อาการคนท้อง 3 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 3 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ตอนนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 3 สัปดาห์แล้ว คุณแม่หลายคนคงมีอาการคนท้องที่ชัดเจนมากขึ้น ในทางกลับกันคุณแม่บางคนอาจจะไม่มีอาการแพ้ท้องแต่อย่างใด ไม่ว่าคุณแม่จะมีอาการหรือไม่แต่สิ่งสำคัญเลยเมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งท้องคือ การดูแลตนเองให้ดีที่สุดเพื่อลูกน้อยในครรภ์และพัฒนาการที่ดีของลูก
สรุป
- เมื่อท้องได้ 3 สัปดาห์ขนาดหน้าท้องของคุณแม่ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะลูกน้อยในท้องยังเป็นเพียงกลุ่มเซลล์เล็ก ๆ ที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- อาการคนท้อง 3 สัปดาห์ที่สามารถพบได้ เช่น ประจำเดือนขาด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย จมูกไวต่อกลิ่น อยากอาหาร เวียนหัว คุณแม่บางคนอาจมีอาการบางอาการ หรือไม่มีอาการคนท้องเลยก็ได้
- หากคุณแม่ตรวจการตั้งครรภ์แล้วพบว่าตัวเองตั้งท้องแล้วควรดูแลตัวเองเรื่องอาหารให้ดี พยายามเน้นทานอาหารที่มีส่วนช่วยสร้างร่างกายและสมองให้กับลูกน้อยในท้อง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายต่อเด็กอย่างแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ตลอดการตั้งครรภ์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อาหารที่คุณแม่ท้อง 3 สัปดาห์ควรหลีกเลี่ยง
- อาการคนท้อง 3 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 3 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 3 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 3 สัปดาห์
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 3 สัปดาห์
หลังจากการที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิย้ายเข้าไปฝังตัวในผนังมดลูกแล้ว ในสัปดาห์นี้เซลล์มากมายจะถูกแบ่งออกไปและค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับที่ร่างกายของคุณแม่เริ่มผลิตฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ขึ้น แต่ฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลให้ประจำเดือนของคนท้องไม่มาหรือประจำเดือนขาดหายไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงเรียกฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ว่าเป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์นี้เองที่คุณแม่สามารถตรวจหาการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองง่าย ๆ ที่บ้านโดยการใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์
ปกติแล้ว การตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) สามารถตรวจได้ภายใน 7 วันหลังการตกไข่ ทำให้คุณแม่ไม่ทราบแน่ชัดว่าตัวเองตั้งครรภ์มากี่สัปดาห์แล้ว วิธีการคำนวณหาอายุครรภ์ง่าย ๆ เลย คือ การเริ่มนับจากวันแรกของประจำเดือนที่มาครั้งล่าสุด หรือวันที่ประจำเดือนน่าจะมาเป็นวันแรกในเดือนปัจจุบัน แต่ประจำเดือนไม่มาไม่ใช่นับจากประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้าย แล้วให้คำนวณเป็นรายสัปดาห์นั่นเอง
อาหารที่คุณแม่ท้อง 3 สัปดาห์ควรหลีกเลี่ยง
คนท้อง 3 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ตัวอ่อนมีการสร้างเส้นประสาทและกระดูกสันหลัง ในช่วงนี้คุณแม่ต้องใส่ใจเกี่ยวกับอาหารการกินที่ช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและอวัยวะของทารกน้อยในครรภ์โดยหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารรสจัด แล้วหันไปเน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ทางโภชนาการ มีธาตุเหล็กที่ช่วยเสริมการสร้างอวัยวะ และการเติบโตของเซลล์สมองแทน เช่น เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว และถั่ว เป็นต้น อีกทั้ง คุณแม่ควรงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของทารกน้อยในครรภ์ได้
อาการคนท้อง 3 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
อาการคนท้องในระยะแรก สัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง
- ประจำเดือนขาด ปกติแล้วในทุก ๆ เดือน ผู้หญิงมักจะมีรอบเดือนอยู่เสมอ หากประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนไม่มาอาจเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ได้ คุณแม่ควรซื้อที่ตรวจครรภ์มาทดสอบการตั้งครรภ์เบื้องต้นก่อน หากไม่แน่ใจสามารถไปตรวจกับแพทย์เพื่อความแม่นยำมากขึ้น
- อยากหรือเบื่ออาหาร คนท้องที่ตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ มักมีความรู้สึกอยากทานอาหารที่แตกต่างกันออกไป บางคนอยากทานอาหารแปลก ๆ ที่ไม่เคยกินมาก่อน หรืออยากทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ของเปรี้ยวอย่างผลไม้ดอง ซึ่งอาการนี้เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์
- อ่อนเพลีย อาการอ่อนเพลียเป็นหนึ่งในอาการคนท้องที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่คนท้องมักมีอาการเหนื่อยล้าในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์และอาจเป็นยาวไปจนกระทั่งคลอดลูกน้อยเลยก็ได้ หากคุณแม่มีอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยล้า แนะนำให้พักผ่อนมาก ๆ ทานอาหารที่มีโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อเพิ่มพลังงานในระหว่างวันให้กับคุณแม่
- จมูกไวต่อกลิ่น คุณแม่หลายคนเมื่อตั้งท้องจะรู้สึกเหม็นกับอาหารบางอย่างทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งอาการนี้เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์เช่นเดียวกันหรืออาการแพ้ท้องเริ่มแรก สำหรับสาเหตุนั้นยังไม่มีเหตุผลทางการแพทย์มารองรับ
- เวียนหัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายคนท้องทำให้คุณแม่มีอาการปวดหัว เวียนหัวขึ้นมาได้ ซึ่งอาการวิงเวียนศีรษะนี้คุณแม่สามารถบรรเทาได้โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยประมาณวันละ 8 แก้ว
ท้อง 3 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์นี้ ท้องของคุณแม่อาจไม่ได้มีขนาดใหญ่ขึ้นและไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของหน้าท้องแต่อย่างใด เพราะเป็นระยะที่เซลล์ถูกแบ่งตัวจนกลายเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีมากกว่า 100 เซลล์ หรือที่เรียกว่า “เอ็มบริโอ” ขนาดเล็กเท่านั้น
คุณแม่จึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องจะมีเพียงฮอร์โมนที่ส่งสัญญาณให้ร่างกายของคุณแม่หยุดการมีประจำเดือนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์แทนที่ กลุ่มเซลล์นี้จะค่อย ๆ เติบโตขึ้นโดยที่ชั้นนอกจะกลายไปเป็นรก ส่วนชั้นในจะเป็นเอ็มบริโอ และ นี่คือ 3 สัปดาห์จากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายของคุณแม่ ไข่ที่ปฏิสนธิจะเคลื่อนที่ช้า ๆ ผ่านท่อนำไข่เข้าสู่มดลูก เริ่มต้นจากเซลล์เดียวซึ่งจะแบ่งตัวครั้งแล้วครั้งเล่า
โดยเมื่อถึงเวลาไข่ที่ปฏิสนธิแล้วเคลื่อนตัวถึงมดลูกของคุณแม่กลายมาเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีมวลมากกว่า 100 เซลล์ เรียกว่าเอ็มบริโอ และยังคงเติบโตเมื่อเข้าสู่มดลูกแล้วตัวอ่อนจะเกาะติดกันเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก คุณแม่จะไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในร่างกาย ณ จุดนี้ แต่ฮอร์โมนกำลังส่งสัญญาณให้ร่างกายหยุดกระบวนการมีประจำเดือนและสนับสนุนการตั้งครรภ์
ท้อง 3 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 3 สัปดาห์ ในระยะนี้ทารกมีลักษณะคล้ายกับเข็มหมุดขนาดเล็กเพียง 0.048 มม. เท่านั้น ซึ่งดูเหมือนเป็นกลุ่มเซลล์มากกว่าเป็นทารก
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 3 สัปดาห์
- หลังจากที่ไข่และสเปิร์มได้ผสมกันและเกิดการแบ่งเซลล์กลายเป็นกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า “เอ็มบริโอ”
- โดยที่เซลล์ชั้นนอกสุดจะพัฒนากลายเป็นรก ส่วนเซลล์ชั้นในจะกลายเป็นเอ็มบริโอ
- เริ่มมีการสร้างเส้นประสาทและกระดูกสันหลังขึ้นมาแล้ว
- อีกไม่นานลูกน้อยจะเริ่มมีส่วนหัวและลำตัวเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 6
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 3 สัปดาห์
1. ใส่ใจกับการรับประทานอาหารให้มากขึ้น
ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรทานอาหารสำหรับคนท้อง แม้ในช่วงนี้คุณแม่ไม่ได้ต้องการพลังงานเพิ่มสูงกว่าคนทั่วไปในแต่ละวัน แต่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักโภชนาการ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายคุณแม่และทารก อาหารที่คุณแม่ควรทาน ได้แก่
- อาหารที่เสริมสร้างร่างกายของลูก โดยคุณแม่ควรทานอาหารจำพวกโปรตีนอยู่เสมอ ซึ่งพบได้มากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ นม ไข่
- อาหารที่ช่วยเสริมสร้างระบบสมองและระบบประสาท เช่น อาหารที่มีกรดโฟลิก และไอโอดีนจากอาหารทะเลบางชนิด
- อาหารที่มีธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางในคนท้อง เช่น ผักใบเขียวบางชนิด เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง เครื่องในสัตว์ และไข่แดง เป็นต้น
2. ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด
นอกจากดูแลสุขภาพของตัวเองแล้ว คุณแม่ควรดูแลสุขภาพจิตด้วย เพราะอารมณ์และความเครียดส่งผลต่อลูกน้อยในท้องได้ เช่น ลูกน้อยมีความเสี่ยงพัฒนาการที่ช้า เสี่ยงต่อการบกพร่องทางภาษา ส่วนคุณแม่อาจส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร หรือนอนไม่หลับได้
3. เลิกสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในท้องโดยตรงทั้งทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า ทารกเสี่ยงต่อความพิการโดยกำเนิด และคนท้องเสี่ยงแท้งได้ง่ายด้วยเช่นกัน
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
คนท้องมักมีอาการอ่อนเพลียได้ง่าย วิธีการที่ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียได้ดีคือการพักผ่อนค่ะ ในแต่ละวันคุณแม่ควรพักผ่อนให้มาก ๆ หากคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้านระหว่างที่ตั้งครรภ์และต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานแนะนำให้พักสายตาแล้วหาเก้าอี้มาพาดขาบ้าง เมื่อกลับมาที่บ้านควรนอนพักมาก ๆ ให้ได้วันละประมาณ 10 ชั่วโมง
หากคุณแม่อยากให้ลูกน้อยในท้องแข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดี ควรเริ่มดูแลตัวเองทันทีที่รู้ว่ามีการตั้งครรภ์ โดยหมั่นเข้าไปพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายคนท้องและทารกน้อยในครรภ์ พยายามพักผ่อนให้มาก ๆ หากมีโอกาสลองหาเวลางีบระหว่างวัน ทำอารมณ์ให้แจ่มใสไม่เครียด และที่สำคัญควรงดการดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาดเพราะอาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงอันตรายและมีปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- Your Pregnancy Week by Week: Weeks 1-4, WebMD
- Pregnancy and Conception, WebMD
- นับอายุครรภ์อย่างไรให้แม่น!, โรงพยาบาลเปาโล
- การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
- ท้องไตรมาสแรก ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลเปาโล
- อาการคนท้อง กับก่อนมีประจำเดือนต่างกันอย่างไร, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล อ้อมน้อย
- Early Signs and Symptoms of Pregnancy, University of New Mexico
- เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์, โรงพยาบาลนครธน
- การปฏิบัติตัวของคุณแม่มือใหม่ และโภชนาการที่ดีระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- 10 ข้อห้ามที่ “คนท้อง” ต้องรู้, โรงพยาบาลสมิติเวช
- 3 Weeks Pregnant, American pregnancy
อ้างอิง ณ วันที่ 12 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง