15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้

คู่มือคุณแม่มือใหม่ 15 คำถามเรื่องลูกน้อย ที่คุณแม่ควรรู้

03.07.2020

ทารกเป็นวัยที่มีความบอบบาง ต้องการการปกป้องดูแลมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้เบบี๋ตัวน้อย ๆ ยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการ หรือความเจ็บปวดออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้น คุณแม่มือใหม่จึงมีเรื่องมากมายที่สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ เราจึงรวบรวม 15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่คุณแม่มือใหม่อยากรู้ มาฝากดังนี้

headphones

PLAYING: คู่มือคุณแม่มือใหม่ 15 คำถามเรื่องลูกน้อย ที่คุณแม่ควรรู้

อ่าน 7 นาที

15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้


•    สะดือลูกจะหลุดเมื่อไหร่ ควรทำความสะอาดสะดือลูกอย่างไร ?
สะดือของทารกแรกเกิด จะค่อย ๆ แห้งภายในเวลา 2 – 3 วัน และหลุดออกภายใน 1 – 3 สัปดาห์ ในระหว่างนั้น คุณแม่ควรเช็ดสายสะดือให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ และทำความสะอาดสายสะดือ ด้วยสำลีชุบแอลกอฮอลล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเช็ดบริเวณรอบสะดือจากโคนด้านในออกมาด้านนอกอย่างเบามือ ไม่ควรโรยแป้งฝุ่น เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ หากหลังจากสะดือยังไม่แห้งภายใน 2 – 3 วัน มีกลิ่นเหม็น ควรพาลูกไปพบแพทย์


•    ลูกเป็นโคลิค ดูแลอย่างไร ?
เมื่อลูกมีอาการโคลิค ให้คุณแม่คอยสังเกตุว่าลูกต้องการอะไร เช่น หิว ร้อน หนาว แล้วให้ตอบสนองตามความต้องการนั้น การอุ้มลูกในท่าที่ลูกรู้สึกสบายตัวก็ช่วยบรรเทาอาการโคลิคได้ โดยอาการโคลิคจะเกิดขึ้นเมื่อทารกอายุ 2 – 3 สัปดาห์ และจะหายไปเองเมื่ออายุ 3 เดือน หากคุณแม่รู้สึกเหนื่อยจากการดูแลลูกน้อยที่มีอาการโคลิค แนะนำให้หาคนมาช่วยดูแล


•    ลูกนอนคว่ำ อันตรายไหม ?
ท่านอนที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเด็กวัยทารก โดยเฉพาะวัยแรกเกิด – 4 เดือน คือ ท่านอนหงาย หากต้องการให้ลูกนอนคว่ำเพื่อฝึกชันคอให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ควรทำขณะที่ลูกตื่น 

15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้


•    ลูกอายุ 2 เดือน ยังต้องคอยปลุกให้กินนมหรือไม่ ?
อาจยังต้องปลุกให้ลูกดูดนมเป็นครั้งคราว ในกรณีที่ลูกหลับยาวมากกว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากทารกส่วนใหญ่จำเป็นต้องกินนม 8 – 12 ครั้งต่อวัน หรือทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง สำหรับเด็กอายุ 2 เดือน อาจสามารถหลับยาวได้ตลอดคืน ดังนั้นให้คุณแม่สังเกตการเจริญเติบโตของลูกน้อย หากลูกหลับยาวในช่วงกลางคืน แต่มีการเจริญเติบโตดี ก็ไม่จำเป็นต้องปลุกขึ้นมากินนมกลางดึก


•    ลูกน้ำตาไหลข้างเดียว ผิดปกติหรือไม่ ?
ลูกน้ำตาไหลข้างเดียว เกิดจาก ท่อน้ำตาอุดตัน แนะนำให้คุณแม่ใช้นิ้วที่สะอาด นวดบริเวณหัวตาของลูกน้อยเบา ๆ แล้วลากนิ้วลงมาตามแนวจมูก ทำบ่อย ๆ ทุกวัน หากอาการยังไม่ดีขึ้น รอบหัวตาเริ่มบวมแดง หรือตาแดง ควรปรึกษาแพทย์


•    ลูกหายใจครืดคราด เกิดจากอะไร ?
ลูกหายใจมีเสียงครืดคราด เกิดจากการที่ลูกมีน้ำมูก และไม่สามารถสั่งน้ำมูกออกมาเองได้ คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกหายใจสะดวกขึ้นได้ โดยใช้น้ำเกลือหยอดจมูก 1 – 2 หยด แล้วใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกลูกออกมา แต่ถ้าลูกยังไม่หาย หรือแม่ไม่แน่ใจ แนะนำให้พาไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินหาสาเหตุ


•    ลูกสะอึก ทำอย่างไร ?
สาเหตุที่ลูกสะอึก เกิดจากการกระตุกเป็นจังหวะของกล้ามเนื้อกระบังลม ที่ทำงานไม่ประสานกันกับการหายใจ ซึ่งอาการสะอึกนี้สามารถหายเองได้ 


•    ลูกแหวะนมบ่อย ผิดปกติหรือไม่ ?
การแหวะนมหลังดูดนมพบบ่อยในทารกแรกเกิด เนื่องจากหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารของทารกยังปิดไม่สนิท แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อลูกโตขึ้น ระหว่างนี้คุณแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ด้วยการอุ้มเรอทุกครั้งหลังอิ่มนม ด้วยการอุ้มพาดบ่า ประมาณ 15 – 20 นาที ก่อนวางลูกลงในท่านอนราบ อย่างไรก็ตาม หากลูกมีอาการบ่อย ๆ ไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือน้ำหนักลูกไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ ควรปรึกษาแพทย์


