คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด

คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด

03.02.2024

คัดเต้านม นมคัด เป็นอาการเจ็บปวดเต้านมที่เกิดเมื่อคุณแม่มีน้ำนมคั่งค้างอยู่ภายในเต้านมปริมาณมาก ทำให้ทารกอาจดูดนมจากเต้านมที่คัดตึงลำบาก และหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ รวมถึง ร่างกายอาจผลิตน้ำนมลดลงด้วย เนื่องจากร่างกายรับสัญญาณจากอาการคัดตึงเต้านมว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างน้ำนมเพิ่ม บทความนี้จะอธิบายถึง สาเหตุที่ทำให้คุณแม่คัดตึงเต้านม อาการที่พบ วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านม และวิธีป้องกันไม่ให้กลับมาคัดเต้านมอีก

headphones

PLAYING: คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • อาการคัดเต้านม น้ำนมที่คั่งค้างอยู่ในเต้านมปริมาณมาก และไม่ได้ระบายออก อาจเกิดจากไม่ได้ให้ลูกดูดนมเป็นเวลานาน หรือไม่ได้ปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ ทุก 2-3 ชั่วโมง
  • เมื่อคัดเต้านม คุณแม่จะมีอาการเต้านมขยายใหญ่ขึ้น บวม คัด ตึง ปวด อาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย
  • ประคบอุ่นก่อนให้นมลูก ช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น และประคบเย็นหลังให้นม ช่วยลดบวม และลดอาการปวดเต้านมได้
  • หากนมคัดมาก ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คัดเต้านม ปัญหาที่พบบ่อยในคุณแม่ให้นมบุตร คุณแม่จะมีอาการเต้านมขยายใหญ่ขึ้น รู้สึกคัด บวม แข็ง ตึง ร้อน และปวด เนื่องจากมีน้ำนมแม่ค้างอยู่ในเต้านมเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้ระบายออก มักเป็นทั้งเต้า และเป็นทั้งสองข้าง บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาการนี้เรียกว่า ไข้จากน้ำนม เกิดจากสารในน้ำนมซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ ทำให้เกิดอาการไข้ ซึ่งสามารถหายได้เอง แต่หากคุณแม่มีไข้สูงและนานกว่า 48 ชั่วโมง แสดงว่าเกิดการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์

 

หากคุณแม่ปล่อยให้นมคัดเป็นเวลานาน จะทำให้น้ำนมข้นขึ้น และไปอุดตันท่อน้ำนม เสี่ยงต่ออาการท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบ และหากปล่อยไว้จนมีหนอง เรียกว่า เต้านมเป็นฝี ต้องไปให้แพทย์เจาะหรือกรีดหนองออก

 

สาเหตุที่ทำให้คุณแม่คัดเต้านม

โดยปกติหากคุณแม่ให้นมลูกน้อยเป็นเวลาหรือปั๊มนมออกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการระบายน้ำนมออกจากเต้า คุณแม่จะไม่ค่อยพบปัญหาเต้านมคัด แต่หากร่างกายคุณแม่สร้างน้ำนมได้มากกว่าปริมาณที่ลูกน้อยกิน หรือคุณแม่ทิ้งช่วงการให้นมลูกแต่ละครั้งห่างเกินไป เช่น ลูกนอนหลับนาน หรือลูกกินนมไม่บ่อย ลูกกินนมแต่ละครั้งน้อย แล้วไม่ได้ปั๊มนมออก หรือคุณแม่ติดงานไม่มีเวลาปั๊มนม ทำให้มีน้ำนมคั่งค้างในเต้ามากเกินไป รวมไปถึงคุณแม่มือใหม่อาจให้ลูกดูดนมเข้าเต้าผิดวิธี ทำให้ลูกกินนมได้น้อย ระบายน้ำนมออกได้น้อยกว่าที่ควร ไม่เกลี้ยงเต้า เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่เกิดอาการคัดเต้านมได้

 

อาการคัดเต้ากี่วันหาย

อาการคัดเต้านมจะหายไปภายใน 24-48 ชั่วโมง เมื่อคุณแม่มีการระบายน้ำนมออก พยายามทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้า โดยให้ลูกน้อยดูดบ่อย ๆ หรือปั๊มนมเก็บไว้บ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง แต่หากคุณแม่ไม่ทำอะไรเลย อาการคัดเต้านมจะอยู่ประมาณ 7-10 วัน

 

วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมสำหรับคุณแม่

 

วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมสำหรับคุณแม่

หากคุณแม่มีอาการคัดเต้านม สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการคัดเต้านมได้ ดังนี้

