พัฒนาการและอาหารที่เหมาะกับลูกน้อยช่วง 10-11 เดือน
พัฒนาการลูกน้อยอายุ 10-11 เดือน อาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย คุณพ่อ คุณแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการอะไรลูกได้บ้าง
พัฒนาการลูกน้อยอายุ 10-11 เดือน
ลูกเป็นอย่างไรในวัยนี้
ด้วยความที่เด็กวัยนี้สามารถทำอะไรได้เก่งขึ้นกว่าช่วงวัยก่อนหน้านี้ คลานคล่อง อยากหยิบอะไรจากที่สูงก็สามารถเหนี่ยวตัวขึ้นยืน เกาะยืน เกาะเดินได้ เขาจึงรู้สึกว่าสามารถทำอะไรได้ตามใจมากขึ้น
กระตุ้นพัฒนาการลูกได้อย่างไร
อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เขารู้จักขอบเขตว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้บนพื้นฐานของความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยการห้ามเขาไม่ให้ทำในสิ่งที่เป็นอันตราย หรือห้ามไม่ให้เขาทำของเสียหาย เช่น ถ้าเขากำลังจะจับสายไฟ หรือกำลังจะโยนของที่แตกหักได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องร้องห้ามเขาทันที ทั้งนี้เวลาห้ามคุณพ่อคุณแม่ควรแสดงสีหน้าท่าทาง และน้ำเสียงให้สอดคล้องไปด้วยกัน มีความหนักแน่นจริงจัง และอาจจำเป็นต้องเข้าไปพาตัวเขาออกจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายนั้น หรือนำของที่เขากำลังจะโยนออกจากมือของเขาทันทีด้วย นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายต่อเขาออก และนำของที่เขาอาจโยนแล้วเกิดความเสียหายออกให้พ้นมือและพ้นตาของเขา เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องห้ามกันอย่างพร่ำเพรื่อตลอดเวลา เมื่อทำเช่นนี้เขาจะเรียนรู้ว่าเมื่อใดที่คุณพ่อคุณแม่ห้าม แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งอันตราย และเขาควรปฏิบัติตาม
อาหารอะไรเหมาะกับลูก
คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มปริมาณอาหารเสริมสำหรับเด็กวัยนี้เป็น 3 มื้อต่อวัน และให้กินนม 3-4 มื้อต่อวัน ลูกน้อยในวัยนี้สามารถเกาะเดินได้ไกล เด็กหลายคนเริ่มตั้งไข่ คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการด้วยการฝึกให้เขาทรงตัวในท่ายืนให้เก่งขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานของการยืนและเดิน โดยในขณะที่เขาเกาะเดิน ให้นำของเล่นมาส่งให้เขาที่มือข้างหนึ่ง และส่งให้ในทิศทางต่าง ๆ กัน ทั้งนี้เพื่อให้เขาฝึกประคองตัวเองแม้จะใช้มือเกาะไว้เพียงข้างเดียว ชักชวนให้เขาดูหนังสือนิทานที่มีรูปภาพใหญ่ ๆ แล้วสอนเขาชี้รูปภาพนั้น ๆ สอนคำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งของที่เขาเห็นบ่อย ๆ เช่น นม น้ำ ของเล่น ของใช้ในชีวิตประจำวัน
เคล็ดลับคุณแม่
การพัฒนาสมองของลูกน้อยในช่วงวัยนี้ นมแม่จะเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีและสำคัญที่สุด และเสริมด้วยสารอาหารที่ช่วยในการพัฒนาและการทำงานของสมอง อย่างสฟิงโกไมอีลินที่พบได้ในนมแม่ ซึ่งหากคุณแม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ทั้งในส่วนของโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ โดยแหล่งอาหารของสฟิงโกไมอีลินสำหรับคุณแม่ให้นมบุตรนั้น จะประกอบไปด้วยนมและผลิตภัณฑ์นมต่างๆ เช่น ชีส โยเกิร์ต เป็นต้น รวมไปถึงเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไข่และผักบางชนิด คุณแม่ให้นมบุตรควรได้รับอาหารดังกล่าวนี้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกน้อยมีวัตถุดิบในการสร้างปลอกไมอีลินให้เพียงพอส่งผลให้การพัฒนาและการทำงานของสมองเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 9-10 เดือน
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 11-12 เดือน
อ้างอิง
บทความโดย แพทย์หญิงพัฎ โรจน์มหามงคล
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลศิริราช
บทความที่เกี่ยวข้อง