•    ลูกมีตุ่มพองที่ริมฝีปากบน ริมฝีปากลอก แต่ยังกินนมได้ ต้องดูแลอย่างไร ?
การมีตุ่มพอง หรือริมฝีปากลอก เป็นภาวะที่พบได้ปกติในเด็กแรกเกิด เกิดจากการที่เด็กวัยนี้ดูดนมบ่อย ทำให้จุกนมเสียดสีกับริมฝีปาก จนเกิดเป็นตุ่มพองแห้ง ๆ และริมฝีปากลอก โดยที่ลูกไม่รู้สึกเจ็บ และสามารถกินนมได้ตามปกติ เจ้าตุ่มพองนี้จะค่อย ๆ แห้งและหลุดลอกเป็นแผ่น และหายไปเองในที่สุด


•    ลูกลิ้นเป็นฝ้าขาว ควรดูแลอย่างไร ?
ลิ้นเป็นฝ้าขาว เกิดจากคราบนม แม่สามารถใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดทำความสะอาดหลังลูกกินนมทุกมื้อ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อราหรือไม่


•    อุจจาระสีไหน ไม่ผิดปกติ ?
ช่วง 3 วันแรกหลังคลอด อุจจาระของทารกจะเป็นสีเขียว มีลักษณะมัน ๆ เรียกว่า ขี้เทา หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็น สีเหลือง ไม่มีมูกเลือดปน มีลักษณะเป็นก้อน เป็นเนื้อปนน้ำ หรือก้อนเล็ก ๆ คล้ายเม็ดมะเขือ หากมีลักษณะดังนี้ถือว่าไม่ผิดปกติ


•    ลูกมีไข้ ทำอย่างไรดี ?
เมื่อทารกมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะยิ่งลูกอายุน้อยเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงได้


•    ทารกเพศหญิง มีตกขาว มีเลือกออกจากอวัยวะเพศ ผิดปกติหรือไม่ ?
ทารกเพศหญิง มีตกขาว หรือมีเลือดออกคล้ายประจำเดือน เป็นภาวะที่พบได้ในเด็กแรกเกิด เนื่องจากลูกน้อยได้รับฮอร์โมนจากแม่ ส่วนใหญ่จากหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ คุณแม่สามารถทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกด้วยน้ำเปล่าตามปกติ แต่ถ้าตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือเลือดไหลจากอวัยวะเพศไม่หยุดภายใน 1 สัปดาห์ ควรพาไปพบแพทย์


•    ลูกชายมีถุงอัณฑะไม่เท่ากัน อันตรายหรือไม่ ?
ขนาดอัณฑะของทารกทั้งสองข้าง อาจแตกต่างกันได้เล็กน้อย แต่ในกรณีที่มีถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งใหญ่ใหญ่กว่าปกติ อาจเกิดจาก มีน้ำในถุงอัณฑะ หรือมีภาวะไส้เลื่อน ส่วนข้างที่เล็กปกติ อาจเกิดจาก อัณฑะไม่ลงถุง ดังนั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์


•    ลูกชอบเล่นอวัยวะเพศ ควรปรับพฤติกรรมอย่างไร ?
คุณแม่ควรหาของเล่นอย่างอื่นมาให้ลูกเล่นแทน เช่น ของเล่นที่บีบหรือเขย่าแล้วเกิดเสียง ชวนลูกพูดคุยหรือร้องเพลง จับลูกนอนคว่ำแล้ววางของเล่นไว้ไกลจากตัวเพื่อให้ลูกหัดคืบ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ หากคุณแม่สังเกตุว่าลูกมีอาการผิดปกติ หรือรู้สึกไม่แน่ใจว่าใช่อาการผิดปกติหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของลูกรัก
 


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

15 เรื่องชวนสงสัย ที่แม่ให้นมอยากรู้

อ้างอิง

โดย แพทย์หญิงพัฎ  โรจน์มหามงคล 
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม  

บทความแนะนำ

ลูกน้อยฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ฟันน้ำนมหลุดเมื่อไหร่ พร้อมวิธีดูแลฟันแท้

ลูกน้อยฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ฟันน้ำนมหลุดเมื่อไหร่ พร้อมวิธีดูแลฟันแท้

ลูกน้อยฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ฟันน้ำนมหลุดตอนอายุเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลฟันของลูกน้อยอย่างไร ให้สะอาดและแข็งแรง เมื่อลูกฟันขึ้นครบ 32 ซี่ ไปหาคำตอบพร้อมกัน

เพลงโมสาร์ทพัฒนาสมอง ให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้องช่วยให้ฉลาดจริงไหม

เพลงโมสาร์ทพัฒนาสมอง ให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้องช่วยให้ฉลาดจริงไหม

เปิดเพลงโมสาร์ทพัฒนาสมองให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง ช่วยกระตุ้นพัฒนาสมองได้จริงไหม คุณแม่ควรเริ่มเปิดเพลงพัฒนาสมองให้ลูกฟังตั้งแต่สัปดาห์ที่เท่าไหร่

แจกเพลย์ลิสต์เพลงกล่อมนอนเด็ก ช่วยเสริมพัฒนาการสมองให้ลูกน้อย

แจกเพลย์ลิสต์เพลงกล่อมนอนเด็ก ช่วยเสริมพัฒนาการสมองให้ลูกน้อย

เพลงกล่อมนอนเด็กทารก นอกจากช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และเคลิ้มหลับง่ายแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการด้าน IQ และ EQ ให้ลูกน้อยด้วย

ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น

ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น

ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน เกิดจากอะไร หนึ่งในความกังวลใจของคุณแม่มือใหม่ที่ ลูกหัวแบน แก้ไขได้เบื้องต้นอย่างไร มีวีธีป้องกันเบื้องต้นไหม ทำไมลูกหัวแบน ไปดูกัน