  • ประคบอุ่น ก่อนให้นมลูก โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบรอบเต้าประมาณ 5-10 นาทีก่อนให้นมลูก หรือนวดคลึงเต้านมเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด จะช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น
  • ประคบเย็นหลังให้นมลูก เป็นเวลา 10 นาที จะช่วยลดบวมและลดอาการปวดเต้านมได้
  • ให้นมลูกบ่อยขึ้น เพื่อเป็นการระบายน้ำนม ควรให้นมลูกบ่อยขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน ทุก 2-3 ชั่วโมง
  • บีบน้ำนมออกจนลานหัวนมอ่อนและนุ่มลง จะช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากนมคัดเต้าเป็นเวลานานทำให้ลานหัวนมตึงและแข็ง ทำให้หัวนมสั้นลง ลูกดูดนมได้ยากขึ้น
  • หมั่นปั๊มนมเก็บไว้บ่อยๆ คุณแม่ควรปั๊มนมทุก 3 ชั่วโมงจนเกลี้ยงเต้า เพื่อเคลียร์เต้านมให้โล่ง ป้องกันน้ำนมคั่งค้างอยู่ภายในเต้านม
  • ใส่เสื้อชั้นในเพื่อพยุงเต้านม ขนาดกระชับพอดีตัว ไม่ควรใส่เสื้อชั้นในที่มีโครง หรือเสื้อชั้นในที่คับเกินไป
  • คัดเต้านมมาก หากนมคัดเต้าจนคุณแม่มีอาการปวดเต้านมมาก หากนมคัดมาก ๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

 

เคล็ดลับป้องกันไม่ให้คัดเต้านม

 

เคล็ดลับป้องกันไม่ให้คัดเต้านม

อาการคัดเต้า ปวด ตึง บวม แข็ง สามารถกลับมาอีกได้ทุกเมื่อ หากคุณแม่ปล่อยระยะเวลาในการให้นมลูกห่างเกินไป หรือรอบการปั๊มนมห่างเกินไป เพื่อลดโอกาสกลับมาคัดเต้านมอีก วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้คัดเต้านม คือการให้นมลูกอย่างสม่ำเสมอ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แนะนำว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวควรได้รับนมทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง จนถึงอายุ 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับอื่น ๆ ป้องกันอาการคัดเต้า

  • ให้ลูกดูดนมอย่างถูกท่าทาง อุ้มลูกแนบชิดตัว และให้ลูกงับหัวนมให้ลึกถึงลานนม ลูกจะสามารถรีดน้ำนมเข้าปากได้อย่างเต็มที่
  • ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ และดูดจนเกลี้ยงเต้า รวมทั้ง สลับเต้านมที่ทารกมักดูดก่อน เช่น ปกติเริ่มดูดที่ข้างซ้ายก่อน ให้เปลี่ยนมาดูดข้างขวาก่อนบ้าง
  • หากคุณแม่รู้สึกคัดตึงเต้านม ควรปลุกลูกขึ้นมากินนมตอนกลางคืน เพื่อป้องกันอาการเต้านมคัดในตอนเช้า
  • อย่าปล่อยระยะเวลาให้นมลูกห่างไป ควรปั๊มนมออกทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อรักษาปริมาณน้ำนมเอาไว้

 

การให้นมลูก เป็นประจำและสม่ำเสมอ ดูดบ่อย ดูดถูกท่าทาง และดูดจนเกลี้ยงเต้า เป็นหัวใจสำคัญในการป้องการอาการคัดเต้านม เพื่อให้น้ำนมได้ระบายออกจากเต้านมและไม่คั่งค้างภายในเต้านม จนเกิดอาการคัดเต้านม ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้เกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน และเต้านมอักเสบตามมาได้

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีที่สุด เพราะนมแม่คือสุดยอดอาหาร ที่รวมสารอาหารต่าง ๆ กว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ทารกจึงควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องใน 6 เดือนแรก เพื่อการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. อาการเต้านมคัด, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  2. เต้านมคัด อาการที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม, คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ภาวะคัดเต้านม, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  4. การปฏิบัติตนเมื่อมีภาวะคัดนม และเทคนิคการบีบ-เก็บน้ำนมด้วยมือ, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
  5. Breast engorgement: How to relieve and prevent it, Medical News Today
  6. อาการที่สามารถเกิดกับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนม, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

อ้างอิง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

บทความแนะนำ

ผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้อาหารทารก

ผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้อาหารทารก

ลักษณะผื่นแพ้อาหารทารกเป็นอย่างไร ผื่นแพ้อาหารทารก หนึ่งในอาการของภูมิแพ้ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ไปดูวิธีสังเกตทารกแพ้อาหาร พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้อาหารทารก

ผื่นลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่ ควรใส่ใจเป็นพิเศษ

ผื่นลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่ ควรใส่ใจเป็นพิเศษ

ลมพิษในเด็ก อาการผื่นนูนแดงที่เกิดขึ้นตามร่างกายของลูกน้อย ผื่นลมพิษในเด็ก คืออะไร เด็กเป็นลมพิษมีอาการอย่างไร พร้อมวิธีดูแลลมพิษในเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้

ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ผื่นแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล

ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ผื่นแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล

ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ เกิดจากอะไร อาการผื่นแพ้ในเด็ก มักเกิดขึ้นกับเด็กหลังมีเหงื่อออกตามใบหน้าและลำตัว ไปทำความรู้จักกับอาการลูกแพ้เหงื่อ พร้อมวิธีดูแลเบื้องต้น

ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีดูแลผดผื่นบนใบหน้าทารก

ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีดูแลผดผื่นบนใบหน้าทารก

ผื่นขึ้นหน้าทารก เกิดจากอะไร รู้จักอาการผื่นขึ้นหน้าทารก สาเหตุ อาการที่ทำให้ทารกมีผื่นขึ้นหน้า พร้อมวิธีดูแล ผดผื่นบนใบหน้าทารก และการดูแลเมื่อผื่นขึ้นหน้าทารก

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก