เด็กกัดเล็บตัวเองปกติไหม เสี่ยงติดเชื้อหรือเปล่า
เด็กกัดเล็บ เป็นพฤติกรรมที่พบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 3-4 ไปขึ้นไป เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุส่วนใหญ่มีพฤติกรรมดูดนิ้วร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงกังวลใจเพราะเห็นลูกชอบกัดเล็บบ่อย ๆ กลัวว่าจะติดเป็นนิสัยทำให้เสียบุคลิก และมีความกังวลเรื่องของสุขภาพอื่น ๆ ตามมา แล้วอาการเด็กชอบกัดเล็บจะหายเป็นปกติไหม มีแนวทางแก้ไขพฤติกรรมเด็กกัดเล็บยังไงบ้าง เพื่อให้ลูกน้อยหยุดพฤติกรรมเป็นเด็กที่ชอบกัดเล็บตั้งแต่เนิ่น ๆ
สรุป
- พฤติกรรมเด็กชอบกัดเล็บ เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ได้แก่ ลูกน้อยรู้สึกเบื่อ อยากเรียกร้องความสนใจ การเลียนแบบ พันธุกรรม ติดนิสัยดูดนิ้วมาตั้งแต่ยังเป็นทารก และความเครียด
- หากพ่อแม่ปล่อยให้เด็กกัดเล็บบ่อย ๆ อาจทำให้ฟันผิดรูป เล็บมือและนิ้วมือผิดปกติไป และอาจส่งผลต่อสุขภาพและเสียบุคลิกภาพได้
- ลูกน้อยที่มีพฤติกรรมกัดเล็บบ่อย ๆ พ่อแม่อย่าชะล่าใจเพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า มีความวิตกกังวล โรคสมาธิสั้น หรือโรคกัดเล็บเรื้อรัง เป็นต้น คุณแม่ต้องคอยสังเกตลูกน้อย และปรึกษาแพทย์หากเด็กมีพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เด็กชอบกัดเล็บตัวเอง เกิดจากอะไร
- ลูกชอบกัดเล็บ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพลูกได้
- เด็กกัดเล็บบ่อย อาจเสี่ยงสภาวะทางจิต
- วิธีรับมือและป้องกันเด็กกัดเล็บ
เด็กชอบกัดเล็บตัวเอง เกิดจากอะไร
พฤติกรรมเด็กชอบกัดเล็บ เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นมาจากสภาวะทางจิตใจของเด็ก หรือเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองโดยไม่รู้ตัวของลูกน้อย เช่น
1. รู้สึกเบื่อ ไม่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ
เด็กหลายคนแก้อาการเบื่อ ด้วยการกัดเล็บซึ่งเป็นอาการเบื่อหน่ายทางจิตใจทำให้เด็กแสดงออกด้วยการกัดเล็บ
2. เรียกร้องความสนใจ
การแสดงออกของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจแสดงความรู้สึกไม่พอใจหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว โดยการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ด้วยการกัดเล็บขึ้นมาได้
3. เลียนแบบพฤติกรรมคนในครอบครัว
เด็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้มักจะชอบเลียนแบบพฤติกรรมของคนในครอบครัว หากลูกน้อยเห็นมีใครกัดเล็บอาจทำให้เด็กชอบกัดเล็บตามไปด้วย
4. พันธุกรรม
มีการศึกษาพบว่า เด็กที่ชอบกัดเล็บร้อยละ 36.8 มักมีคนในครอบครัวอย่างน้อยหนึ่งคนกัดเล็บด้วย ปัญหาเด็กกัดเล็บจึงอาจมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
5. ติดการดูดนิ้วตอนเป็นทารก
เด็กไทยหลายคนมักติดการดูดนิ้วมาตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้หลายคนมีพฤติกรรมกัดเล็บร่วมด้วย
6. ความเครียด
ในเด็กบางคนที่มีภาวะกดดันตัวเองพอเจอกับความเครียด หรือวิตกกังวลไม่รู้จะจัดการกับอารมณ์อย่างไรดี จึงอาจมีการแสดงพฤติกรรมเผลอกัดเล็บขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้รู้สึกคลายความเครียดลงมาบ้าง
ลูกชอบกัดเล็บ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพลูกได้
พฤติกรรมเด็กกัดเล็บเป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่เพียงแต่เกิดผลเสียทางด้านบุคลิกภาพแต่ยังส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยได้ ได้แก่
- ฟันผิดรูป: เด็กที่ชอบกัดเล็บมักใช้ฟันหน้าซ้ำ ๆ ซึ่งการกระทำแบบนี้บ่อย ๆ จะทำให้การสบฟันของฟันหน้าผิดปกติหรือผิดรูป นอกจากนี้ยังเสี่ยงทำให้ฟันหน้าแตกหรือบิ่นจนทำให้เกิดการอักเสบร่วมด้วย
- เล็บและนิ้วผิดรูป: เด็กที่กัดเล็บเป็นเวลานาน คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าเล็บมักจะสั้นอยู่ตลอดเวลาจนอาจทำให้รูปร่างของเล็บผิดปกติ และอาจส่งผลให้ปลายเล็บไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้
- เสียบุคลิก: เด็กที่มีนิสัยกัดเล็บทั้งที่ตั้งใจกัดเล็บและเผลอกัดเล็บไม่รู้ตัวอาจส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพที่จะติดนิสัยไปจนโตได้
- ติดเชื้อโรค: เชื้อโรคมักจะติดอยู่ที่ปลายเล็บ เมื่อลูกน้อยกัดเล็บบ่อย ๆ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเริมที่นิ้วและริมฝีปาก หูดที่นิ้ว ยังอาจทำให้เกิดเชื้อราขึ้นที่บริเวณเล็บอีกด้วย
เด็กกัดเล็บบ่อย อาจเสี่ยงสภาวะทางจิต
อาการเด็กกัดเล็บอาจเกิดขึ้นได้ในเด็กที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อภาวะทางจิต เช่น เกิดภาวะวิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคเด็กสมาธิสั้น หรือโรคกัดเล็บเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จาก
1. แสดงอาการอื่นร่วมด้วย
เด็กบางคนนอกจากชอบกัดเล็บแล้วยังมีอาการเหม่อลอย ดึงผมตัวเอง ชอบเกาผิวหนัง เผลอกัดริมฝีปาก หรือมักเขย่าขาตลอดเวลา อาจเป็นสัญญาณของภาวะเสี่ยงทางจิตได้
2. กัดเล็บไม่รู้ตัว
เด็กบางคนมักเผลอกัดเล็บไม่รู้ตัวเมื่อมีอาการเหม่อลอย หรือกำลังจดจ่ออยู่กับบางสิ่งบางอย่างมากจนเกินไป ซึ่งเป็นอาการที่เสี่ยงต่อภาวะทางจิต
3. กัดเล็บจนเล็บผิดรูป
คนที่มีภาวะเครียดหรือกดดันตัวเองมาก ๆ อาจแสดงออกด้วยการกัดเล็บจนเกิดแผล หรือเล็บผิดรูป
4. หลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้อื่นเห็นเล็บ
หากคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมซ่อนมือและเล็บ ไม่ยอมให้ผู้อื่นเห็น อาจเป็นหนึ่งของสัญญาณของเด็กที่มีภาวะทางจิต เพราะมีความรู้สึกอายมือและเล็บที่อาจเต็มไปด้วยแผลหรือเล็บผิดรูป
5. ทะเลาะกับพ่อแม่บ่อย
ลูกน้อยมักแสดงท่าทีโวยวายและทะเลาะกับพ่อแม่บ่อย ๆ เพียงเพราะถูกห้ามไม่ให้กัดเล็บ
วิธีรับมือและป้องกันเด็กกัดเล็บ
เมื่อพ่อแม่เห็นลูกมีพฤติกรรมชอบกัดเล็บอย่างนิ่งนอนใจ ให้รีบจัดการปรับพฤติกรรมลูกกัดเล็บ ก่อนที่จะกลายเป็นนิสัยติดตัวจนโตเป็นผู้ใหญ่ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. หมั่นตัดเล็บลูกให้สั้น
คุณแม่ควรตัดเล็บลูกน้อยให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเด็กกัดเล็ก ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยสามารถตัดเล็บเองได้ คุณแม่ควรหากรรไกรตัดเล็บส่วนตัวให้ลูกเพื่อที่เด็กจะได้หยิบมาใช้ได้ตลอดเวลา
2. พูดคุยและให้กำลังใจลูก
คุณแม่อาจใช้วิธีอธิบายอย่างใจเย็นให้ลูกฟังว่าทำไมลูกไม่ควรกัดเล็บ การที่เด็กกัดเล็บมีผลเสียอะไรบ้าง และแนะนำให้ลูกเลิกกัดเล็บไปด้วยกัน
3. ห้ามดุลูก
คุณแม่ไม่ควรใช้การข่มขู่ ดุด่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง กระชากมือ หรือตีมือลูกน้อย เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น และกัดเล็บบ่อยมากขึ้นได้
4. ใช้สารที่ไม่ปลอดภัยแต่มีรสไม่พึงประสงค์ทาเล็บ
คุณแม่อาจเลือกใช้บอระเพ็ดทาที่นิ้วเพื่อเป็นการเตือนว่าถ้าลูกเผลอกัดเล็บ ลูกจะได้รสขมของบอระเพ็ดแทน เด็กจะได้รู้ตัวว่าไม่ควรกัดเล็บ และควรพูดชื่นชมลูกเมื่อลูกเอานิ้วออก ลูกน้อยจะได้มีกำลังใจในความพยายามที่จะหยุดพฤติกรรมกัดเล็บ
5. ใช้กิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจ
พาไปทำกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การวิ่งเล่นนอกบ้าน หรือให้ลูกทำกิจกรรมเสริมพัฒนาการ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อย
6. ปรึกษาแพทย์
เมื่อลูกน้อยมีปัญหาชอบกัดเล็บ คุณแม่สามารถขอคำแนะนำจากกุมารแพทย์เพื่อที่คุณหมอจะได้ให้แนวทางในการปรับพฤติกรรมของลูกน้อย โดยคุณหมออาจใช้วิธีทั้งแบบที่ใช้ยาและไม่ใช้ยาในการหยุดพฤติกรรมการกัดเล็บของเด็ก
พฤติกรรมเด็กกัดเล็บ เป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับแก้ได้หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ ในกรณีที่เด็กกัดเล็บบ่อยพร้อมกับมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เข้าข่ายว่าอาจมีภาวะทางจิตใจ เช่น เหม่อลอย ทะเลาะกับผู้อื่นบ่อย ๆ ไม่ชอบให้ใครเห็นมือ ชอบดึงผมตัวเอง ให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการประเมินอาการและขอคำแนะนำแนวทางในการรักษาอาการของลูกน้อยต่อไป
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง
- ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน พุงคนท้องแต่ละเดือน บอกอะไรได้บ้าง
- ที่ตรวจครรภ์แบบไหนดี ชุดตรวจครรภ์ ใช้งานง่าย รู้ผลเร็ว
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรก อันตรายไหม
- อาการตกเลือดหลังคลอดเป็นยังไง ตกเลือดหลังคลอดอันตรายไหม
- มดลูกหย่อน อันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเองเมื่อมดลูกต่ำ
- คนท้องเท้าบวม เพราะอะไร ปกติไหม พร้อมวิธีลดบวม
- คนท้องเท้าบวมหลังคลอด คุณแม่มือเท้าบวม รับมือยังไงดี
- อาการเจ็บท้องคลอด สัญญาณอาการใกล้คลอดที่สังเกตได้
- คุณแม่ปวดท้องข้างขวาจี๊ด ๆ หน่วง ๆ บอกอะไรได้บ้าง
อ้างอิง:
- พฤติกรรมที่มีผลต่อสุขภาพฟันและช่องปำกที่พบได้บ่อย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พฤติกรรมการกัดเล็บ ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ, โรงพยาบาลบางปะกอก
- 6 เคล็ดลับให้ลูกเลิกกัดเล็บ, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- กัดเล็บตัวเอง เสี่ยงป่วยทางจิตเวชจริงหรือ ?, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง ณ วันที่ 5 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง