
ผ่าคลอดแนวตั้ง vs แนวนอน ความแตกต่าง วิธีดูแลแผล และลดรอยแผลเป็น
การผ่าคลอดแนวตั้ง เป็นการผ่าตัดแนวกลางลำตัว (Vertical incision) และการผ่าคลอดแนวนอน เป็นการผ่าตัดแนวขวางลำตัว (Transverse incision) ซึ่งการผ่าคลอดทั้ง 2 แบบ แพทย์จะผ่าตัดเปิดผนังหน้าท้องตรงบริเวณที่อยู่เหนือขอบบนของหัวหน่าวขึ้นมา 2-3 เซนติเมตร เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าคลอด
สรุป
- ผ่าคลอดแนวตั้ง เป็นการผ่าตัดแนวกลางลำตัว (Vertical incision) ผ่าคลอดแนวนอน เป็นการผ่าตัดแนวขวางลำตัว (Transverse incision) ที่อยู่เหนือขอบบนของหัวหน่าวขึ้นมาประมาณ 2-3 เซนติเมตร
- ผ่าคลอดแนวตั้ง แพทย์จะพิจารณาใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่ซับซ้อน เช่น การคลอดก่อนกำหนด ทารกมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจน และทารกท่าก้น หมายถึงทารกเอาก้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของขาผ่านเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกร้าน โดยที่ศีรษะของทารกจะขึ้นมาอยู่ตรงยอดมดลูกแทน
- ผ่าคลอดแนวตั้งจะใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นกว่าการผ่าคลอดแนวนอน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ผ่าคลอดแนวตั้ง เรียกว่าอะไร?
- ผ่าคลอดแนวตั้ง vs แนวนอน ต่างกันอย่างไร?
- เคล็ดลับดูแลแผลผ่าคลอดแนวตั้งให้หายเร็ว
- วิธีลดรอยแผลเป็นจากการผ่าคลอดแนวตั้ง
- อาหารที่ช่วยเร่งการฟื้นตัวหลังผ่าคลอด
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าคลอดแนวตั้ง
ผ่าคลอดแนวตั้ง เรียกว่าอะไร?
การผ่าคลอดแนวตั้งเรียกว่า Classical Cesarean Section เป็นวิธีการผ่าตัดคลอดแบบดั้งเดิม ซึ่งการผ่าตัดแนวตั้งแผลจะอยู่เหนือขอบบนหัวหน่าวขึ้นมาประมาณ 2-3 ซม. สำหรับการผ่าคลอดแนวตั้งมักจะใช้ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด เนื่องมาจากมีภาวะรกเกาะต่ำ หรือ ภาวะทารกเครียด (Fetal distress) คือทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจน เป็นต้น
ผ่าคลอดแนวตั้ง vs แนวนอน ต่างกันอย่างไร?
