สีผิวทารกจะเปลี่ยนตอนกี่เดือน สีผิวทารกเปลี่ยนแบบไหนผิดปกติ
ช่วงแรกเกิดผิวหนังของทารกมักมีสีแดง ชมพู หรือไม่ก็แดงอมม่วง ซึ่งเป็นผลมาจากระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายกำลังปรับตัวอย่างรวดเร็ว สำหรับสีผิวที่ปรากฏในช่วงแรกนี้จะยังไม่ใช่สีผิวจริงของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าสีผิวของทารกจะเปลี่ยนตอนกี่เดือน ที่จะกลายมาเป็นสีผิวจริงของตัวเอง
สรุป
- สีผิวทารกจะเปลี่ยนตอนกี่เดือน สีผิวของทารกจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งในเด็กทารกบางคนอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือน จึงจะพัฒนาสีผิวจริงของตัวเอง
- สีผิวทารกถูกกำหนดขึ้นจากกรรมพันธุ์ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ สีผิวขาวหรือผิวดำของทารกแรกเกิดจะอยู่ที่พันธุกรรมโดยจะมียีนควบคุมการแสดงออกของเมลานินหรือเม็ดสีผิวให้กับทารก
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สีผิวทารกจะเปลี่ยนตอนกี่เดือน
- สีผิวทารกเปลี่ยน เกิดจากอะไร
- สีผิวทารกเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์หรือเปล่า
- สีผิวทารกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิดปกติไหม
- เคล็ดลับดูแลผิวทารก ที่พ่อแม่ควรรู้
สีผิวทารกจะเปลี่ยนตอนกี่เดือน
สีผิวทารกจะเปลี่ยนตอนกี่เดือน สีผิวของทารกจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออายุมากขึ้น ในเด็กทารกบางคนอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือน จึงจะพัฒนาสีผิวจริงขึ้นมา นักวิจัยมีการสังเกตพบว่าสีผิวทารกจะสว่างขึ้นและมีสีแดงน้อยลงเมื่อมีอายุได้ 2-20 เดือน และยังพบว่าผิวของทารกจะมีเม็ดสีเหลืองเพิ่มขึ้นเมื่ออายุครบ 20 เดือน
สีผิวทารกเปลี่ยน เกิดจากอะไร
สีผิวทารกเปลี่ยนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยทั้งจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู หรือมีการรับประทานยาบางอย่าง รวมถึงการพัฒนาของเม็ดสีผิวในเด็กก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สีผิวทารกเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ มาดูรายละเอียดของสาเหตุเหล่านี้
1. สภาพแวดล้อม
ปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้สีผิวทารกเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อโตขึ้นก็คือ สภาพแวดดล้อม เช่น การถูกเลี้ยงดูมาในสภาพแวดล้อมที่ต้องโดนแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลตบ่อยๆ มลภาวะต่างๆ ส่งผลให้สีผิวเข้มและดำขึ้นได้
2. การกินยาบางชนิด
ช่วงไตรมาส 3 ของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีการกินยาต้านเชื้อราและยาปฏิชีวนะบางชนิด ทารกในครรภ์อาจได้รับผลกระทบจากยาชนิดนี้ คือเมื่อทารกคลอดออกมา มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะที่เรียกว่า Gray baby syndrome ที่ส่งผลทำให้สีผิวทารกเปลี่ยนเป็นสีเทา
3. การพัฒนาเม็ดสีผิวของเด็กแต่ละคน
เด็กทารกเกิดมามีสีผิวที่ต่างกัน เป็นผลมาจากพันธุกรรมที่มียีนเป็นตัวกำหนดการแสดงออกของเมลานินหรือเม็ดสีที่ผิวหนังของเด็ก
สีผิวทารกเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์หรือเปล่า
สีผิวทารกจะถูกกำหนดโดยการแสดงออกทางพันธุกรรมโดยยีนที่ได้รับจากพ่อแม่ ยีนที่ควบคุมแสดงออกของเมลานินหรือเม็ดสีผิวจะเป็นตัวกำหนดสีผิวของทารก หากพ่อแม่มีสีผิวเข้ม ลูกก็มีโอกาสสูงที่จะมีสีผิวเข้มตาม ดังนั้น การรับประทานอาหารสีต่าง ๆ ของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จึงไม่มีผลต่อการกำหนดสีผิวทารกนั่นเอง
สีผิวทารกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิดปกติไหม
ในช่วงหลังคลอดประมาณ 3 วัน เด็กทารกบางคนอาจเสี่ยงเกิดภาวะตัวเหลือง ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นจนสังเกตได้ คือตรงตาขาวของดวงตาทั้งสองข้างมีสีเหลือง และผิวหนังจากสีแดงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม สำหรับทารกที่มีตัวเหลืองจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ตัวเหลือง ดังนี้
1. ภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD
ทารกตัวเหลือง หรือทารกที่มีอาการตัวเหลือง อาจเกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
2. หมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน
เกิดจากการที่คุณแม่มีหมู่เลือดโอกับลูกมีหมู่เลือดเอหรือบี หรืออีกกรณีคือคุณแม่มีหมู่เลือดเป็น Rh ลบ และลูกมีหมู่เลือดเป็น Rh บวก
3. การดื่มนมแม่ที่สัมพันธ์กับตัวเหลือง
เกิดจากการที่ทารกกินนมแม่ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย สาเหตุอาจเกิดจากคุณแม่อุ้มให้ลูกดูดนมแม่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือช่วงแรกเกิดลูกมีภาวะลิ้นติด จนไม่สามารถดูดนมแม่ได้ คุณแม่จึงควรให้นมลูกในท่าที่ถูกต้อง เป็นต้น
4. ตับอักเสบ
มักเกิดร่วมกับอาการตัวเหลือง ส่งผลให้ทารกมีไข้ ซึมลง ไม่กินนม และมีภาวะท้องโตเนื่องจากการโตของตับ
5. ติดเชื้อในกระแสเลือด
อาจเกิดร่วมกับภาวะตัวเหลืองในทารก ส่งผลให้ทารกมีอาการของไข้ ชัก ซึม ไม่กินนม และท้องอืด
6. พร่องไทรอยด์แต่แรกเกิด
ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากการพร่องไทรอยด์ มักจะมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ และอาจมีภาวะกระหม่อมกว้างกว่าปกติ สะดือจุ่น ลิ้นโตคับปาก แต่ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ
7. ท่อหรือทางเดินน้ำดีตีบตัน หรือโป่งพอง
ทารกที่มีอาการของท่อหรือทางเดินน้ำดีตีบตัน จะมีอาการตัวเหลืองและอุจจาระออกมามีสีซีด สีปัสสาวะเข้ม เนื่องจากบิลิรูบินไม่สามารถขับออกมาทางน้ำดีได้ตามปกติ
เคล็ดลับดูแลผิวทารก ที่พ่อแม่ควรรู้
ผิวของทารกบอบบางและเกิดการแพ้ได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลผิวลูกน้อย ทั้งจากการอาบน้ำ หรือการบำรุงถนอมผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวเด็ก เพื่อที่ลูกน้อยจะได้มีผิวแข็งแรงสุขภาพผิวดี
1. อาบน้ำให้ลูกด้วยน้ำอุณหภูมิที่เหมาะสม
เด็กทารกควรอาบน้ำอุ่น การเตรียมน้ำสำหรับอาบให้ลูก น้ำต้องอุ่นมีอุณหภูมิประมาณ 27 – 28 องศาเซลเซียส หรือน้ำอุณหภูมิห้อง ข้อควรระวังต้องไม่ให้น้ำอุ่นมากเกินไปเพราะจะทำให้ผิวลูกแห้งได้ และไม่ควรอาบน้ำให้ลูกนานกว่า 5 นาที
2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน
การทำความสะอาดผิวลูกควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนกับเส้นผม หนังศีรษะ และผิวของลูก คุณแม่สามารถใช้เป็นสบู่ก้อนสำหรับเด็ก หรือสบู่เหลวสำหรับเด็กที่ใช้ได้ทั้งสระและอาบ Head to Toe Wash ก็ได้เช่นกัน
3. ทาครีมบำรุงสำหรับเด็กทุกวัน อย่าปล่อยให้ผิวลูกแห้ง
การดูแลบำรุงผิวลูกด้วยการทาโลชั่นสำหรับเด็ก จะช่วยให้ผิวชุ่มชื่นลดการเกิดผิวแห้ง คุณแม่ควรเลือกใช้ครีมบำรุงผิวที่เป็นสูตรอ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม และปราศจากสารระคายเคือง สามารถใช้ได้ทั้งกับผิวหน้าและผิวกายของลูกน้อย
สำหรับสีผิวที่เห็นในตอนแรกเกิดจะยังไม่ใช่สีผิวจริงของลูกน้อย สีผิวทารกจะเปลี่ยนตอนกี่เดือนนั้น สีผิวจริงอาจใช้เวลานาน 6 เดือนถึงปรากฎขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้สีผิวของทารกเปลี่ยนแปลงได้ อาทิเช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อม หรือปัญหาทางสุขภาพ เป็นต้น
เพื่อช่วยให้ลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดมีสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอก ผิว ผม ร่างกายเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม แอลฟา-แล็คตัลบูมิน และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูกน้อยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการทราบเกี่ยวพัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.s-momclub.com/member-privilege
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
- นิทานเด็กทารกสำคัญกับลูกไหม คุณแม่ควรอ่านเรื่องอะไรให้ลูกน้อยฟังดี
อ้างอิง:
- “ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด” สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้..เพื่อดูความผิดปกติ, โรงพยาบาลพญาไท
- 8 Surprising Facts About Your Baby's Skin, What to Expect
- Babies and skin color: A guide, MedicalNewsToday
- ความเชื่อผิดๆ ขณะตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- สารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดพิษแก่ทารกในครรภ์, สูติศาสตร์ล้านนา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มรดกทางพันธุกรรม, จุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เจาะประเด็นสาวผิวคล้ำ, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี
- ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด พ่อแม่มือใหม่ควรรู้, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ลูกตัวเหลือง เรื่องไม่เล็กของเด็กเปลี่ยนสี, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- 8 เทคนิคอาบน้ำและดูแลผิวทารกแรกเกิดให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
อ้างอิง ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2567