อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 15 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 15 สัปดาห์จะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่า ร่างกายตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกในช่วงท้อง 15 สัปดาห์นี้ จะมีอาการแบบไหนเกิดขึ้นได้อีก และควรดูแลตัวเองอย่างไรให้ดีในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ มาติดตามอ่านสาระดี ๆ เพื่อประโยชน์ต่อคุณแม่และตัวลูกน้อยในครรภ์
PLAYING: อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 15 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
สรุป
- อาการและสภาวะอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงท้อง 15 สัปดาห์ ซึ่งคุณแม่สามารถดูแลและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ คือการหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อส่งผลดีกับตัวเองและพัฒนาการที่ดีต่อลูกน้อยในครรภ์
- อาการเลือดกำเดาไหลสามารถเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ แต่เป็นปัญหาที่ไม่รุนแรงสามารถป้องกันและรับมือได้
- เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ลูกน้อยในครรภ์จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า ขนาดท้องของคุณแม่จะเริ่มขยายใหญ่ขึ้น และพัฒนาการของทารกในครรภ์ในช่วงนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทารกจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 70 กรัม และความยาวประมาณ 10-12 นิ้ว
- การดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในระยะท้อง 15 สัปดาห์หรือช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน ควรได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับพลังงานเพียงพอต่อร่างกายคุณแม่และส่งต่อไปถึงลูกน้อย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สภาวะอารมณ์ตอนท้อง 15 สัปดาห์ จะเป็นอย่างไร?
- คุณแม่อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ เลือดกำเดาไหล ผิดปกติหรือไม่?
- เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์อาจ เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง
- วิธีห้ามเลือดกำเดาไหล สำหรับแม่ท้อง 15 สัปดาห์
- อาการคนท้อง 15 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 15 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 15 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเองให้สุขภาพดี สำหรับคุณแม่ท้อง 15 สัปดาห์
เมื่อย่างเข้าอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักตัวในช่วงนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมได้ ซึ่งในช่วงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรกแม่ท้องควรมีน้ำหนักตัวคงที่ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 - 2 กิโลกรัม โดยจะเริ่มสังเกตเห็นจากหน้าท้องที่ค่อย ๆ นูนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และมีอาการต่าง ๆ รวมถึงสภาวะทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ อันเนื่องมาจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงตั้งครรภ์นั่นเอง
สภาวะอารมณ์ตอนท้อง 15 สัปดาห์ จะเป็นอย่างไร?
สำหรับว่าที่คุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์ลูกคนแรก อาจจะรับรู้ได้ถึงสภาวะอารมณ์ของตัวเองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนไปและอีกหลายปัจจัยที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอารมณ์แปรปรวนได้ในขณะตั้งครรภ์
สภาวะอารมณ์ตอนท้อง 15 สัปดาห์ คุณแม่ท้องจะเริ่มรู้สึกว่าอารมณ์เริ่มคงที่มากขึ้น เหนื่อยน้อยลง อาจจะเป็นเพราะร่างกายและจิตใจเริ่มมีการปรับตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาสแรก ทั้งความรู้สึกที่ดีต่อการเป็นว่าที่คุณแม่ในขณะตั้งท้อง ยอมรับในการตั้งครรภ์ เริ่มเอาใจใส่และดูแลตัวเองและลูกน้อยในครรภ์มากขึ้น และเตรียมตัววางแผนรอคอยลูกน้อยที่จะคลอดออกมา คุณแม่จะเริ่มมีความสุขมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 นั้นคุณแม่ท้องบางคนอาจรู้สึกว่ามีความต้องการทางเพศเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะบริเวณปากช่องคลอดและช่วงอวัยวะเพศมีความไวต่อการสัมผัสขึ้นเนื่องจากการคั่งของเลือดและการขับสารของเมือกเพิ่มขึ้นบริเวณช่องคลอด ซึ่งในระยะนี้หากคุณแม่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ หากแต่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด มีภาวะเลือดออกมากทางช่องคลอด ปากมดลูกไม่สมบูรณ์ เป็นต้น ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หรือควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตามในบางครั้งคุณแม่อาจจะยังมีความรู้สึกวิตกเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูหลังคลอดลูก เป็นอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์นี้ สิ่งที่คุณแม่ท้องสามารถรับมือภาวะอารมณ์ที่แปรปรวนได้ คือการหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ การมองโลกแบบคิดบวกให้เกิดสิ่งดี ๆ รอบข้างตนเอง หากิจกรรมยามว่างทำ พูดคุยหรือระบายปัญหาความกังวลต่าง ๆ กับคนใกล้ชิดในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสำหรับคนท้อง การไปเที่ยวเปลี่ยนสถานที่ หรือนั่งสมาธิ เป็นต้น และหากพบว่ามีสภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติ คุณแม่ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำหรือรับการตรวจรักษา
คุณแม่อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ เลือดกำเดาไหล ผิดปกติหรือไม่?
