้นกัน

แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้

แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้

แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดต้องมีอะไรบ้าง พ่อแม่มือใหม่ควรเตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องเดินทางไปแจ้งเกิดลูกน้อย รวมทุกคำตอบเกี่ยวกับเอกสารแจ้งเกิดที่ควรรู้

รวมแคปชั่นลูกสาว แคปชั่นรักลูกสาว อวดลูกในโซเชียล

รวมแคปชั่นลูกสาว แคปชั่นรักลูกสาว อวดลูกในโซเชียล

ไอเดียแคปชั่นลูกสาว โพสอวดลูกสาวได้ไม่ซ้ำวัน แคปชั่นลูกสาวโดนใจ ให้คุณแม่เลือกใช้ได้ง่าย ๆ แคปชั่นรักลูกสาวบอกรักลูก ช่วยเรียกเสียงหัวเราะในโซเชียลให้ลูกรัก

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ทารก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ทารก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการทารก 11 เดือน ลูกน้อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการทารก 11 เดือนและเสริมพัฒนาการเด็ก 11 เดือน ได้อย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการ

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ทารก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ทารก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการทารก 10 เดือน ลูกน้อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการทารก 10 เดือนและเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือน ได้อย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการ

พัฒนาการทารกแรกเกิด - 1 ปี พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย

พัฒนาการทารกแรกเกิด - 1 ปี พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย

พัฒนาการทารกแรกเกิดจนถึง 1 ปี ลูกน้อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัยได้อย่างไร กิจกรรมเสริมพัฒนาทารกให้สมวัย มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ทารก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ทารก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการทารก 9 เดือน ลูกน้อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการทารก 9 เดือนและเสริมพัฒนาการเด็ก 9 เดือน ได้อย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการ

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก