
ยาลดน้ำมูกเด็ก อันตรายหรือไม่? ทำไมต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
ยาลดน้ำมูกเด็กช่วยบรรเทาอาการบวมในโพรงจมูกซึ่งเกิดจากการสัมผัสสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรค ขนสัตว์ หรือสารก่อภูมิแพ้ขณะหายใจ ให้เกิดการอักเสบ บวม คัดจมูก และมีน้ำมูก อาการเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายและส่งผลต่อการนอนหลับ ยาลดน้ำมูกเด็กจะช่วยลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น บทความนี้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาลดน้ำมูกประเภทต่าง ๆ เมื่อลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหล รวมถึงข้อควรระวังในการใช้ยา พร้อมทั้งเทคนิครับมือลูกเป็นหวัด ด้วยทางเลือกวิธีธรรมชาติในการบรรเทาอาการ
สรุป
- ยาลดน้ำมูกเด็ก คือ ยาที่ใช้บรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือจมูกตัน โดยออกฤทธิ์ลดอาการบวมของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อในโพรงจมูก ทำให้หายใจสะดวกขึ้น
- ยาลดน้ำมูก แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ยาแก้แพ้ และยาลดอาการคัดจมูก โดยยาแก้แพ้มีฤทธิ์ลดน้ำมูก แก้คันจมูก คันตา ลมพิษ และอาการแพ้ทางผิวหนัง ส่วนยาลดอาการคัดจมูก ช่วยลดการคั่งของน้ำมูก ทำให้จมูกโล่ง หายใจสะดวกขึ้น
- ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้คัดจมูก เมื่อมีอาการหวัด ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เนื่องจากมีผลข้างเคียง อาจทำให้ง่วงซึม และชักได้
- ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาลดน้ำมูกเด็ก และควรใช้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ยาลดน้ำมูกเด็กคืออะไร และทำงานอย่างไร?
- ข้อควรระวังในการใช้ยาลดน้ำมูกเด็ก
- ทางเลือกธรรมชาติในการบรรเทาอาการน้ำมูกไหลของเด็ก
ยาลดน้ำมูกเด็กคืออะไร และทำงานอย่างไร?
ยาลดน้ำมูกเด็ก คือ ยาที่ใช้บรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือจมูกตัน ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ ยาลดน้ำมูกจะช่วยลดอาการบวมของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อในโพรงจมูก ทำให้หายใจสะดวกขึ้น หากแพทย์วินิจฉัยอาการแล้วมีการสั่งจ่ายยาลดน้ำมูก คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลให้ลูกกินยาตามที่แพทย์สั่ง แต่หากแพทย์วินิจฉัยแล้วไม่ได้สั่งจ่ายยาลดน้ำมูก ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ และไม่ควรซื้อยามาใช้เองค่ะ
ยาลดน้ำมูก แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
- ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines)
- ยาลดอาการคัดจมูก (Decongestants)

ข้อควรระวังในการใช้ยาลดน้ำมูกเด็ก
ก่อนใช้ยาลดน้ำมูกเด็ก ควรศึกษาข้อควรระวัง เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาลดน้ำมูก ควรอ่านฉลาก คำแนะนำ และคำเตือนให้ครบถ้วน เพื่อความปลอดภัย
- ควรให้เด็กรับประทานยาตามปริมาณและระยะเวลาที่ระบุบนฉลากยาเท่านั้น การเพิ่มปริมาณยาเองอาจไม่ช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น และอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดจนเกิดอันตรายได้
- ในกรณีลูกมีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
- ระวังการใช้ยาแก้หวัดบางชนิดอาจเป็นสูตรผสม ที่รวมตัวยาหลายชนิดไว้ด้วยกัน เช่น ยาลดไข้ ยาแก้แพ้ และยาลดน้ำมูก อาจทำให้เด็กได้รับยาซ้ำซ้อนและเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงของยา
- ยาลดน้ำมูกเด็กบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น เวียนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ปากแห้ง หรือกระสับกระส่ายได้ แต่หากเกิดอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ให้หยุดยาและรีบพบแพทย์
- ยาลดน้ำมูกที่อยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ อาจทำให้มีอาการง่วงซึมหลังจากใช้ยาได้ในเด็กบางราย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย หลังจากรับประทานยา
ทางเลือกธรรมชาติในการบรรเทาอาการน้ำมูกไหลของเด็ก
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้คัดจมูก เมื่อมีอาการหวัด แต่ควรเน้นการดูแลเบื้องต้นโดยไม่ใช้ยา เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก ดังนั้น นอกเหนือจากการใช้ยาลดน้ำมูกเด็ก เรามีเทคนิครับมือลูกเป็นหวัด ที่จะช่วยให้บรรเทาอาการน้ำมูกไหล ได้ผลดีและปลอดภัย ดังนี้

- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือดูดน้ำมูกออกด้วยลูกยาง ช่วยลดอาการบวมในโพรงจมูกและลดน้ำมูก
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อลดความเหนียวข้นของน้ำมูก การดื่มน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการระคายคอ คัดจมูก และช่วยป้องกันการขาดน้ำ สำหรับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรได้รับนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือน สามารถดื่มน้ำเปล่าได้บ่อย ๆ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
- พักผ่อนมาก ๆ การพักผ่อนอย่างเต็มที่จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น ควรห่มผ้าเพื่อรักษาความอบอุ่นของร่างกาย และงดกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากหรือออกกำลังกายหนักประมาณ 2-3 วัน
- ปรับท่านอนให้หายใจสะดวกขึ้น โดยเด็กเล็กควรนอนตะแคง เด็กโตควรหนุนหมอนสูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อป้องกันน้ำมูกไหลลงคอ
- ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพราะอากาศแห้งทำให้ระคายคอได้ง่าย การเพิ่มความชื้นของอากาศภายในบ้านจะช่วยลดอาการระคายเคืองและเจ็บคอ บรรเทาอาการหวัดและคัดจมูกได้
- อาบน้ำอุ่น ไอน้ำจากการอาบน้ำอุ่นช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น เพราะการสูดไอน้ำจะช่วยให้เยื่อบุจมูกหดตัวลงและเพิ่มความชุ่มชื้นให้เยื่อบุจมูกและลำคอ ทำให้จมูกโล่ง หายใจคล่อง น้ำมูกที่เหนียวข้นจะถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรือบ่อย ๆ เนื่องจากอาจทำให้โพรงจมูกอักเสบและเลือดกำเดาไหลได้
หากลองใช้วิธีต่าง ๆ แล้วอาการน้ำมูกไหลของลูกยังไม่ดีขึ้น และเป็นนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือหากน้ำมูกไหลรบกวนการนอนและการใช้ชีวิตประจำวันของลูก หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ไข้สูง น้ำมูกมีกลิ่นเหม็น สีเขียว หรือมีเลือดปน หายใจลำบาก หน้าผาก ตา ปีกจมูก แก้มบวม หรือเจ็บหน้าอกร่วมกับคัดจมูกและมีน้ำมูกไหล ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรับการรักษาที่เหมาะสม
อ้างอิง:
- ยาลดน้ำมูกเด็กมีอะไรบ้าง ใช้ยาอย่างไรให้ลูกน้อยปลอดภัย, pobpad
- ยาลดน้ำมูกในเด็ก, มูลนิธิหมอชาวบ้าน
- ลูกเป็นหวัดบ่อยดูแลอย่างไรให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- 5 ยาลดน้ำมูกที่ประสิทธิภาพดีและเห็นผลไว, pobpad
- คุณรู้จักยาแก้แพ้มากแค่ไหน ?, โรงพยาบาลพญาไท
- 7 วิธีแก้หวัดคัดจมูก หายได้ด้วยการดูแลตัวเอง, pobpad
อ้างอิง ณ วันที่ 27 มีนาคม 2568