วิธีเลือกนมบำรุงคนท้อง ด้วยนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ทำไมคนท้องต้องกินนมแคลเซียมสูง เคล็ด (ไม่ลับ) การเลือกนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

26.03.2020

โภชนาการระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะส่งผลโดยตรงทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยในท้อง หากคุณแม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์คุณแม่ควรเริ่มดูแลตัวเองโดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กับการดื่มนมเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

headphones

PLAYING: ทำไมคนท้องต้องกินนมแคลเซียมสูง เคล็ด (ไม่ลับ) การเลือกนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อ่าน 7 นาที

 

นมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ และข้อควรรู้โดยรวม

  • นมเป็นโภชนาการที่ดีสำหรับคนท้อง เพราะในนมมีแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และช่วยในเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อ และป้องกันโรคกระดูกพรุนของคุณแม่ได้ นอกจากนี้ยังมีโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย
  • ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถกินนมวัวได้ คุณแม่สามารถเลือกกินนมธัญพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ และนมข้าวโอ๊ต เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณโปรตีนและแคลเซียมที่เพียงพอในแต่ละวัน
  • นมสำหรับคนท้อง คุณแม่ควรเลือกนมที่มีแคลเซียมสูง มีไขมันต่ำ มีปริมาณน้ำตาลที่น้อย และต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

 

ทำไมคนท้องต้องดื่มนม

ในนมมีสารอาหารมากมายที่ช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายของคนท้อง ช่วยให้แม่ท้องมีร่างกายแข็งแรง ทั้งยังมีสารอาหารสำคัญอย่างแคลเซียมที่มีส่วนช่วยสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาททำงานได้อย่างสมบูรณ์ และยังสามารถป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงของคนท้องได้ คุณแม่จึงจำเป็นต้องดื่มนมเป็นประจำโดยเฉพาะนมที่ไม่มีไขมันหรือไขมันต่ำควบคู่ไปกับการทานอาหารที่มีแคลเซียม เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอตลอดการตั้งครรภ์ 

 

ถ้าคนท้องดื่มนมไม่พอ ลูกในท้องจะดึงแคลเซียมจะกระดูกแม่จริงไหม

คำตอบ จริง... เพราะแคลเซียมเป็นสารอาหารที่พบได้ในกระดูกและฟัน ปกติแล้วคนท้องจะต้องการแคลเซียมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากช่วงก่อนตั้งครรภ์ เพราะทั้งคุณแม่และลูกน้อยในท้องต้องการปริมาณแคลเซียมจำนวนมากในการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ลูกน้อยจะดึงแคลเซียมจากกระดูกและฟันของคุณแม่มาแทน ทำให้มวลกระดูกของคุณแม่ลดน้อยลงและอาจนำไปสู่ปัญหาโรคกระดูกพรุน กระดูกอ่อนแอและแตกหักได้ง่าย 

 

แม่ท้องดื่มนมวันละเท่าไหร่ถึงจะได้แคลเซียมเพียงพอ

ในแต่ละวันคนท้องจำเป็นต้องได้รับปริมาณแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม โดยคุณแม่สามารถดื่มนมได้วันละ 3-4 แก้ว แก้วละ 250 ซีซี ควบคู่กับการทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น กุ้งแห้ง ปลา น้ำเต้าหู้ ผักใบเขียว และงาดำ เป็นต้น เป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่ได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอต่อวัน 

 

นมบำรุงครรภ์แบบไหนที่คนท้องดื่มได้

 

นมบำรุงครรภ์แบบไหนที่คนท้องดื่มได้ 

1. การดื่มนมวัวสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

นมวัวเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน กรดอะมิโนจำเป็นที่มีมากกว่านมที่ทำจากธัญพืชที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เกลือแร่และวิตามินที่เหมาะสำหรับคนท้อง เช่น แคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน โฟเลตที่ช่วยบำรุงเม็ดเลือด เป็นต้น คนท้องจึงควรดื่มนมวัวเป็นประจำเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อคุณแม่และลูกน้อยในท้อง


