แผลผ่าคลอด ดูแลแผลหลังผ่าคลอดอย่างไรให้ยุบไว หายเร็ว
คุณแม่ที่ต้องผ่าคลอด มีหลายอย่างที่จะต้องเตรียมตัว รวมถึงการดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด โดยเฉพาะการดูแลแผลผ่าตัดคลอด เพราะร่องรอยผ่าคลอดที่อยู่บนร่างกาย หากไม่ดูแลให้ดีจะเสี่ยงแผลผ่าคลอดอักเสบ ติดเชื้อรุนแรงได้ มาอ่านวิธีดูแลแผลผ่าคลอด เพื่อให้แผลยุบเร็ว หายไว ถูกวิธี ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ กันได้ในบทความนี้
แผลผ่าคลอดมีกี่แบบ
การผ่าคลอด (Cesarean section) เป็นการผ่าตัดทางหน้าท้อง โดยคุณหมอจะผ่าตัดคลอดเพื่อนำตัวทารกในครรภ์ออกมาทางแผลผ่าตัดด้านหน้ามดลูก เป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลาไม่นานราว ๆ 1 ชั่วโมง หากร่างกายของแม่ปกติดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยคุณหมอจะผ่าตัดเปิดเยื่อบุช่องท้องส่วนที่ติดกับมดลูก ผ่าตัดเปิดมดลูก และทำการคลอดทารก

หลัก ๆ แล้วการผ่าคลอดแบ่งเป็น 2 แบบ คือการผ่าคลอดแนวตั้ง และการผ่าคลอดแนวนอน
- ผ่าคลอดแนวตั้ง หรือลงแผลแนวดิ่ง จะเริ่มผ่าบริเวณต่ำกว่าสะดือยาวลงมาบริเวณหัวหน่าว ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน เข้าช่องท้องได้ง่าย เหมาะกับการผ่าตัดคลอดที่ต้องเอาเด็กออกมาโดยเร็ว และยังเหมาะกับการทำคลอดทารกก่อนกำหนดอีกด้วย ปกติแล้วการลงแผลผ่าตัดที่มดลูกในแนวดิ่งจะทำเฉพาะในรายที่จำเป็น เช่น เกิดภาวะรกเกาะต่ำทางด้านหน้า หรือเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เพราะวิธีนี้จะมีโอกาสที่จะทำให้มดลูกแตกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้มากกว่าการลงมีดแนวขวาง
- ผ่าคลอดแนวนอน หรือลงแผลแนวขวาง กรีดแผลบริเวณเหนือหัวหน่าวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ข้อดีของการลงแผลชนิดนี้คือแผลจะสวยกว่า เหมาะกับผู้ป่วยที่อ้วนมากด้วย เพราะไขมันหน้าท้องจะไม่มาบังมาก เย็บแผลง่ายกว่า และปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าลงแผลแบบแนวดิ่ง แต่มีข้อเสียคือผิวหนังบริเวณแผลมักจะชื้น ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น วิธีนี้ยังประเมินบริเวณช่องท้องส่วนบนได้ยาก หากลูกในท้องตัวโตมากก็จะผ่าตัดคลอดได้ยาก

หลังผ่าคลอดควรดูแลตัวเองอย่างไรให้กลับบ้านได้เร็ว
- วันแรกหลังผ่าตัดคลอด คุณแม่สามารถเปลี่ยนอิริยาบถง่าย ๆ พลิกตัวบ่อย ๆ หรือลุกขึ้นยืน พยายามลุกนั่งให้ได้ ถ้าทำได้เร็วจะช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานได้ไว ข้อดีคือช่วยป้องกันท้องอืด ลดการเกิดพังผืดในช่องท้อง รวมถึงป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องเคลื่อนไหวและเลือดมาเลี้ยงดี
- วันที่ 2 หลังการผ่าตัดคลอด เริ่มนั่งหรือยืนเองได้แล้ว แต่คุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บแผลได้ตอนที่เปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ หากรู้สึกอยากไอ ควรใช้มือหรือหมอนกดเอาไว้ที่แผล หายใจให้ลึก กลั้นไว้ก่อน แล้วค่อยไอออกมา จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลตอนไอได้
- ในสองวันแรกคุณหมอจะใส่สายสวนปัสสาวะให้ แต่หลังจากที่เอาออกแล้ว ควรจะปัสสาวะได้เองใน 6 ชั่วโมง ส่วนการถ่ายหนักควรถ่ายได้เองในวันที่ 3 ถ้ายังไม่ถ่ายอุจจาระก็ต้องใช้ยาถ่ายช่วย
- การนอนควรปรับหัวเตียงให้สูงขึ้น แผลที่หน้าท้องจะได้ไม่ตึงเกินไป เวลาจะลุกให้ใช้วิธีตะแคงตัวก่อน แล้วใช้มือค่อย ๆ ยันตัวลุกขึ้นมา
- แผลผ่าตัดคลอดไม่ควรโดนน้ำ คุณแม่ต้องระวังไม่ให้แผลผ่าคลอดโดนน้ำประมาณ 7 วัน หากการผ่าตัดคลอดเย็บแผลด้วยไหมละลายก็ไม่ต้องกลับมาตัดไหม แต่หากเย็บแผลด้วยไหมธรรมดาต้องกลับมาตัดไหมเมื่อครบกำหนด 7 วัน
เมื่อผ่าตัดคลอดแล้วคุณแม่ปลอดภัยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน คุณลูกแข็งแรงสมบูรณ์ ก็สามารถกลับบ้านได้ในวันที่ 3 หรือวันที่ 4 หลังจากผ่าตัดคลอด และมาพบแพทย์อีกครั้งตามนัด

