ตรวจภายในหลังคลอด คุณแม่มือใหม่ตรวจหลังคลอดเจ็บไหม

ตรวจภายในหลังคลอด คุณแม่มือใหม่ตรวจหลังคลอดเจ็บไหม

คุณแม่ตั้งครรภ์
บทความ
ธ.ค. 4, 2024
6นาที

คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจภายในหลังคลอด เพื่อตรวจคัดกรองโรคและตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย การตรวจภายในหลังคลอดจะช่วยให้คุณแม่ทราบว่า ร่างกายของคุณแม่ฟื้นฟูได้ดีหรือไม่ มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือเปล่า อีกทั้งคุณแม่สามารถขอคำแนะนำเรื่องการวางแผนการตั้งครรภ์ หรือการคุมกำเนิดจากคุณหมอได้ด้วย

ตรวจภายในหลังคลอด คุณแม่มือใหม่ตรวจหลังคลอดเจ็บไหม

สรุป

  • ตรวจภายในหลังคลอด เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่หลังคลอดควรทำ เพราะจะทำให้คุณแม่ทราบว่าร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหรือยัง หรือมีอาการผิดปกติอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า
  • การตรวจภายในหลังคลอดไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ในระหว่างการตรวจภายในหลังคลอด คุณแม่ควรทำใจให้สบาย ไม่ต้องเกร็ง เพราะใช้เวลาตรวจไม่นานเพียง 5 นาทีเท่านั้น
  • การตรวจภายในหลังคลอด เป็นการตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกาย รวมถึงการตรวจมะเร็งปากมดลูก เพื่อคัดกรองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด หากพบความผิดปกติ คุณแม่จะได้รับคำแนะนำในการดูแล และการเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ตรวจหลังคลอดเจ็บไหม คุณแม่ควรไปตรวจตอนไหน

การตรวจภายในหลังคลอดไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว หรือตึง ๆ เล็กน้อย ปกติแล้วคุณหมอจะนัดตรวจสุขภาพ หรือตรวจร่างกายหลังจากคุณแม่คลอดลูกน้อยได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ในระหว่างการตรวจภายในหลังคลอด คุณแม่ควรทำใจให้สบาย หายใจเข้าลึก ๆ และไม่ต้องเกร็ง เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกาย รวมถึงการตรวจมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการตรวจหลังคลอดนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที

 

ตรวจภายในหลังคลอดมีประโยชน์กับคุณแม่ยังไง

การตรวจภายในหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่หลังคลอดควรทำ เพราะจะทำให้คุณแม่ทราบว่าร่างกายกลับฟื้นตัวดีหรือไม่ หรือมีอาการผิดปกติอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า เพราะถ้าตรวจเจอเร็วคุณแม่จะได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อีกทั้งคุณแม่สามารถขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของตัวเองและลูกน้อยจากคุณหมอได้อีกด้วย

 

ตรวจภายในหลังคลอด ต่างกับตรวจภายในทั่วไปยังไง

การตรวจภายในหลังคลอดกับการตรวจภายในทั่วไป มีลักษณะการตรวจที่คล้าย ๆ กัน คือ แพทย์จะใช้คีมปากเป็ดสอดเข้าไปในช่องคลอด จากนั้นจะใช้นิ้วสอดเข้าไปภายใน มืออีกข้างกดท้องน้อยเบา ๆ เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ขนาดมดลูก และรูปร่างของมดลูก เป็นต้น และการตรวจภายในหลังคลอดจะมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย เพื่อตรวจเช็กสุขภาพของคุณแม่หลังคลอด เช่น คุณหมอจะตรวจดูว่าแผลฝีเย็บหายสนิทติดกันดีแล้วหรือไม่ มดลูกเข้าอู่แล้วหรือยัง

 

ตรวจภายในหลังคลอด มีขั้นตอนยังไงบ้าง

การตรวจภายในหลังคลอด มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และใช้เวลาไม่นานเพียง 5 นาทีเท่านั้น โดยคุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด อาจรู้สึกตึงบ้างเล็กน้อย หากคุณแม่รู้สึกเจ็บให้รีบแจ้งคุณหมอทันที สำหรับขั้นตอนการตรวจภายในหลังคลอด มีดังนี้

  • ก่อนเข้าตรวจภายในหลังคลอด พยาบาลจะให้คุณแม่เปลี่ยนเสื้อผ้าของทางโรงพยาบาล เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจ ก่อนที่คุณแม่จะขึ้นไปนอนหงาย แล้ววางขาพาดบนขาหยั่งที่ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ ในระหว่างนี้ให้คุณแม่นอนสบาย ๆ ผ่อนคลายให้มากที่สุด
  • จากนั้นคุณหมอจะใช้คีมปากเป็ด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจช่องคลอดสอดเข้าไปเพื่อตรวจภายในช่องคลอด และปากมดลูก หากคุณแม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย คุณหมอจะใช้ไม้สวอปป้ายเก็บเซลล์ตัวอย่างที่รอบ ๆ ปากมดลูกแล้วส่งตรวจ
  • หลังจากนั้น คุณหมอจะสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด เพื่อคลำตรวจภายในช่องคลอด พร้อมกับใช้มืออีกข้างกดเบา ๆ บริเวณท้องน้อย เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก ตรวจดูขนาดและรูปร่างของมดลูก รวมถึงรังไข่ทั้งสองข้างด้วย

 

ตรวจหลังคลอดเจ็บไหม หลังคลอดคุณแม่ควรตรวจอะไรบ้าง

 

หลังคลอดคุณแม่ควรตรวจอะไรบ้าง

การตรวจหลังคลอดไม่ได้มีแค่การตรวจภายในหลังคลอดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการตรวจอื่น ๆ ที่ช่วยประเมินสุขภาพหลังคลอดของคุณแม่ได้ ได้แก่