การผ่าคลอดมี 2 รูปแบบ คือ ผ่าคลอดแนวตั้ง และผ่าคลอดแนวนอน ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้
- ผ่าคลอดแนวตั้ง: แผลผ่าตัดจะอยู่ในลักษณะแนวตั้งเหนือหัวหน่าวขึ้นมา และมีขนาดของแผลประมาณ 15 เซนติเมตร สำหรับการผ่าคลอดแนวตั้งแพทย์จะพิจารณาใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่ซับซ้อน เช่น การคลอดก่อนกำหนด มีภาวะรกเกาะต่ำ ทารกมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจน หรือในกรณีที่มีปัญหาทางการแพทย์ที่ทำให้การผ่าตัดแบบแนวนอนไม่สามารถทำได้
- ผ่าคลอดแนวนอน: แผลผ่าตัดจะอยู่ในลักษณะแนวขวางเหนือหัวหน่าวขึ้นมา และมีขนาดของแผลประมาณ 15 เซนติเมตร ซึ่งการผ่าตัดแนวนอนเป็นวิธีผ่าคลอดที่นิยมใช้มากที่สุด
การผ่าคลอดแนวตั้ง VS การผ่าคลอดแนวนอน | ||
ข้อดีและข้อเสีย | ผ่าคลอดแนวตั้ง | ผ่าคลอดแนวนอน |
ความแข็งแรงของแผล | น้อยกว่า | มากกว่า |
ความสวยงามของแผล | น้อยกว่า | มากกว่า |
เวลาที่ใช้ในการผ่าตัด | น้อยกว่า | มากกว่า |
ความเสี่ยงในการเกิด ก้อนเลือดคั่งบริเวณปากช่องคลอด (hematoma) ในบางกรณี | น้อยกว่า | มากกว่า |
อาการปวดแผลหลังผ่าตัด | มากกว่า | น้อยกว่า |
ทั้งการผ่าคลอดแนวตั้งและแนวนอนจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ เนื่องจากคุณแม่หลังผ่าคลอดอาจเกิดภาวะแผลผ่าคลอดอักเสบข้างในได้ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณบาดแผลผ่าคลอด ทำให้เกิดการอักเสบภายในขึ้นมา
เคล็ดลับดูแลแผลผ่าคลอดแนวตั้งให้หายเร็ว
การดูแลแผลผ่าคลอดเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่หลังคลอดควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่จะช่วยให้แผลผ่าคลอดทั้งแนวตั้งและแนวนอนหายเร็วขึ้น
- ทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธี: ในช่วงระหว่าง 7 วันแรกหลังการผ่าคลอด คุณแม่ต้องระวังอย่าให้แผลผ่าคลอดโดนน้ำ เพราะจะทำให้แผลเกิดการติดเชื้อ อักเสบทำให้แผลหายช้าได้ และหลังจากตัดไหมแล้ว ให้ทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำจากแพทย์ โดยการใช้น้ำเกลือเช็ดและซับแผลเบา ๆ จนแห้ง ข้อควรระวังคือ ไม่แกะหรือเกาแผล เพราะจะทำให้รอยแผลมีสีเข้มขึ้นมา แผลหายช้า และเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
- สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม: เพื่อไม่เกิดการกดทับหรือเสียดสีขึ้นของผิวหนังตรงบริเวณแผลผ่าตัดที่กำลังรักษาตัว แนะนำให้คุณแม่สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ๆ หรือนุ่ม
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก: คุณแม่ผ่าคลอดในช่วง 3 เดือนแรกไม่ควรออกแรงมาก ๆ หรือยกของหนัก เนื่องจากอาจทำให้ตรงบริเวณแผลผ่าคลอดตึงและฉีกขาด เกิดแผลเป็นคีลอยด์นูนขึ้นมาได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ: แผลผ่าคลอดจะหายได้เร็ว และร่างกายคุณแม่ฟื้นตัวได้ดี สิ่งสำคัญคือต้องนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- พบแพทย์ตามนัด: โดยทั่วไปภายหลังจากการคลอดลูกได้ 4-6 สัปดาห์ แพทย์จะนัดคุณแม่มาตรวจสุขภาพหลังคลอด เพื่อตรวจภายในดูอวัยวะว่ากลับคืนสู่ปกติแล้วหรือยัง รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพเกิดขึ้นกับคุณแม่หรือไม่
สำหรับคุณแม่ผ่าคลอดในท้องแรกที่สงสัยว่าแผลผ่าคลอดกี่วันหาย ซึ่งปกติทั่วไปแผลผ่าตัดคลอดจะหายใน 7 วัน ในระหว่างนี้หากคุณแม่คันแผลผ่าคลอด หรือมีอาการผิดปกติ เช่น แผลบวมแดง ร้อน มีเลือดซึม และมีอาการไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 2-4 สัปดาห์เพื่อให้ผิวหนังชั้นในเริ่มสมานกันมากขึ้น เมื่อแผลผ่าคลอด ปิดสนิท จะเปลี่ยนสีคล้ำขึ้น ออกสีแดงอมม่วง ราว 6 เดือน จากนั้นแผลจะจางจากสีแดงอมม่วงมาเป็นสีขาวจนหายดีเป็นปกติ
วิธีลดรอยแผลเป็นจากการผ่าคลอดแนวตั้ง
การลดรอยแผลเป็นจากการผ่าคลอดแนวตั้งและแนวนอนนั้นต้องอาศัยการดูแลที่เหมาะสมและต่อเนื่อง ต่อไปนี้เป็นวิธีที่อาจช่วยได้
- ใช้ครีมหรือเจลลดรอยแผลเป็น: หลังจากที่คุณแม่ตัดไหมแล้ว สามารถทาครีมสำหรับการดูแลรอยแผลเป็นตามที่แพทย์แนะนำ เช่น ออยล์บำรุงผิว มอยส์เจอร์ไรเซอร์ หรือยาทาสำหรับลดรอยแผลเป็น ที่ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น ยืดหยุ่นดีขึ้น ช่วยให้รอยแผลเป็นจางและอ่อนนุ่มลง
- นวดบริเวณแผลเบา ๆ: การนวดสามารถลดการเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นจากการผ่าตัด ช่วยให้แผลเรียบเนียน และอ่อนนุ่ม แต่ทั้งนี้การนวดแผลเบา ๆ ควรเริ่มหลังจากการผ่าตัด 4-6 สัปดาห์ คุณแม่ควรปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษาเพิ่มเติม: หากแผลผ่าคลอดมีลักษณะนูนขึ้นและหนาขึ้น ที่เรียกว่าคีลอยด์ คุณแม่อาจปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาแผลเพิ่มเติม เช่น การทำเลเซอร์
อาหารที่ช่วยเร่งการฟื้นตัวหลังผ่าคลอด
หลังผ่าคลอด ร่างกายของคุณแม่ต้องการสารอาหารที่ช่วยฟื้นฟูบาดแผล ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างน้ำนมสำหรับลูกน้อย อาหารที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวหลังผ่าคลอดได้อย่างรวดเร็ว
- โปรตีน: เช่น ปลา ไข่ ถั่ว มีส่วนสำคัญช่วยในการสร้างเซลล์ และช่วยให้ผิวหนังที่สร้างขึ้นใหม่มีความแข็งแรง ที่สำคัญโปรตีนยังเป็นแหล่งของพลังงาน ช่วยในการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกาย ทำให้แผลผ่าคลอดหายเร็วขึ้น
- วิตามินซี: เช่น ส้ม ฝรั่ง พริกหวาน และบรอกโคลี ช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวหนัง เสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีมากขึ้น ทำให้แผลหายได้เร็ว
- ธาตุเหล็ก: เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ ผักโขม ช่วยในการลำเลียงออกซิเจนไปให้ทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงบาดแผล
- น้ำเปล่า: คุณแม่ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากร่างกายต้องใช้ของเหลวปริมาณมากในการกระตุ้นน้ำนม รวมถึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกให้กับคุณแม่ด้วย
คุณแม่ที่ผ่าคลอดแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะจะช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารสำคัญในนมแม่ที่มีมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม แอลฟาแล็ค สฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด อย่าง บีแล็กทิส (B. lactis) ที่เป็นจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติกส์ ที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงให้กับลูกน้อยตั้งแต่แรกคลอด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าคลอดแนวตั้ง
Q: ผ่าคลอดแนวตั้งเจ็บกว่าแนวนอนไหม?
A: คุณแม่ที่ผ่าคลอดแนวตั้ง จะมีอาการปวดเจ็บแผลมากกว่าการผ่าคลอดแนวนอน
Q: หลังผ่าคลอดแนวตั้งสามารถตั้งครรภ์อีกครั้งได้ไหม?
A: ปกติแล้วไม่ได้มีตัวเลขตายตัว ในการกำหนดถึงความเหมาะสมของจำนวนการผ่าตัดคลอดซ้ำ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่ผ่าคลอด ต้องการที่จะมีบุตรคนต่อไป แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ครั้งใหม่
Q: ผ่าคลอดแนวตั้งสามารถออกกำลังกายได้เมื่อไหร่?
A: คุณแม่ผ่าคลอด สามารถเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ ได้ใน 3 สัปดาห์หลังคลอด เช่น การเล่นโยคะ และหลัง 6 สัปดาห์คุณแม่จะออกกำลังกายได้มากขึ้น แนะนำให้เดินออกกำลังช้า ๆ ในระยะทางใกล้ ๆ และหลังจากออกกำลังกายแล้วไม่พบความผิดปกติใด ๆ คุณแม่ก็อาจเพิ่มการออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาได้หลากหลายมากขึ้น
การดูแลแผลผ่าคลอดอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของคุณแม่หลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าคลอดแนวตั้งหรือแนวนอน การดูแลที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และช่วยให้แผลหายเร็ว ทั้งนี้หากคุณแม่พบความผิดปกติของแผลผ่าคลอดหลังจากกลับมา พักฟื้นที่บ้าน ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
ทำแบบประเมิน หรือ ใช้โปรแกรมติดตามพัฒนาการลูกในครรภ์ ได้ที่นี่ https://www.s-momclub.com/member-privilege
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
- การผ่าคลอดกับคลอดเองต่างกันยังไง พร้อมข้อดีข้อเสีย
- แผลผ่าคลอดกี่วันหาย พร้อม 5 วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดให้เนียนสวย
- ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที ผ่าคลอดใช้เวลาฟักฟื้นนานไหม
- วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย ให้แผลผ่าคลอดสวยเรียบเนียน
- คันแผลผ่าคลอด ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้อาการคันแผลผ่าตัด
- ผ่าคลอดนอนตะแคงได้ไหม ท่านอนหลังผ่าคลอดที่คุณแม่ควรรู้
- สักทับรอยผ่าคลอด อันตรายไหม พร้อมวิธีดูแล
อ้างอิง:
- วิธีการผ่าท้องทำคลอดแบบอิงหลักฐานเชิงประจักษ์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- การผ่าตัดคลอดลูกแบบอิงหลักฐานประจักษ์ทางการแพทย์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- Classical Cesarean Section, National Library of Medicine
- ภาวะฉุกเฉินของทารกในครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ก้อนเลือดคั่งบริเวณปากช่องคลอด และ ช่องคลอดที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการคลอด, คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน สาเหตุและการดูแล, แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร สูตินรีเวชวิทยา โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ helloคุณหมอ
- 8 เคล็ดลับดูแลแผลผ่าคลอดให้แผลสวย หายไว ฟื้นตัวเร็ว, โรงพยาบาลวิมุต
- รวมข้อสงสัยหลังคลอด, โรงพยาบาลพญาไท
- 6 คำแนะนำหลังคลอดบุตร, โรงพยาบาลพญาไท
- C-Section Scar Care: Your Guide to Helping It Heal, Parents
- การดูแลหลังคลอด แบบผ่าตัดทางหน้าท้อง, โรงพยาบาลสมิติเวช
- อาหารช่วยเร่งการฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัด, โรงพยาบาลพญาไท
- แม่หลังคลอด ดูแลสุขภาพและแผลผ่าคลอดอย่างไร ช่วยให้หายไว, โรงพยาบาล MedPark
- คลายข้อกังวลคุณแม่ ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง มีลูกได้อีกกี่คน ?, โรงพยาบาลวิมุต
- 13 คำถามยอดฮิตของคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลบางปะกอก
- การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดท่าก้น ทางช่องทางคลอด, โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว
อ้างอิง ณ วันที่ 18 มีนาคม 2568