2. การดื่มนมธัญพืชสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

สำหรับคนท้องที่ไม่สามารถดื่มนมวัวได้คุณแม่สามารถเลือกดื่มนมที่มาจากธัญพืชแทนได้ เพราะในนมจากธัญพืชให้คุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคนท้องเช่นเดียวกัน แม้ว่านมจากธัญพืชบางชนิดอาจมีปริมาณที่สูงกว่านมจากสัตว์แต่ร่างกายอาจดูดซึมแคลเซียมจากพืชได้น้อยกว่า ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอและสามารถทานเพิ่มได้จากแหล่งอาหารชนิดอื่น ๆ โดยนมจากพืชที่คนท้องกินได้ มีดังนี้ 

  • นมถั่วเหลือง: ในนมถั่วเหลือง ประกอบไปด้วย โปรตีน ไขมัน และแคลเซียมเช่นเดียวกับนมวัว เพียงแต่มีปริมาณแคลเซียมที่ไม่สูงมาก โปรตีนสูง ให้พลังงานน้อย และมีไขมันอิ่มตัวที่ต่ำกว่านมวัว หากคุณแม่อยากกินนมถั่วเหลืองควรเลือกนมสูตรที่มีการเพิ่มแคลเซียมจะดีที่สุด
  • นมอัลมอนด์: เป็นนมทางเลือกสำหรับคุณแม่ที่แพ้แลกโตส เป็นแหล่งของแมกนีเซียมที่ช่วยเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อ มีวิตามินอีที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน รวมถึงมีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และแคลอรี่ต่ำเมื่อเทียบกับนมจากสัตว์
  • นมข้าวกล้อง: เป็นอีกหนึ่งนมทางเลือกที่มีคุณประโยชน์สูง ทั้งอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันไม่อิ่มตัว แคลเซียม ฟอสหอรัส ที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน เหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก และยังไม่มีสารก่อภูมิแพ้จึงเหมาะกับคนที่แพ้อาหารได้ง่าย
  • นมข้าวโอ๊ต: เป็นนมที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินบี 12 แคลเซียม มีไฟเบอร์ช่วยคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและป้องกันอาการท้องผูก มีไขมันต่ำ แต่มีปริมาณโปรตีนที่น้อยกว่านมวัว  และมีความหลากหลายของวิตามินและเกลือแร่ที่น้อยกว่า เหมาะสำหรับเป็นนมทางเลือกสำหรับแม่ท้อง

 

เลือกนมสำหรับคนท้องยังไง ให้ดีทั้งแม่และลูก 

  • เลือกนมที่มีแคลเซียมสูง: แคลเซียมเป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับคนท้องอย่างมาก เพราะช่วยในการสร้างกระดูกและฟันให้ลูกน้อย หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่มากพออาจทำให้ร่างกายสูญเสียปริมาณมวลกระดูกลงส่งผลให้กระดูกแตกหักง่าย และไม่ลดการเกิดตะคริวขณะตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่ไม่สามารถกินนมวัวได้สามารถเลือกนมที่ทำจากธัญพืชแทนได้แต่ควรเลือกที่มีการเติมแคลเซียมเพิ่มเข้าไปด้วย
  • เลือกนมที่ไขมันต่ำ: คุณแม่ควรเลือกกินนมที่มีไขมันต่ำเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญญาหาสุขภาพขณะตั้งครรภ์ เพราะหากคนท้องกินนมที่มีไขมันสูงอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไปได้ ซึ่งในนมที่ไขมันต่ำมีปริมาณของแคลเซียมที่ไม่ต่างกับนมที่มีไขมันปกติแต่อย่างใด
  • เลือกนมที่มีน้ำตาลน้อย: ในระหว่างที่ตั้งครรภ์คุณแม่ควรเลือกกินนมที่มีน้ำตาลน้อย หรือนมรสจืด เพราะการกินนมที่มีการเติมน้ำตาลส่วนเกินในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อน้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินเกณฑ์ และยังเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขณะที่ตั้งครรภ์ด้วย
  • เลือกนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์: คุณแม่ไม่ควรกินนมดิบที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพราะในนมดิบอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค เช่น อีโคไล ลิสเทอเรีย และแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายคนท้อง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ คุณแม่ควรเลือกนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยการพาสเจอร์ไรซ์ 
  • เลือกนมสูตรสำหรับแม่ตั้งครรภ์: นมสูตรสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มีการเติมสารอาหารที่เหมาะสมกับคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกายของตนเองและลูกน้อยในท้อง
     

นมบำรุงครรภ์ ประเภทไหนที่คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยง

  • นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์: ในน้ำนมดิบที่ไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยวิธีพาสเจอร์ไรซ์มักมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและแบคทีเรียบางชนิดโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย (Listeriosis) ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ตั้งแต่ท้องเสียไปจนถึงอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้
  • นมที่เสี่ยงต่ออาการแพ้: หากคุณแม่บางท่านมีอาการแพ้แล็กโตส หรือแพ้นมวัว ควรหลีกเลี่ยงนมที่ทำจากนมวัวแล้วเลือกนมทดแทนชนิดอื่น เช่น นมถั่วเหลือง หากคุณแม่แพ้นมถั่วเหลือง ควรเลือกนมที่ทำจากอัลมอนด์หรือข้าวโอ๊ตแทน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้จนเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ โดยเลือกนมที่มีการเพิ่มแคลเซียมเพื่อให้แม่ท้องได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน

 

แม่ดื่มนมวัวขณะตั้งครรภ์ ลูกจะเกิดอาการภูมิแพ้ไหม

คนท้องควรดื่มนมเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างแคลเซียมให้กับตัวเองและลูกน้อยในท้อง หากคุณแม่ดื่มนมวัว นมถั่วเหลือง หรือนมที่ทดแทนนมวัวอื่น ๆ มากเกินไปอาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการแพ้นมวัวได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกเกิดอาการแพ้นมวัวในอนาคต คุณแม่ควรดื่มนมวันละ 1 แก้วก็เพียงพอแล้ว หรือถ้าคุณแม่อยากเสริมแคลเซียมเพิ่มขึ้นสามารถเลือกนมที่มีการเสริมแคลเซียม หรือเลือกทานอาหารที่มีการเสริมแคลเซียมเพิ่มเติมได้
รู้จักนมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพที่ดีของแม่ 
คนท้องต้องการสารอาหารและพลังงานมากกว่าคนปกติ เพื่อบำรุงร่างกายของคุณแม่และเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อยในท้อง คุณแม่ควรดื่มนมเป็นประจำ เพราะในนมอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่คนท้องต้องการมากมาย เช่น

  • แคลเซียมสูง: คนท้องต้องการแคลเซียมมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า เพื่อป้องกันกระดูกพรุนของคุณแม่ และนำไปสร้างกระดูกและฟันของลูกน้อยในท้อง ทั้งยังช่วยลดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ และการเป็นตะคริวของแม่ท้องด้วย
  • โฟเลตสูง: โฟเลตหรือกรดโฟลิกมีความความสำคัญต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก มีบทบาทสำคัญที่ช่วยสร้างเซลล์สมองและพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง สร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันการเกิดภาวะแท้งของคนท้องได้
  • สฟิงโกไมอีลิน: เป็นไขมันชนิดฟอสโฟลิปิดที่พบมากในนมแม่ และเป็นสารอาหารกลุ่มไมอีลิน (Myelin Blend) มีผลต่อการสร้างไมอีลินส่วนที่หุ้มเส้นใยประสาทโดยเฉพาะ ทำให้สมองสามารถส่งสัญญาณประสาทได้ไว เชื่อมโยงและประมวลผลภายในสมองได้รวดเร็ว
  • DHA: เป็นกรดไขมันที่โอเมก้า 3 ที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบประสาท มีส่วนสำคัญต่อระบบสั่งการของสมองของทารก รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และลดโอกาสที่ทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยกว่าปกติด้วย
  • ไขมันต่ำ: คนท้องควรกินอาหารหรือนมที่มีไขมันน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากระบบย่อยของคนท้องที่ทำงานได้น้อยกว่าคนปกติทำให้คุณแม่เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืดได้ง่าย อีกทั้งการกินนมที่มีไขมันต่ำยังช่วยคุณแม่ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มที่มากเกินไปด้วย

 

การดื่มนมเป็นประจำ พร้อมกับการทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ จะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยในท้องได้รับปริมาณสารอาหารที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของคุณแม่และพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยในครรภ์

 

อ้างอิง

  • นมสำหรับคนท้อง เลือกอย่างไรให้ได้ประโยชน์ทั้งต่อแม่และลูก, Hellokhunmor
  • 10 คำถามยอดฮิตที่แม่ตั้งครรภ์อยากรู้, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  • โภชนาการระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  • What to Eat When Pregnant, WebMD
  • ดื่มนมถูกวิธีมีประโยชน์ต่อร่างกาย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  • Health Benefits of Almond Milk, Webmed
  • Plant Based Milk นมทางเลือกสำหรับคนแพ้นมวัว, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • What to know about oat milk, MedicalNewsToday
  • ‘โภชนาการที่ดี’ สารอาหารและพลังงานเพื่อลูกรัก, โรงพยาบาลศิครินทร์
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ กินอย่างไรไม่ให้อ้วน, โรงพยาบาลพญาไท
  • People at Risk: Pregnant Women, U.S. Department of Health & Human Services
  • รู้ได้อย่างไรว่าแพ้แลคโตส, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • 110 ข้อห้ามคนท้องต้องรู้, โรงพยาบาลสมิติเวช
  • โภชนาการหญิงตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คุณแม่ยุคใหม่... ใส่ใจทานวิตามิน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  • งานวิจัยระดับโลกชี้ สารอาหารสมอง คือจุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการเด็กในยุค AI, Nestlé

อ้างอิง ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2566

บทความแนะนำ

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือนของคุณแม่ บอกอะไรเกี่ยวกับลูกน้อยได้บ้าง

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือนของคุณแม่ บอกอะไรเกี่ยวกับลูกน้อยได้บ้าง

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือนของคุณแม่จะใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว จนคุณแม่ไม่ทันตั้งตัว ขนาดท้องแต่ละเดือนจะเป็นไปตามขนาดของลูกในท้องและจำนวนเดือนที่คุณแม่ตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง เลือดออกตอนท้องอ่อน ๆ เกิดจากสาเหตุอะไร ท้อง 2 เดือน มีเลือดออก สีน้ำตาลและสีแดงสด อันตรายแค่ไหน พร้อมวิธีรับมือที่คุณแม่ควรรู้

ที่ตรวจครรภ์ แบบไหนดีกับการตรวจครรภ์ ใช้งานง่าย แม่นยำ รู้ผลเร็ว

ที่ตรวจครรภ์ แบบไหนดีกับการตรวจครรภ์ ใช้งานง่าย แม่นยำ รู้ผลเร็ว

ที่ตรวจครรภ์ คืออะไร ที่ตรวจครรภ์ เหมาะสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ต้องการเช็กว่าท้องหรือยัง ที่ตรวจครรภ์ แบบไหนดี ใช้งานง่าย พร้อมวิธีใช้ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง

คุณแม่ท้อง 9 เดือน อาการตั้งครรภ์ 9 เดือน เวียนหัวคลื่นไส้

คุณแม่ท้อง 9 เดือน อาการตั้งครรภ์ 9 เดือน เวียนหัวคลื่นไส้

คุณแม่ท้อง 9 เดือน อายุครรภ์ 9 เดือน เวียนหัวคลื่นไส้ ลูกน้อยในครรภ์ 9 เดือน มีพัฒนาการอย่างไร เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ 9 เดือน พร้อมวิธีรับมือและวิธีดูแลทารกในครรภ์