วิธีดูแลแผลผ่าคลอด ยุบไว หายเร็ว ไม่ติดเชื้อ
- หมั่นเดินบ่อย ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดที่มดลูก แต่หากเดินขึ้นหรือลงบันได ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เดินช้า ๆ เพื่อไม่ให้แผลกระทบกระเทือน แต่หากต้องการออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์หลังจากที่ตรวจหลังคลอด
- ห้ามเปิดแผลหรือไม่ให้แผลโดนน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท การดูแลความสะอาดของร่างกายเพื่อป้องกันน้ำเข้าแผล ให้ใช้วิธีเช็ดตัวประมาณ 7 วัน จากนั้นก็อาบน้ำได้ตามปกติ เลือกใช้สบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน ไม่จำเป็นต้องถูสบู่ในบริเวณที่เป็นแผล ไม่ต้องทาแป้ง และควรอาบน้ำด้วยฝักบัว
- หลังอาบน้ำทุกครั้งควรใช้ผ้าขนหนูสะอาด ๆ ซับแผลให้แห้ง
- ไม่ควรยกของหนักหรือเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก อาจทำให้รู้สึกเจ็บแผลผ่าคลอดได้
- ก่อนสัมผัสแผลควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- เลือกใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัว ไม่รัดรูป เพื่อป้องกันการเสียดสีโดนแผล และใช้ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอดช่วยพยุงกล้ามเนื้อ จะช่วยพยุงหลังเวลาเดิน ทำให้ไม่ค่อยเจ็บแผล
- หลังจากที่แผลเริ่มปิดสนิท แห้งดีแล้ว เลือกทาผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินอีที่ปลอดภัยกับการให้นมบุตร ด้วยสรรพคุณของวิตามินอีจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับแผล
- รับประทานยาที่คุณหมอสั่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะต้องรับประทานจนครบกำหนด ไม่หยุดยาเอง
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งอาหารที่สำคัญหลังจากผ่าตัดคือ โปรตีน เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง และถั่วเมล็ดแห้ง เป็นสารอาหารที่ช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น วิตามินซีที่ช่วยสร้างผนังของเซลล์ ทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ ช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น พบในผลไม้สดทุกชนิด โดยเฉพาะฝรั่ง มะละกอ ส้ม ผักสดอย่างบร็อกโคลี่ พริกหวานสีแดง รวมทั้งสังกะสี ที่ช่วยให้เซลล์จับกับวิตามินกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น พบในเนื้อสัตว์ นม ไข่ ตับ และถั่วเหลือง
- ไม่ควรขับรถในช่วง 45 วันหลังผ่าตัด
หากดูแลแผลตามคำแนะนำของคุณหมอเป็นอย่างดี ในสัปดาห์แรกหลังผ่าตัดคลอดจะสังเกตเห็นว่า ผิวชั้นนอกของแผลเริ่มติดกัน แล้วแผลก็จะค่อย ๆ ปิดสนิท เปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วง ก่อนจะมีผิวเรียบขึ้น สีจางลงกลายเป็นสีขาว
อาการแบบนี้แผลเสี่ยงติดเชื้อ!
ในระหว่างที่ดูแลแผลผ่าคลอดให้คอยสังเกตเป็นประจำ เพราะแผลผ่าตัดเป็นแผลสด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อักเสบ และปริได้ หากมีความผิดปกติต้องรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เช่น
- เจ็บแผลผ่าตัดมากขึ้น มีรอยแดง บวม ที่แผล มีเลือดซึมจากแผลผ่าตัด
- ปวดท้องมาก
- มีไข้ขึ้นสูง
- ปัสสาวะแสบขัด
- น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดไหลชุ่ม ทั้งที่น้ำคาวปลาสีจางลงไปแล้ว
- ไอ หายใจลำบาก ปวดบวมที่ขา
สัญญาณอันตรายของแผลติดเชื้อ คุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการเหล่านี้ และไปหาหมอเพื่อเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด
หลังผ่าคลอดจะเกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ไหม
นอกจากแผลติดเชื้อที่คุณแม่หลายคนกังวลแล้ว การเกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ ก็เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล สำหรับการเกิดรอยแผลเป็นนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งอายุ คนที่อายุน้อยร่างกายมีโอกาสที่จะสร้างพังผืดได้เยอะกว่าคนที่อายุมากหรือสูงอายุ รวมถึงลักษณะของผิวหนังคนเอเชียก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูนได้มากกว่า คุณแม่จึงต้องคอยดูแลรักษา พร้อมกับสังเกตลักษณะแผลผ่าคลอดว่านูนแดงหรือไม่
โดยปัญหาของแผลผ่าตัดที่พบได้บ่อยคือ
- แผลเป็นเกิดนูนแดงนั้น กลายเป็น แผลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หรือที่เรียกว่า คีลอยด์
- หลังจาก 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่งไปแล้ว แผลนั้นยังแดงอยู่ แดงอยู่นาน รอยแดงไม่ลดลง
- มีอาการเจ็บหรือคัน
การหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลผ่าตัดคลอดเกิดเป็นแผลเป็นนูนหรือคีย์ลอยด์ จะต้องไม่ยกของหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป ไม่ทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวมาก ๆ เมื่อแผลหายสนิทแต่กลับเริ่มแข็งนูนให้ใช้แผ่นซิลิโคนเจลซีทปิด อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยทำให้แผลเป็นนุ่มขึ้นได้คือการนวดบริเวณแผลเป็น ด้วยการใช้มอยเจอร์ไรเซอร์และโลชั่นมาช่วยนวด สำคัญที่แผลนั้นต้องปิดสนิทแล้ว ระวังแผลปริ และควรสังเกตว่าเกิดอาการแพ้โลชั่นหรือไม่ ท้ายที่สุด ถ้าเกิดแผลเป็นนูนแล้วก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ฉีดยาสเตียรอยด์ ใช้ซิลิโคนเจลชีท ใช้ฉายแสงเลเซอร์ หรือการจี้ด้วยความเย็น ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แม้ว่ารักษาไปแล้วก็มีโอกาสเกิดแผลเป็นขึ้นมาได้อีก
หลังจากการผ่าคลอดแล้ว แม่ ๆ ควรดูแลสุขภาพร่างกายตั้งแต่วันแรก หมั่นขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ กลับมาทำงานได้ดีขึ้น ที่สำคัญ อย่าลืมสังเกตแผลผ่าคลอด สีของน้ำคาวปลา และความผิดปกติของร่างกาย เพื่อรีบรักษาอย่างทันท่วงที
หากคุณแม่มือใหม่ มีคำถามเกี่ยวกับสุขภาพการตั้งครรภ์ โภชนาการ และพัฒนาการลูกน้อย สามารถปรึกษาทีมพยาบาลผู้เชียวชาญได้ที่ S-Mom Club ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพียงสมัครสมาชิกฟรีที่ https://www.s-momclub.com/profile/register
S-Mom Club พร้อมเคียงข้างช่วงเวลาสำคัญของคุณและลูกน้อย
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
15 คำถามยอดฮิต ที่คุณแม่หลังคลอดอยากรู้
อ้างอิง
https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=articl…
http://www.rtcog.or.th/home/wp-content/uploads/2017/05/IC-005_ความรู้เร…
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ดูแลหลังคลอดแบบผ่า…
https://www.pobpad.com/แผลผ่าคลอด-ควรดูแลอย่าง
https://www.bccgroup-thailand.com/16-ความลับของทารก-แม่อาจไ-2-2/
https://www.chularat3.com/treatment_detail.php?lang=en&id=2
https://www.thaihealth.or.th/Content/34206-ความเชื่อผิดๆ%20‘กินไข่’%20ทำให้เกิดแผลปูด.html
https://mgronline.com/qol/detail/9500000088906
https://www.youtube.com/watch?v=acm2Q_Xcup4
https://www.youtube.com/watch?v=IaVehIPjGnk
บทความแนะนำ

ฤกษ์ผ่าคลอด 2565 ฤกษ์คลอด ฤกษ์มงคล เสริมดวงลูกรัก
ฤกษ์ดีผ่าคลอด ปี 2565 การกำหนด ฤกษ์ผ่าคลอด หรือ ฤกษ์คลอด ควรทำควบคู่ไปกับการขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ทำคลอดด้วย เพราะหากผู้ปกครองดื้อรั้นกำหนดวันคลอดเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากจะไม่ได้รับอนุญาตให้คลอดในวันดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ไปตลอดชีวิตอีกด้วย

ฤกษ์ผ่าคลอด 2566 ฤกษ์คลอด วัน เวลาดี เสริมดวงลูกรัก
สำหรับลูกน้อยที่เกิดในปี 2566 ตรงกับนักษัตรเถาะ มักเป็นคนที่นุ่มนวล มารยาทงาม มีสัมมาคารวะ เป็นที่รักของผู้ใหญ่และคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือหาฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอดมหามงคล เพื่อส่งเสริมดวงให้ลูกน้อยในปีนี้ S-Mom Club มีฤกษ์ผ่าคลอดสุดเฮงสำหรับปีนี้มาแนะนำค่ะ