เลือดกำเดาไหล หนึ่งในอาการที่มักเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ แต่ก็เป็นปัญหาที่ทำให้แม่ท้องหลายคนอาจกังวลว่าจะส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งสาเหตุการเกิดเลือดกำเดาไหลในขณะตั้งครรภ์ทางการแพทย์ได้อธิบายว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อจมูกที่เกิดจากการตั้งครรภ์และเกิดภาวะเลือดกำเดาไหลได้
ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 รวมถึงในช่วง 15 สัปดาห์นี้ ร่างกายของคุณแม่จะมีการผลิตเลือดออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ส่งผลให้หลอดเลือดภายในร่างกายมีการขยายใหญ่มากขึ้นเพื่อไปรองรับการไหลเวียนของเลือด จากเดิมโพรงจมูกที่มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกขยายตัว ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการแตกทำให้เกิดอาการเลือดกำเดาไหลออกมานั่นเอง
เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง
เลือดกำเดาไหล หนึ่งในอาการที่มักเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุการเกิดเลือดกำเดาไหลในขณะตั้งครรภ์ทางการแพทย์ได้อธิบายว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อจมูกที่เกิดจากการตั้งครรภ์และเกิดภาวะเลือดกำเดาไหลได้ ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่อาจมีเลือดกำเดาไหลได้ เนื่องจากร่างกายของคุณแม่จะมีการผลิตเลือดออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ส่งผลให้หลอดเลือดภายในร่างกายมีการขยายใหญ่มากขึ้นเพื่อไปรองรับการไหลเวียนของเลือด จากเดิมโพรงจมูกที่มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกขยายตัว ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการแตกทำให้เกิดอาการเลือดกำเดาไหลออกมานั่นเอง นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิเช่น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ อาจส่งผลทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจมูก ไซนัส รวมถึงภาวะเลือดกำเดาไหลด้วย
- ภาวะเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง ซึ่งอาจเกิดได้จาก การอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศแห้งเกินไป การอยู่ในห้องแอร์เป็นเวลานาน หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น ดังนั้นคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศแห้งจนเกินไป และควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ
- โรคความดันโลหิตสูงหรือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการแข็งตัวของหลอดเลือดในโพรงจมูก
วิธีห้ามเลือดกำเดาไหล
- หลีกเลี่ยงการเงยหน้าหรือเอนตัวลงนอน เมื่อพบว่าเลือดดำเดาไหล ให้ยืนหรือนั่งตัวตรง
- ก้มหน้าเล็กน้อย บีบจมูกเบา ๆ ค้างไว้ประมาณ 10-15 นาที เพื่อป้องกันไม่เลือดกำเดาไหลลงคอ
- เมื่อบีบจมูกครบกำหนดแล้ว หากเลือดกำเดาไม่หยุดไหลสามารถใช้น้ำแข็งประคบดั้งจมูกเพื่อช่วยให้หลอดเลือดหดตัว หากภายใน 30 นาทีเลือดกำเดายังไม่หยุด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการและรับการรักษาที่เหมาะสม
- เมื่อเลือดกำเดาหยุดไหล ควรหลีกเลี่ยงการแคะ การบีบจมูก และการสั่งน้ำมูกแรง ๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย กิจกรรมที่ต้องใช้แรงนาน ๆ หรือการยกของหนัก อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดเลือดกำเดาไหลซ้ำ
จะเห็นได้ว่าอาการเลือดกำเดาไหลสามารถเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ แต่เป็นปัญหาที่ไม่รุนแรงสามารถป้องกันและรับมือได้ นอกเสียจากว่ามีอาการร่วมด้วยกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจขัด เวียนศีรษะ ปวดศีรษะรุนแรง มีไข้ หนาวสั่น อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องอืดรุนแรง ฯลฯ หากสังเกตว่ามีอาการรุนแรงร่วมในขณะที่เลือดกำเดาไหลและห้ามเลือดตามวิธีข้างต้นแล้ว เพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการและรับการรักษาที่เหมาะสม
อาการคนท้อง 15 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ถึงแม้อาการแพ้ท้องคลื่นไส้จะเริ่มลดลงแล้ว แต่ก็ยังคงมีอาการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตได้อีกหลายอย่าง คุณแม่ท้อง 15 สัปดาห์อาจจะมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้
1. ปวดหลัง
อันเนื่องมาจากน้ำหนักที่เกิดขึ้นในตอนตั้งครรภ์ รวมถึงจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การยกของหนัก การนั่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การสวมใส่รองเท้าที่มีส้นสูงเกินไป รวมถึงมีอาการเหนื่อยง่าย รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา
2. ตะคริว
ส่วนใหญ่มักจะเกิดที่บริเวณน่องขาและปลายเท้า อันเนื่องมาจากการยืนหรือการนั่งมากเกินไปจึงทำให้เกิดการคั่งของเลือดบริเวณกล้ามเนื้อ รวมถึงการลดลงของระดับแคลเซียมที่ถูกดึงนำไปใช้ในการช่วยเสริมสร้างกระดูกให้กับทารกในช่วงตั้งครรภ์ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ท้องเป็นตะคริวได้เช่นกัน
3. ท้องผูก
สาเหตุเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ถูกสร้างเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ รวมไปถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารในช่วงตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่อาจรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยหรือดื่มน้ำน้อยเกินไป ร่วมกับมดลูกที่ขยายและตัวทารกในครรภ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไปส่งผลให้เกิดหรือการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ลดลง หรือเกิดการกดทับบริเวณลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระแข็ง มีการถ่ายยากขึ้น เกิดอาการท้องผูก และอาจส่งผลให้เกิดอาการริดสีดวงได้
4. ท้องอืด
สาเหตุเกิดจากการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ที่มีการเคลื่อนไหวช้าลง รวมถึงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแก๊สหรือลมมากในขณะตั้งครรภ์
5. เส้นเลือดขอด
ด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ มดลูกที่ขยายตัวขึ้นจึงไปกดทับการไหลเวียนของหลอดเลือดบริเวณขาทั้งสองข้าง ทำให้เกิดเลือดคั่งและทำให้หลอดเลือดโป่งพองได้ตั้งแต่บริเวณโคนขาจนถึงปลายเท้า หรืออาจเกิดจากการที่คุณแม่ท้องนั่งไขว่ห้างหรือห้อยเท้าเป็นเวลานาน
6. ตกขาว
การมีตกขาวในระยะเวลาตั้งครรภ์ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงในช่องคลอดมากขึ้น แต่คุณแม่ควรสังเกตหากพบว่าตกขาวผิดปกติขณะตั้งครรภ์ มีกลิ่นเหม็น มีสีผิดปกติ หรือมีอาการคันร่วมด้วย ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ
ท้อง 15 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ลูกน้อยในครรภ์จะมีการเติบโต เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า และร่างกายของทารกอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมพร้อมที่จะพัฒนาการเจริญเติบโตเต็มที่ต่อไป ในระยะนี้คุณแม่จะสังเกตเห็นหน้าท้องตัวเองจะพบว่าเริ่มขยายใหญ่ขึ้น และน้ำหนักตัวควรจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเริ่มที่จะเลือกใส่ชุดคลุมท้องที่ใส่แล้วไม่ทำให้ร่างกายรู้สึกอัดอึดและเลือกขนาดใหญ่ยกทรงที่ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับเต้านมที่ขยายขนาดเพิ่มขึ้น
ท้อง 15 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกครรภ์อายุ 15 สัปดาห์ ในช่วงเวลานี้ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 14 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัวประมาณ 110 กรัม ในระยะนี้ รูปร่างทารกในครรภ์จะเริ่มเด่นชัดมากขึ้น พัฒนาการของลูกน้อยเริ่มมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อวัยวะต่าง ๆ เริ่มทำงานได้เต็มที่
พัฒนาการทารกในครรภ์ 15 สัปดาห์
- พัฒนาการด้านร่างกาย เริ่มมีผม ขนคิ้ว และขนตางอก ขาทั้งสองข้างเริ่มยาวขึ้น เมื่อคุณแม่ไปอัลตราซาวด์จะได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจลูกน้อยแล้ว เนื้อผิวหนังเริ่มเป็นสีชมพูและใส ขนาดคอยาวขึ้นทำให้หน้าและลำตัวแยกออกได้ชัด และทำให้ศรีษะดูเล็กลง หน้าตาเริ่มพัฒนาชัดขึ้น มีการสร้างหูชั้นนอก ไตเริ่มมีการทำงานได้ดีกว่าเดือนก่อน ๆ ตับจะเริ่มสร้างเม็ดเลือดแดง ส่วนถุงน้ำดีก็จะเริ่มสร้างน้ำดี ฟันน้ำนมเริ่มงอกขึ้นใต้เหงือก
- พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ลูกน้อยในครรภ์เริ่มสามารถกลอกตาไปมาได้ งอข้อศอกได้ มีอาการสะอึกเป็นครั้งคราว เริ่มมีการดูดกลืนน้ำคร่ำ กล้ามเนื้อแข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวแรงขึ้นจนคุณแม่อาจรู้สึกได้ เริ่มยืดนิ้วมือและนิ้วเท้า และดูดนิ้วมือเป็น ในช่วงนี้ทารกจะมีการตื่นและนอนเป็นเวลา และคุณแม่สามารถรู้สึกได้ว่าเจ้าตัวน้อยในครรภ์เริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น
- พัฒนาการด้านสมอง จำนวนเส้นประสาทและกล้ามเนื้อจะเพิ่มถึง 3 เท่า
การดูแลตัวเองให้สุขภาพดี สำหรับคุณแม่ท้อง 15 สัปดาห์
ผ่านไปแล้วสำหรับการอุ้มท้องลูกน้อยในไตรมาสแรก เคล็ดลับในการดูแลตัวเองในอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ จึงไม่ยากสำหรับคุณแม่เลย เพราะการดูแลสุขภาพที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ สิ่งที่คุณแม่ควรทำ ได้แก่
1. ดื่มน้ำให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำให้เพียงพอ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับพลังงานเพียงพอต่อร่างกายคุณแม่และส่งต่อไปถึงลูกน้อย ช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์มีน้ำหนักที่พอดี มีพัฒนาการเจริญเติบโตภายในครรภ์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งโดยปกติแล้วพลังงานที่ผู้หญิงทั่วไปควรได้รับอยู่ที่ 1,750 กิโลแคลอรีต่อวัน สำหรับในระยะที่คุณแม่ท้อง 15 สัปดาห์ หรือช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน ควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 350 กิโลแคลอรี สารอาหารที่คุณแม่ได้รับขณะตั้งครรภ์ควรประกอบไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอ ในปริมาณที่เหมาะสม
- โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ที่มาจาก เนื้อสัตว์ นม ไข่ เนย และปลา
- คาร์โบไฮเดรต คุณแม่ท้องควรเลือกรับประทานแป้งจำพวกข้าวไม่ขัดสีหรือขนมปังโฮลวีท
- อาหารที่มีกากใย จากผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ได้รับวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้อีกด้วย
- ไอโอดีน จากอาหารทะเล ซึ่งเป็นสารที่มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาระบบประสาทของลูกน้อยในครรภ์
- ธาตุเหล็ก ที่อยู่ในอาหารจำพวก ไข่แดง เนื้อสัตว์สีแดง เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว งา ถั่วแดง เป็นต้น โดยจะช่วยป้องกันโรคโลหิตจางและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคขณะตั้งครรภ์
- น้ำสะอาด ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ซึ่งสารอาหารแต่ละชนิดล้วนมีความสำคัญต่อสุขภาพคุณแม่ และพัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้คุณแม่ควรเลือกรับประทานแต่พอดี หลีกเลี่ยงอาหารประเภทหวาน เพราะหากน้ำหนักครรภ์มากเกินไปอาจเสี่ยงให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
2. เสริมแคลเซียมให้ร่างกาย
ในสารอาหารที่มีแคลเซียม อาทิเช่น นม โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งฝอย หรือธัญพืช จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้ร่างกายคุณแม่ และส่งต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ด้วย
3. ออกกำลังกายเบา ๆ
ในช่วงตั้งครรภ์มีกิจกรรมหลายชนิดที่คุณแม่สามารถเลือกออกกำลังกายให้เหมาะสมกับคนท้องได้ โดยช่วงอายุครรภ์ที่ 15 สัปดาห์หรือในช่วงเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 คุณแม่ควรเลือกการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เพื่อรองรับกับขนาดท้องที่เริ่มขยายขึ้นและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เช่น การเดิน การว่ายน้ำ โยคะสำหรับคนท้อง การปั่นจักรยานอยู่กับที่เบา ๆ เป็นต้น การออกกำลังกายควรทำอย่างถูกวิธี ไม่เน้นกีฬาที่ใช้แรงเยอะหรือเกร็งหน้าท้องมากจนเกินไป ควรใช้เวลาไม่นานจนเกินไป เช่น ประมาณ 30 นาทีต่อวัน ไม่ควรหักโหม หนักหรือถี่จนเกินไป การออกกำลังกายจะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพที่ดี ช่วยให้การทำงานของหัวใจ ปอด กระดูก และกล้ามเนื้อแข็งแรง และส่งผลให้ลูกน้อยในครรภ์ได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้นด้วย
4. หมั่นดูแลร่างกายและจิตใจให้ดี
การใช้ชีวิตในระหว่างตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ไม่ใช่แค่เพียงลำพังคนเดียวอีกต่อไป การใส่ใจดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ที่ต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องการรักษาความสะอาดร่างกาย การดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน การปรับตัวกับรูปลักษณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ให้เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเพื่อลดอุบัติเหตุ การพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ การหากิจกรรมยามว่างทำเพื่อไม่ให้แม่ท้องเกิดความเครียด มีอารมณ์ดี ฯลฯ
ในช่วงตั้งครรภ์ที่ย่างเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 นี้คุณแม่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเองชัดขึ้น และในช่วงนี้พัฒนาการของลูกน้อยภายในครรภ์ก็เริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หากคุณแม่ใส่ใจในการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม ถูกวิธี ก็จะส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์ ทำให้ทารกมีสุขภาพที่ดี มีพัฒนาการที่ดี แข็งแรง ตามคุณแม่ไปด้วย และลดภาวะเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดโรคใด ๆ ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์นี้ค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 16 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 17 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 17 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 18 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 19 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 20 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- การดูแลเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ (Frist Trimester care), โรงพยาบาลปิยะเวท
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
- การเปลี่ยนแปลงร่างกายและจิตใจระหว่างตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2, โรงพยาบาล BNH
- คนท้องอารมณ์แปรปรวน ปัญหาที่เกิดขึ้นได้พร้อมวิธีรับมือ, Pobpad
- การพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์1, คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- โรคจมูกและไซนัสในหญิงตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์อันตรายมั้ย รับมืออย่างไร, Pobpad
- อาการระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้, โรงพยาบาลพญาไท
- การปฏิบัติตัวระหว่างการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลวิภาราม
- การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
- 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- เทคนิคดูแลตัวเองอย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์, โรงพยาบาลนครธน
- ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์ (Obesity in pregnancy), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ้างอิง ณ วันที่ 11 มกราคม 2567