ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที ผ่าคลอดนานไหม พร้อมขั้นตอนการผ่าคลอด
หากคุณแม่มีความจำเป็นต้องผ่าคลอด คุณหมอจะให้คำแนะนำและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าคลอดเบื้องต้น เช่น การผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที ผ่าคลอดนานไหม รวมถึงขั้นตอนในการผ่าคลอด และประเภทของการคลอด รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย ของการผ่าคลอดและคลอดธรรมชาติ ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จัก และเรียนรู้สิ่งสำคัญที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ เกี่ยวกับการผ่าคลอด เพื่อให้ว่าที่คุณแม่ทุกคนสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ดียิ่งขึ้น
สรุป
- การคลอดธรรมชาติ เป็นการคลอดผ่านช่องคลอดโดยไม่ต้องผ่าตัด เหมาะกับคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง และทารกอยู่ในท่าปกติ โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 6-12 ชั่วโมง แต่สามารถสั้นหรือยาวนานกว่านี้ได้
- การผ่าคลอด เป็นการคลอดผ่านการผ่าตัดหน้าท้อง เหมาะกับกรณีที่มีความเสี่ยงต่อทั้งแม่และลูก การผ่าคลอดใช้เวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ระยะเวลาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของการผ่าคลอด ขนาดของทารกและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- การเลือกวิธีคลอดที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่และลูก ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่าวิธีการคลอดแบบใดเหมาะสมกับคุณแม่และลูกน้อยมากที่สุด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การผ่าคลอด คืออะไร
- การผ่าคลอด มีกี่แบบ
- 3 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด คุณแม่ควรรู้อะไรบ้าง
- คลอดเองหรือผ่าคลอดดีกว่ากัน
- กรณีไหนบ้างที่คุณแม่จำเป็นต้องผ่าคลอด
- คุณแม่ต้องรอให้เจ็บท้องก่อนไหมจึงผ่าคลอดได้
- อาการผิดปกติหลังการผ่าคลอด ที่ควรพบแพทย์
- ข้อดี-ข้อเสียของการคลอดเองและผ่าคลอด
- คุณแม่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกผ่าคลอดได้อย่างไร
- ทำไมการผ่าคลอด ถึงได้รับความนิยมมาก
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการผ่าคลอด
การผ่าคลอด คืออะไร
การผ่าคลอด หรือการผ่าตัดคลอด เป็นหนึ่งวิธีในการคลอดบุตรนอกเหนือจากการคลอดตามธรรมชาติ โดยปกติแล้วจะเป็นวิธีการที่แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่มีความจำเป็น เนื่องจากลูกไม่สามารถคลอดผ่านทางช่องคลอดได้ตามธรรมชาติด้วยความเสี่ยงที่อาจส่งผลเป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งตัวคุณแม่และลูกในครรภ์ การผ่าคลอดจะผ่านการหารือและวางแผนร่วมกันของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้คุณแม่ไม่จำเป็นต้้องกังวลว่าผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที ผ่าคลอดนานไหม หรือคลอดเองกับผ่าคลอดดีกว่ากัน เพราะหากมีความจำเป็นทางการแพทย์แล้ว คุณหมอจะเลือกวิธีการที่เหมาะสมและปลอดภัยกับทั้งคุณแม่และลูกน้อยอย่างเหมาะสม
การผ่าคลอด มีกี่แบบ
การผ่าคลอดนั้นสามารถแบ่งตามลักษณะของแผลออกเป็น 2 แบบได้แก่
1. การผ่าคลอดแนวขวาง หรือแนวบิกีนี่ที่มดลูกส่วนล่าง (Transverse)
เป็นการผ่าตัดคลอดโดยแพทย์จะทำการลงมีดผ่าตัดในแนวขวาง บนบริเวณมดลูกส่วนล่างที่เรียกว่า เส้นบิกีนี่ ซึ่งหมายถึงบริเวณเหนือหัวหน่าว โดยจะมีความยาวของแผลผ่าตัดประมาณ 12-15 ซม. เป็นรูปแบบการผ่าตัดคลอดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะบริเวณนี้มีเลือดมาเลี้ยงน้อย ทำให้เสียเลือดน้อยระหว่างการผ่าตัด และมีโอกาสเกิดอาการแผลแยกในครรภ์ต่อไปได้น้อย
2. การผ่าตัดในแนวตั้งที่มดลูกส่วนล่าง (Vertical Midline incision)
เป็นการผ่าตัดคลอดโดยที่แพทย์จะทำการลงมีดผ่าตัดเป็นแนวตรงที่มดลูกตอนบน จากบริเวณใต้สะดือลงมาถึงเหนือหัวหน่าวเพื่อทำการเอาทารกออกจากครรภ์ แม้จะเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่วิธีการนี้ไม่ได้รับความนิยมนักในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณที่ทำการผ่าตัดเป็นบริเวณที่เนื้อมดลูกหนา มีเลือดมาเลี้ยงมาก ทำให้เสียเลือดมากระหว่างผ่าตัด
3 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด คุณแม่ควรรู้อะไรบ้าง
ก่อนจะเข้ารับการผ่าคลอด คุณแม่ต้องเตรียมตัวทำความพร้อมก่อนทำการผ่าตัดดังนี้
- คุณแม่ต้องเตรียมความพร้อมทางร่างกายก่อนการผ่าตัด โดยจะมีการตรวจเลือด หรือตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เพื่อสำรวจความพร้อมของคุณแม่และลูกในครรภ์
- คุณแม่ต้องแจ้งประวัติที่จำเป็นต่อการรักษาให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นประวัติการแพ้ยา ประวัติการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ
- คุณแม่ต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
คลอดเองหรือผ่าคลอดดีกว่ากัน
หากจะถามว่าการผ่าคลอด หรือคลอดธรรมชาติวิธีไหนที่ดีกว่ากัน ก็ต้องตอบตามตรงว่า การคลอดบุตรเป็นหนึ่งในกระบวนการตามธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นการคลอดธรรมชาติย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่ว่าการผ่าคลอดเป็นสิ่งไม่ดี สุดท้ายแล้วจะเลือกวิธีการคลอดบุตรแบบไหนนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะทางร่างกายของคุณแม่ และแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ ที่พิจารณาปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ในการคลอดบุตร และได้วางแผนการคลอดที่เหมาะสมกับสภาพความพร้อมต่าง ๆ ในแต่ละบุคคลไปนั่นเอง
กรณีไหนบ้างที่คุณแม่จำเป็นต้องผ่าคลอด
กรณีที่แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดบุตรด้วยการผ่าคลอดนั้น มักจะเกิดจากสาเหตุ และปัจจัยที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในการคลอดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่เกิดจากความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น ตำแหน่งศีรษะลูกในท้องผิดปกติ หมุนผิดตำแหน่ง ไม่กลับตัวลงมา ลูกในครรภ์ไม่แข็งแรงมีความเสี่ยงที่จะขาดออกซิเจนขณะเจ็บท้องคลอด เป็นต้น หรือความผิดปกติของคุณแม่ที่อาจทำให้เกิดอันตรายระหว่างการคลอดบุตรเช่น คุณแม่ไม่มีแรงเบ่ง รกเกาะต่ำขวางปากมดลูก รวมถึงกรณีที่คุณแม่มีโรคประจำตัวบางโรค ซึ่งอาจเป็นอันตรายหากคลอดธรรมชาติ เป็นต้น
คุณแม่ต้องรอให้เจ็บท้องก่อนไหมจึงผ่าคลอดได้
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่คุณแม่สงสัย ว่าจำเป็นจะต้องให้เจ็บท้องก่อนไหมจึงจะสามารถทำการผ่าคลอดได้ คำตอบที่ถูกต้องก็คือ ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ หากคุณหมอได้ประเมิณ และวางแผนการคลอดบุตรด้วยการผ่าคลอดได้แล้ว ก็สามารถดำเนินการตามกำหนดการที่ได้นัดหมายไว้ได้เลย
อาการผิดปกติหลังการผ่าคลอด ที่ควรพบแพทย์
นอกจากการเตรียมตัวก่อนคลอดที่คุณแม่ต้องปฏิบัติแล้ว หลังจากผ่าคลอดแล้วคุณแม่ก็ยังต้องสังเกตอาการของตัวเองอย่างใกล้ชิด หากมีอาการหรืออาการอื่นใดที่ผิดปกติ ขอแนะนำให้รีบพบแพทย์โดยทันที ตัวอย่างความผิดปกติเช่น
- มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียสเป็นเวลาเกิน 24 ชั่วโมง
- มีเลือดออกจากทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก
- มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ออกจากช่องคลอด
- น้ำคาวปลาไม่ไหลในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
- ปวดท้องน้อยในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังคลอด
- มีอาการบวมแดง มีน้ำเหลืองไหลซึม หรือเป็นหนองบริเวณแผลผ่าตัด
ข้อดี-ข้อเสียของการคลอดเองและผ่าคลอด
ข้อดีของการผ่าคลอด
- สามารถวางแผนการคลอดบุตรล่วงหน้าได้ ไม่ต้องกังวลว่าผ่าคลอดนานไหม เพราะอาจใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน
- ลดความกังวล และความเครียดของคุณแม่ พร้อมต่อการคลอดบุตรมากยิ่งขึ้น
- ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังคลอดบุตร
- ไม่เจ็บปวดระหว่างการทำคลอด เพราะระหว่างการผ่าคลอด แพทย์จะทำการบล็อกหลัง หรือให้คุณแม่ดมยาสลบ
- คุณแม่สามารถทำหมันได้เลยหากต้องการ ไม่ต้องมาผ่าตัด หรือทำหัตถการทำหมันในภายหลัง
ข้อเสียของการผ่าคลอด
- คุณแม่มักจะเจ็บแผลผ่าคลอดเป็นเวลานาน
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกมาก หรือติดเชื้อ เป็นต้น
- ลูกจะพลาดโอกาสในการได้รับภูมิคุ้มกันตั้งต้นจากการคลอด มีควาามเสี่ยงสูงต่อการเกิดภูมิแพ้ หรือป่วยได้ง่าย
- มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ
- หลังคลอดจะมีอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยได้ง่าย
ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ
- ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันตั้งต้นจากจุลินทรีย์สุขภาพที่อาศัยอยู่บริเวณช่องคลอดของคุณแม่ ทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงตามธรรมชาติ
- ไม่มีการผ่าตัด เสียเลือดน้อยกว่าการผ่าคลอด ลดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ภาวะเลือดออกภายใน หรือการติดเชื้อ
- ใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ คุณแม่สามารถกลับบ้านได้ภายในเวลา 2 วันหลังจากการคลอด
- คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ทันที
- ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรไม่แพงเมื่อเทียบกับการผ่าคลอดในโรงพยาบาลเดียวกัน
- โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในการเจ็บครรภ์ครั้งต่อไปอย่างเช่น แผลมดลูกปริแตก มีน้อยลง
ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติ
- ไม่สามารถกำหนดวันคลอดได้อย่างแน่นอน ไม่สามารถวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ
- มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่หลังคลอด จากเนื้อเยื่ออุ้งเชิงเกรานของคุณแม่ที่อาจเกิดการหย่อนได้
- หากการคลอดยาก ต้องมีการใช้หัตถการ หรืออุปกรณ์ในการช่วยคลอด
- ต้องเจ็บปวดครรภ์เป็นระยะเวลานานขณะคลอด
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดการฉีกขาด หรือขยายตัวของปากมดลูก และช่องคลอดได้
คุณแม่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกผ่าคลอดได้อย่างไร
เนื่องจากลูกผ่าคลอดนั้น จะพลาดโอกาสในการได้รับภูมิคุ้มกันตั้งต้นจากช่องคลอด แตกต่างจากเด็กคลอดธรรมชาติที่จะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพที่อาศัยอยู่ในบริเวณช่องคลอดของคุณแม่ ทำให้เด็กผ่าคลอดมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าเด็กคลอดธรรมชาติ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณแม่สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับลูกผ่าคลอดได้ ด้วยการให้โภชนาการที่ดีคือนมแม่ เพราะในน้ำนมแม่มีจุลินทรีย์สุขภาพหลากสายพันธุ์ เช่น B. lactis ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังมีสารอาหารสำคัญอื่น ๆ อีกมากมายกว่า 200 ชนิด รวมไปถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการสมอง เช่น ดีเอชเอ เออาร์เอ รวมถึง สฟิงโกไมอีลิน มีส่วนช่วยในการสร้างไมอีลิน ทำให้สมองสามารถส่งสัญญาณประสาทได้ไวขึ้น และสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำไมการผ่าคลอด ถึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- การผ่าคลอด มีความปลอดภัยสูง เพราะการผ่าคลอดจะผ่านการหารือและวางแผนร่วมกับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุไม่คาดฝัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีในการผ่าคลอดในปัจจุบัน มีความปลอดภัยสูงมาก
- หลายคนอาจสงสัยว่าการผ่าคลอด ใช้เวลากี่นาที ซึ่งการผ่าคลอด สามารถกำหนดเวลาได้ หลังจากพ้นสัปดาห์ที่ 38 แล้ว คุณแม่สามารถมองหาฤกษ์ผ่าคลอด เพื่อนำมาปรึกษาคุณหมอเพื่อกำหนดวันคลอดได้อย่างปลอดภัย
- การผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที ผ่าคลอดนานไหม การผ่าตัดคลอดใช้เวลาไม่นาน ราว ๆ 45 นาที – 1 ชั่วโมงเท่านั้น
- ลดความเจ็บปวดขณะเบ่งคลอด คุณหมอจะทำการบล็อกหลัง หรือวาง ยาสลบให้คุณแม่ก่อนทำการผ่าตัด
- ลดการยืดหย่อนของเชิงกราน เนื่องจากการเบ่งคลอดตามธรรมชาติ จะมีผลต่อการยืดของเส้นเอ็นยึด กระบังลม และเชิงกราน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการผ่าคลอด
- หากท้องแรกมี การผ่าคลอด ท้องถัด ๆ ไป คุณหมอจะแนะนำให้ผ่าคลอดอีกครั้ง
- การผ่าคลอด ทำได้ไม่เกิน 3 ครั้ง
- ภายหลังการผ่าคลอด คุณแม่จะฟื้นตัวภายใน 12 ชั่วโมง และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 4 - 5 วัน
- การดูแลแผลผ่าคลอดให้หายไว ต้องไม่โดนน้ำ ห้ามยกของหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้แผลปริแตก ติดเชื้อ หรืออักเส บ
- แผลผ่าคลอด ใช้เวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ จึงจะปิดสนิทและหายดี
- แผลผ่าคลอด อาจทำให้ร่างกายของแม่ พร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ช้ากว่าการคลอดธรรมชาติ
คุณแม่มือใหม่คงเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าคลอด และ การผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที รวมถึงขั้นตอนในการผ่าคลอดที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ รวมถึงประเภทของการคลอด นอกจากนี้ก่อนที่จะถึงกำหนดคลอดเจ้าตัวเล็ก คุณแม่มือใหม่อย่าลืมจัดกระเป๋าเตรียมของก่อนคลอด ไปด้วยนะคะ เพื่อความสะดวกสบาย เมื่อต้องเตรียมตัวเดินทางไปคลอดเจ้าตัวเล็ก
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
- แม่มือใหม่เตรียมผ่าคลอด พร้อมขั้นตอนการผ่าคลอด และวิธีดูแลให้แผลหายไว
- แผลฝีเย็บหลังคลอด คุณแม่ดูแลอย่างไรให้ปลอดภัย ฝีเย็บหายไว ไม่ติดเชื้อ
- แผลผ่าคลอด ดูแลแผลหลังผ่าคลอดอย่างไรให้ยุบไว หายเร็ว
- หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง แม่หลังคลอดทานอะไรให้แผลหายเร็ว
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์ที่พบได้ในนมแม่ มีประโยชน์กับลูก
- พรีไบโอติก มีส่วนช่วยพัฒนาสมองในเด็กทารก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกงอแงไม่ยอมนอนไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ
- วิธีชงนมที่ถูกต้อง พร้อมขั้นตอนการเตรียมน้ำชงนม สำหรับแม่มือใหม่
อ้างอิง
- คำแนะนำเรื่อง การผ่าตัดคลอดเด็กออกทางหน้าท้อง, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- Grönlund MM, et al. Clin Exp Allergy. 2007 Dec;37(12):1764-72
- Floch MH, et. al. J Clin Gastroenterol. 2015 Nov-Dec;49 Suppl 1:S69-73
อ้างอิง ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2566