1. ตรวจร่างกายทั่วไป

การตรวจสุขภาพหลังคลอดคล้ายกับการตรวจร่างกายปกติ โดยเริ่มจากการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจหน้าท้อง ตรวจแผลผ่าตัดในกรณีที่คุณแม่ผ่าคลอด ตรวจเต้านม การไหลของน้ำนม เพื่อดูว่าคุณแม่มีน้ำนมให้ลูกเพียงพอหรือไม่

2. ตรวจแผลผ่าคลอด

คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ คุณหมอจะตรวจแผลฝีเย็บว่าแผลแห้งติดสนิทกันแล้วหรือไม่ ส่วนคุณแม่ผ่าคลอดคุณหมอจะตรวจดูการสมานของแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องเช่นเดียวกัน

3. ตรวจภายในหลังคลอด

นอกจากดูแผลฝีเย็บแล้ว คุณหมอจะตรวจดูว่ามดลูกของคุณแม่เข้าอู่เรียบร้อยแล้วหรือยัง มีการติดเชื้ออักเสบหรือความผิดปกติที่โพรงมดลูกหรือไม่

4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

คุณหมอจะใช้วิธีการตรวจที่เรียกว่า “แปปเสมียร์ (Pap smear)” โดยใช้ไม้สวอปเก็บตัวอย่างเซลล์รอบ ๆ ปากมดลูก แล้วส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการ

5. ตรวจสภาพจิตใจ

คนท้องหลังคลอดมักเผชิญปัญหากังวลใจมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อ่อนเพลียจากการคลอด กังวลถึงการเลี้ยงลูก เจ็บแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าคลอด ทำให้คุณแม่เกิดความเครียดขึ้นไม่รู้ตัวและอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ในการตรวจหลังคลอดนี้คุณหมอจึงต้องตรวจสภาพจิตใจของคุณแม่ด้วย

 

อาการผิดปกติ หลังคลอด ที่คุณแม่ควรระวัง

ช่วงหลังคลอดเป็นช่วงที่ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับร่างกายของคุณแม่ค่อย ๆ ฟื้นฟูขึ้น เพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในระหว่างนี้หากคุณแม่พบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดตรวจหลังคลอด ได้แก่

  • มีไข้สูง หนาวสั่น โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการปวดหัวรุนแรง
  • รู้สึกปวดหน่วงท้องน้อยมาก ๆ หรือรู้สึกแสบขัดเวลาปัสสาวะ
  • มีเลือดออกผิดปกติ หรือหนองไหลออกมาจากแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าคลอด
  • น้ำคาวปลามีสีแดงสด ไม่จางลงภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือแดงสดตลอด 15 วันหลังคลอด และมีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ
  • เต้านมของคุณแม่มีอาการบวม แดง หรือมีก้อน รู้สึกเจ็บปวด อักเสบ หรือหัวนมแตกจนเป็นแผล
  • แผลฝีเย็บอักเสบ บวม แดง และปวด หรือแผลผ่าคลอดอักเสบ บวม แดง และมีหนอง

 

ตรวจร่างกายหลังคลอดแพงไหม มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

การตรวจร่างกายหลังคลอด มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันตามการเลือกใช้สถานพยาบาล และสิทธิต่าง ๆ เช่น ประกันสังคม ประกันสุขภาพ หรือหลักสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น

1. สิทธิกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

คุณแม่หลังคลอดสามารถใช้บริการตรวจหลังคลอดได้ฟรี! และยังได้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิกและไอโอดีนทานฟรีอีกด้วย ตามหน่วยบริการสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการที่ใช้สิทธิประจำ และประกันสังคม

2. หน่วยบริการรัฐตามที่กรมอนามัยกำหนด

ตรวจหลังคลอดแบบเหมาจ่ายครั้งละ 150 บาท และได้รับยาเสริมธาตุเหล็ก กรดโฟลิก ไอโอดีน ในราคาเหมาจ่ายครั้งละ 135 บาท ไม่เกิน 2 ครั้ง

3. คลินิกและโรงพยาบาลเอกชน

ค่าใช้จ่ายหลังคลอดจะอยู่ที่ประมาณหลักพัน โดยคุณแม่สามารถสอบถามค่าใช้จ่ายการตรวจร่างกายหลังคลอด จากสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่คุณแม่เข้ารับการคลอด เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับคุณแม่มากที่สุด

 

นอกจากการดูแลลูกน้อยแล้ว คุณแม่อย่าลืมดูแลตัวเองหลังคลอด โดยเข้ารับการตรวจหลังคลอดตามที่คุณหมอนัด หากในระหว่างที่รอพบคุณหมอ คุณแม่มีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายให้รีบไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อให้คุณหมอตรวจ โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดวันนัดตรวจ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่หลังคลอด

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. วิธีดูแลสุขภาพหลังคลอด, โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง
  2. การตรวจร่างกายหลังคลอด...สำคัญอย่างไร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. การตรวจภายใน (Pelvic Exam), โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  4. การดูแลตัวเองหลังคลอดที่คุณแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลเปาโล
  5. ผู้หญิงตรวจภายในครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไรดี?, โรงพยาบาลวิมุต
  6. ตรวจภายใน ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด! ตรวจภายในสำคัญอย่างไร? ต้องตรวจอะไรบ้าง?, โรงพยาบาลศิครินทร์
  7. การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน จ่ายตามรายการบริการ พ.ศ. 2566, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  8. ตรวจหลังคลอด ตรวจอะไรบ้าง? ตรวจที่คลินิกตรวจหลังคลอดใกล้ฉัน, Intouch Medicare
  9. สิทธิประโยชน์หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อ้างอิง ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2567